×

ต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้น-บอนด์ไทย ทะลุ 2 แสนล้านบาท ในปี 2567 เงินไหลออกสุทธิเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

13.01.2025
  • LOADING...
กราฟแสดง เงินทุนไหลออกจากไทย ในตลาดทุนปี 2567

HIGHLIGHTS

5 min read
  • นักลงทุนต่างชาติ ‘ขายสุทธิ’ ในตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ไทย 2 ปีติดต่อกัน
  • ตั้งแต่ปี 2560-2567 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิใน ‘ตลาดหุ้นไทย’ ไปกว่า 8 แสนล้านบาท
  • นักวิเคราะห์มอง Fund Flow ที่ไหลออกจากตลาดบอนด์ไทยในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทย (Bond Yield) อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ท่ามกลางแนวโน้มเงินบาทที่อ่อนค่า
  • เตือนนักลงทุนต่างชาติกำลังจับตาดูรัฐบาลไทยว่า จะดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ประกาศออกมาเพื่อกระตุ้นและแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทยสำเร็จมากแค่ไหน

นักลงทุนต่างชาติ ‘ขายสุทธิ’ ในตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ไทยรวมกันกว่า 2.1 แสนล้านบาทในปี 2567 โดยแบ่งเป็นไหลออกจากตลาดหุ้นสุทธิ 147,940 ล้านบาท และไหลออกจากตลาดบอนด์สุทธิ 67,395 ล้านบาท โดยทั้งตลาดหุ้นและตลาดบอนด์เผชิญการไหลออกสุทธิเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแล้ว 

 

ส่องกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศสุทธิ (Net Fund Flow) ในตลาดหุ้น

  • ปี 2560 ไหลออกสุทธิ 26,103 ล้านบาท
  • ปี 2561 ไหลออกสุทธิ 287,696 ล้านบาท
  • ปี 2562 ไหลออกสุทธิ 45,244 ล้านบาท
  • ปี 2563 ไหลออกสุทธิ 264,385 ล้านบาท
  • ปี 2564 ไหลออกสุทธิ 48,577 ล้านบาท
  • ปี 2565 ไหล ‘เข้า’ สุทธิ 202,694 ล้านบาท
  • ปี 2566 ไหลออกสุทธิ 192,490 ล้านบาท
  • ปี 2567 ไหลออกสุทธิ 147,940 ล้านบาท

 

ส่องกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศสุทธิ (Net Fund Flow) ในตลาดบอนด์

  • ปี 2560 ไหล ‘เข้า’ สุทธิ 222,990 ล้านบาท
  • ปี 2561 ไหล ‘เข้า’ สุทธิ 133,764  ล้านบาท
  • ปี 2562 ไหลออกสุทธิ 84,452 ล้านบาท
  • ปี 2563 ไหลออกสุทธิ 64,025 ล้านบาท
  • ปี 2564 ไหล ‘เข้า’ สุทธิ 44,330 ล้านบาท
  • ปี 2565 ไหล ‘เข้า’ สุทธิ 46,611 ล้านบาท
  • ปี 2566 ไหลออกสุทธิ 143,968 ล้านบาท
  • ปี 2567 ไหลออกสุทธิ 67,395 ล้านบาท

 

กราฟแสดง เงินทุนไหลออกจากไทย ในตลาดทุนปี 2567

 

8 ปีต่างชาติ ‘ขายสุทธิ’ ในตลาดหุ้นไทยกว่า 8 แสนล้านบาท

 

ตั้งแต่ปี 2560-2567 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิใน ‘ตลาดหุ้นไทย’ ไปกว่า 8 แสนล้านบาท โดยเป็นการขาย 7 จาก 8 ปีหลังสุด ท่ามกลางกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ทรงตัวอยู่บริเวณ 9 แสนล้านบาท ถึง 1 ล้านล้านบาทต่อปี และอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องในตลาดหุ้นไทยคือการเติบโตของหุ้นในตลาดหุ้นอื่น โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ได้โดดเด่นในตลาดหุ้นไทย

 

