รัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังกระทรวงการต่างประเทศได้รับหนังสือจากคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มกราคม 2568 เพื่อขอให้กระทรวงฯ ประสานการอนุญาตให้คณะกรรมาธิการฯ ซึ่งนำโดย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ เข้าเยี่ยมลูกเรือประมงไทย 4 คนที่เรือนจำเกาะสอง ในวันนี้ (13 มกราคม) ช่วงเวลา 13.00-16.30 น.
โดยกระทรวงการต่างประเทศสั่งการในวันเดียวกันหลังจากที่ได้รับหนังสือให้สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้ง นำส่งคำขอของคณะกรรมาธิการฯ ให้กระทรวงการต่างประเทศเมียนมาพิจารณา
โดยล่าสุดเช้าวันนี้ ได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูตฯ ว่า ฝ่ายเมียนมาให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ โดยอนุญาตให้คณะกรรมาธิการการทหารฯ เข้าเยี่ยมคนไทย 4 คนที่เกาะสองได้ตามที่ขอ จึงขอขอบคุณฝ่ายเมียนมาที่ช่วยประสานงานอย่างรวดเร็ว
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศย้ำว่า กระทรวงการต่างประเทศไม่เคยนิ่งนอนใจต่อความเดือดร้อนของประชาชน เพราะทันทีที่เกิดเหตุไม่ว่าจะเป็นที่ใดของโลก กระทรวงฯ ได้ทำหน้าที่อย่างทันท่วงที และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเสมอ เพียงแต่ไม่เคยคำนึงว่าจะต้องประชาสัมพันธ์ในสิ่งที่ดำเนินการมาตลอดเวลาเท่านั้น
กรณีการให้ความช่วยเหลือลูกเรือไทยทั้ง 4 คน ก็มีการจัดการให้ญาติของลูกเรือประมงไทยทั้ง 4 คนได้เข้าเยี่ยมที่เรือนจำเกาะสองแล้ว ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ดำเนินการประสานฝ่ายเมียนมาเพื่อขอให้ครอบครัวของลูกเรือประมงทั้ง 4 คนได้เข้าเยี่ยมตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2567 และทันทีที่ได้รับคำร้องจากลูกเรือประมงในการขอเข้าเยี่ยม กระทรวงฯ และสถานเอกอัครราชทูตก็ดำเนินการทันที และดำเนินการแทนในนามของครอบครัวลูกเรืออีก 3 คนด้วย
ซึ่งฝ่ายเมียนมาอนุญาตให้ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตฯ พร้อมด้วยตัวแทนของครอบครัวลูกเรือประมง จำนวน 1 คน เข้าเยี่ยมลูกเรือประมงทั้ง 4 คน เมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา รวมทั้งผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตฯ ยังมอบชุดยาสามัญประจำบ้านไว้สำหรับลูกเรือทั้ง 4 คน ตามที่ครอบครัวของลูกเรือประมงร้องขอ รวมทั้งประสานงานกับเรือนจำ ขอให้ช่วยดูแลสุขภาพลูกเรือ 4 คน เนื่องจากมีอายุมากและมีโรคประจำตัว
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศยังย้ำว่า กระทรวงการต่างประเทศเร่งดำเนินการทุกอย่างเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหานี้ในอนาคต ซึ่งดำเนินการควบคู่กันไป ทั้งการช่วยเหลือให้ลูกเรือได้รับการปล่อยตัว และการวางมาตรการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งจะต้องหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกับฝ่ายเมียนมาต่อไป
พร้อมกันนี้ยังเห็นว่า หากจะมีการนำเรื่องเหล่านี้มามุ่งเป็นประเด็นโจมตีทางการเมือง โดยเฉพาะการทำให้เข้าใจว่ากระทรวงการต่างประเทศไม่ให้ความร่วมมือ หรือเพิกเฉยดูดายในการช่วยเหลือคนไทยนั้น ไม่เป็นความจริงแต่ประการใด และเห็นว่าการนำเรื่องเหล่านี้มาเป็นประเด็นโจมตีทางการเมืองอาจเป็นการส่งสัญญาณที่คลาดเคลื่อน ที่จะทำให้การแก้ไขปัญหายิ่งยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน
อ้างอิง:
- กระทรวงการต่างประเทศ