สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งพร้อมใจรายงานเหตุระทึกขวัญจากกรณีเยาวชนวัย 14 ปี ใช้อาวุธปืนยิงคนภายในศูนย์การค้าสยามพารากอน ใจกลางกรุงเทพฯ ช่วงเย็นวานนี้ (3 ตุลาคม) ซึ่งทำให้ประชาชนที่อยู่ภายในห้างเกิดความแตกตื่นและวิ่งหนีเอาชีวิตรอด โดยมีผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บ 5 คน ส่วนผู้ก่อเหตุถูกตำรวจจับกุมตัวไว้ได้
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า เหตุการณ์ยิงในห้างสรรพสินค้าหรูที่เกิดขึ้นเป็นเหตุความรุนแรงด้วยอาวุธปืนครั้งล่าสุดในไทยที่ผู้คนให้ความสนใจ โดยช่วงที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยช่วยนำทางประชาชนหลบหนีออกจากศูนย์การค้า ขณะที่ภาพจากโซเชียลมีเดียเผยให้เห็นบางคนรีบวิ่งไปที่ทางออกซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นล่าง และมีเสียงกรีดร้องเมื่อได้ยินเสียงปืนดังขึ้น
Shir Yahav หญิงชาวอิสราเอลวัย 26 ปี ซึ่งอยู่ในร้านเสื้อผ้าขณะเกิดเหตุ เผยกับ Reuters ว่า เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาที ซึ่งเธอเห็นผู้คนพากันวิ่งและไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น
“เราได้ยินเสียงปืนหลายนัด ราว 6 หรือ 7 นัด” เธอกล่าว
ขณะที่ Reuters ชี้ว่า เหตุการณ์ความรุนแรงด้วยอาวุธปืนและการเป็นเจ้าของปืนในไทยนั้นไม่ใช่เรื่องที่แปลก พร้อมชี้ถึงเหตุการณ์ความรุนแรงจากปืนที่เคยเกิดขึ้น ทั้งเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อปีที่แล้ว ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 35 คน และกรณี ‘จ่าคลั่ง’ กราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี 2020 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 29 คน
ด้านสำนักข่าว BBC รายงานคำบอกเล่าจาก Palmyra Kownack ชาวอังกฤษวัย 61 ปี ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และอยู่ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอนตอนที่เกิดเหตุ โดยเธอเล่าว่า “มีคนตะโกนและมีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด” แต่มันยากที่จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เธอไม่รู้ว่าผู้ที่ยิงปืนเป็นคนคนเดียวหรือเป็นกลุ่ม
“เราเห็นทหารเดินผ่าน เราอยู่ที่นั่นประมาณหนึ่งชั่วโมงจนกระทั่งในที่สุดเราก็สามารถออกไปได้ เราถูกพาออกไปที่ทางออกด้านหลัง มันวุ่นวายไปด้วยผู้คนมากมาย”
ขณะที่สำนักข่าว CNN รายงานคำสัมภาษณ์จาก พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเผยว่าเด็กชายผู้ก่อเหตุมีปัญหาทางจิต แต่ไม่สามารถพูดอะไรได้มากนักเกี่ยวกับปัญหาส่วนตัวของเขา เนื่องจากยังเป็นเยาวชน โดยตำรวจได้พูดคุยกับพ่อแม่ของผู้ก่อเหตุแล้ว แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าผู้ก่อเหตุได้อาวุธปืนมาจากที่ไหน
“ผู้ก่อเหตุมีอาการจิตเวช เคยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลราชวิถี แต่ต่อมาขาดการรักษาและไม่ได้กินยาต่อเนื่อง”
CNN รายงานว่า การเป็นเจ้าของอาวุธปืนในไทยนั้นถือว่าอยู่ในตัวเลขที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยข้อมูลจากหน่วยงานวิจัย Small Arms Survey (SAS) ในสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า ในปี 2017 ไทยมีพลเรือนมากกว่า 10.3 ล้านคน ที่ครอบครองอาวุธปืน หรือคิดเป็นปืน 15 กระบอกต่อประชาชน 100 คน ซึ่งปืนที่ได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายมีประมาณ 6.2 ล้านกระบอกฐานข้อมูลภาระโรคทั่วโลก
โดยสถาบันประเมินด้านสุขภาพ (Institute for Health Metrics and Evaluation: IHME) ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เผยข้อมูลจากประจำปี 2019 พบว่าประเทศไทยติดอันดับการฆาตกรรมด้วยปืนสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากฟิลิปปินส์
อ้างอิง: