แรงขายของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง สำหรับปี 2564 จนถึงเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ต่างชาติขายสุทธิไปแล้ว 1.01 แสนล้านบาท ส่อแววที่จะทำให้ปีนี้กลายเป็นปีที่ 5 ติดต่อกันที่นักลงทุนต่างชาติเป็นฝ่ายขายสุทธิ
“ต่างชาติลดสัดส่วนหุ้นไทยอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2556 จากที่เคยถือครองหุ้นไทยในระดับ 36-37% แต่หลังจากขายมาตลอดทางทำให้สัดส่วนถือครองลดลงมาเหลือประมาณ 29% หากนับตั้งแต่มกราคม 2556 จนถึงปัจจุบัน ต่างชาติขายไปแล้ว 1.03 ล้านล้านบาท โดยการขายอย่างรุนแรงเกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งขายออกไปกว่า 4 แสนล้านบาท” สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย กล่าว
อย่างไรก็ดี ดัชนี SET ไม่ได้ปรับลดลงมากนักในช่วงก่อนหน้านี้แม้จะเผชิญกับแรงขายของต่างชาติ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงซื้อของสถาบันซึ่งมีเม็ดเงินจากการซื้อ LTF เข้ามาหนุน จากการขายสุทธิ 1 ล้านล้านบาทของต่างชาติ สถาบันช่วยซื้อไปกว่า 6 แสนล้านบาท แต่หลังจากที่ LTF เปลี่ยนไปเป็น SSF ทำให้เม็ดเงินส่วนนี้ลดลงไปมาก และสถาบันเองก็กลับมาเป็นฝ่ายขายแทนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
“แรงขายอย่างต่อเนื่องของต่างชาติจะกดให้สัดส่วนการถือครองหุ้นไทยลงไปอีกหรือไม่ เป็นสิ่งที่ตอบยาก แต่ถามว่ามีลุ้นจะกลับมาซื้อเร็วๆ นี้หรือไม่ มองว่าค่อนข้างยาก ประเด็นหนึ่งที่น่ากังวลคือเดิมทีไทยมีเรตติ้ง BBB+ ส่วน Outlook อยู่ในระดับ Stable ซึ่งช่วงปลายปีนี้มีโอกาสที่ Outlook อาจจะถูกปรับลดเป็น Negative ได้ เพราะความกังวลในหลายประเด็น เช่น ตัวเลข GDP ที่อาจจะติดลบในปีนี้”
การเติบโตในไตรมาส 3 และ 4 ของเศรษฐกิจทั่วโลกจะเป็นลักษณะของ K-Shape โดยรวมคือประเทศพัฒนาแล้วซึ่งมีการกระจายวัคซีนเฉลี่ย 50% ของประชากรจะเติบโตขึ้น สวนทางกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีค่าเฉลี่ยการกระจายวัคซีนเพียง 12%
สำหรับประเทศไทยตอนนี้มีความแข็งแกร่งในด้านเดียวคือฐานะการคลัง แต่ในด้านอื่นๆ ยังค่อนข้างน่ากังวล และหากพิจารณาถึงอุตสาหกรรมที่น่าสนใจของไทยเทียบกับอุตสาหกรรมเดียวกันของประเทศใกล้เคียง ในระยะกลางถึงยาวมองว่ามีเพียงแค่ 5 กลุ่มเท่านั้นคือ ท่องเที่ยว อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ โรงพยาบาล และโลจิสติกส์
“แรงขายของต่างชาติจะจบลงตรงไหน ส่วนหนึ่งที่ต้องติดตามคือตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของกำไร บจ. ในปี 2565 โดยก่อนหน้านี้คาดกันไว้ 10-15% ซึ่งเราคงต้องพยายามรักษาไว้ไม่ให้ต่ำกว่า 10%”
ด้าน กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน-กลยุทธ์การลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า แรงขายของต่างชาติที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเพราะไทยยังมีความเสี่ยงในเชิงเศรษฐกิจหลายด้าน ที่ผ่านมาแม้ว่าระดับการถือครองของต่างชาติจะต่ำแล้ว อย่างการถือครองโดยตรง (ไม่รวม NVDR) ลดจาก 25-26% เหลือ 16-17% ก็อาจจะยังไม่ได้ทำให้แรงขายหมดไป
“แรงขายจะหมดไปได้คงต้องขึ้นอยู่กับว่าหุ้นไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วหรือยัง และแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะถัดไปเป็นอย่างไร ในช่วงสั้นคงจะขึ้นอยู่กับการควบคุมสถานการณ์โควิดรวมถึงเสถียรภาพของค่าเงินบาท”
ทั้งนี้หากมองต่อไปอีก 3-5 ปีข้างหน้า สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังน่าสนใจ นักวิเคราะห์ บล.โนมูระ พัฒนสิน มองว่ามี 4 กลุ่มหลัก ได้แก่
- กลุ่มโรงไฟฟ้า ซึ่งโดดเด่นจากกำไรที่ผันผวนต่ำ
- กลุ่มส่งออก เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร ที่ยังเติบโตได้ตามเศรษฐกิจโลก
- กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เพราะไทยยังคงเป็นฐานการผลิตสำคัญ และหลายบริษัทในไทยมีการกระจายไปในประเทศอื่นๆ
- กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เมื่อผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว อสังหาริมทรัพย์จะเริ่มฟื้นตัวกลับมาเป็นวัฏจักรขาขึ้น แต่ทั้งนี้อาจต้องอาศัยการปลดล็อกให้ต่างชาติถือครองได้มากขึ้น
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย