×

ต่างชาติชะลอลงทุน! รอความชัดเจนการเมือง เอกชนห่วงตั้งรัฐบาลช้าเกิน ส.ค. ฉุด GDP เหลือโต 2% เหตุภาคส่งออกยังเสี่ยง และ ‘เอลนีโญ’ ซ้ำเติม

14.06.2023
  • LOADING...
การจัดตั้งรัฐบาล

เอกชนห่วงความไม่ชัดเจนทางการเมืองกระทบเชื่อมั่นนักลงทุน ลามสู่ภาคการผลิต ระบุชัดหากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ตามไทม์ไลน์ในเดือนสิงหาคมอาจเกิดการประท้วง การเมืองขาดเสถียรภาพ และท้ายที่สุดจะกระทบ GDP ปีนี้เหลือโตแค่ 2% พร้อมจับตาภาคส่งออกที่มีด่าน ‘เอลนีโญ’ รออยู่

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยขณะนี้มีปัจจัยที่ต้องจับตาหลายมิติ โดยเฉพาะเสียงสะท้อนจากบรรดาผู้ประกอบการ ภาคเอกชนนั้น ล้วนเร่งรัดการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ทั้งไทยและต่างชาติ โดยต้องการให้ยึดตามไทม์ไลน์เดิมในเดือนสิงหาคม เพราะหากไม่เป็นตามไทม์ไลน์ หรือเลื่อนไปจนถึงสิ้นปี 2566 จะเกิดความเสียหายอย่างมากตามมา จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย และ GDP อย่างน้อย 1-1.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่า GDP ปีนี้จะโตได้ 3-3.5% อาจลดลงเหลือแค่ 2-2.5%

 

“สถานการณ์การเมืองขณะนี้ยังอึมครึม ไม่ชัดเจน ซึ่งไม่เป็นผลดีกับประเทศไทย โดยเฉพาะในเรื่องงบประมาณในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่รัฐบาลรักษาการมีข้อจำกัด หรืองบค้างท่อ ไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเต็มที่เหมือนรัฐบาลตัวจริง ที่สำคัญจะเห็นความเคลื่อนไหวฐานผลิต การลงทุนจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ขณะนี้หยุดหรือชะลอการลงทุนออกไปก่อน เพื่อรอทิศทางความชัดเจน” เกรียงไกรกล่าว

 

ส่งออกทรุด เอลนีโญรุนแรง ระเบิดเวลาเศรษฐกิจไทย

 

ขณะเดียวกัน หากดูจากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม พบว่าปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยลบจากการส่งออกของไทยที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องเช่นกัน เพราะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ส่งผลให้อุปสงค์จากประเทศคู่ค้าลดลง บวกกับอัตราแลกเปลี่ยนยังคงผันผวน

 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังคงเผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะราคาพลังงาน ทั้งค่าไฟและค่าน้ำ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในทิศทางขาขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือนทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย ที่สำคัญคือยังมีความกังวลเกี่ยวกับการเมืองหลังเลือกตั้งที่ยังไม่แน่นอน และยังห่วงว่าอาจไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว

 

ส่วนดัชนีอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าก็จะปรับตัวลดลง หลักๆ ยังกังวลเกี่ยวกับนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนโดยเฉพาะ SMEs รวมทั้งทำให้การลงทุนจากต่างประเทศ FDI ลดลงตามมา 

 

“นอกจากค่าไฟแล้วยังห่วงต้นทุนค่าน้ำ เพราะชัดเจนแล้วว่าความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศคือภัยแล้ง โดยเฉพาะภาวะ ‘เอลนีโญ’ ซึ่งปีนี้คาดว่าจะรุนแรงตลอดทั้งปี จะยิ่งส่งผลต่อวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ขณะนี้เรียกได้ว่าเราเผชิญหลายปัจจัย การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้” เกรียงไกรกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X