ผลที่ตามมาคือ ดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ยังคงวนเวียนอยู่ในกรอบ 1,300-1,700 จุดเป็นส่วนใหญ่มาตลอดหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา และในปี 2566-2567 หุ้นไทยก็ปรับตัวติดลบ 2 ปีติดต่อกัน ก่อนจะเปิดปี 2568 ด้วยการปรับตัวลดลงอีก 2.2%

 

ขณะที่ บล.ทรีนีตี้ มองว่า ตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2567 เป็นเพราะกระบวนการที่เรียกว่า De-rating หรือการที่นักลงทุนให้มูลค่ากับหุ้นไทยลดลง สะท้อนผ่าน P/E ของตลาดที่ลดลงต่อเนื่อง โดยสาเหตุสำคัญคือความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลดลง เพราะข่าวสารเชิงลบที่เกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียน

 

แต่หากตัดเรื่องความเชื่อมั่นออกไป กระบวนการ De-rating นี้ไม่ค่อยสมเหตุสมผลกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่จะทยอยลดลงต่อเนื่องในช่วงถัดไป โดย บล.ทรีนีตี้ คาดการณ์ว่า ธปท. จะทยอยลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ รวมลดลง 0.5% ซึ่งจากสถิติในอดีตเมื่อเกิดการลดดอกเบี้ยมักจะนำไปสู่การที่นักลงทุนให้มูลค่ากับตลาดหุ้นมากขึ้น (P/E Expansion) 

 

Fund Flow ต่างชาติไหลออกจากตลาดบอนด์ไทย 2 ปีติดต่อกัน

 

ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) ของนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทย (ตลาดบอนด์) ปี 2567 เป็นการขายสะสมสุทธิ (Net Sell) จำนวน 67,395 ล้านบาท นับเป็นการขายสะสมเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแล้ว

 

เมื่อแยกเป็นรายไตรมาสพบว่า นักลงทุนต่างชาติขายสะสมสุทธิ (Net Sell) ตราสารหนี้ไทยไปถึง 3 ไตรมาส ยกเว้นไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้ลง

  • ไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 นักลงทุนต่างชาติขายสะสมสุทธิ (Net Sell) 3.43 หมื่นล้านบาท
  • ไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 นักลงทุนต่างชาติขายสะสมสุทธิ (Net Sell) 3.11 หมื่นล้านบาท
  • ไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 นักลงทุนต่างชาติซื้อสะสมสุทธิ (Net Buy) 5.85 หมื่นล้านบาท
  • ไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 นักลงทุนต่างชาติขายสะสมสุทธิ (Net Sell) 6.04 หมื่นล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม ดร.สมจินต์ กล่าวยืนยันว่า เงินที่ไหลออกไป 3-6 หมื่นล้านต่อไตรมาส นับว่าเป็นจำนวนไม่ได้สูงนัก เมื่อเทียบกับมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทยซึ่งอยู่ที่ 17 ล้านล้านบาท

 

 

แนวโน้มตลาดบอนด์ไทยปี 2568 ‘ยากที่จะประเมิน’ เหตุปัจจัยไม่แน่นอนสูง

 

สำหรับแนวโน้มในปี 2568 ดร.สมจินต์ ระบุว่า ยากที่จะประเมิน เนื่องจากในปีนี้มีปัจจัยไม่แน่นอนหลายประการ รวมถึงการเปลี่ยนผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดและอัตราเงินเฟ้อ

 

กระนั้น ปัจจัยหลักๆ ที่ต้องจับตา ซึ่งส่งผลต่อกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศในตลาดบอนด์ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยไทยและต่างประเทศ รวมไปถึงส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ (Yield Gap) 

 

Bond Yield ไทยต่ำกว่าเพื่อน หนุน Fund Flow ไหลออก

 

สงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า อีกหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ Fund Flow ไหลออกจากไทยในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลมาจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทย (Bond Yield) ที่อยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Bond Yield) อายุ 10 ปี อยู่ที่ราว 2.3-2.4% เท่านั้น นับว่าต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค และประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่า

 

โดยสาเหตุที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยต่ำกว่าประเทศอื่น ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีอัตราการเติบโตต่ำ และอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ

 

ตามข้อมูลจาก ThaiBMA แสดงให้เห็นว่า ณ สิ้นปี 2567 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี อยู่ที่ 2.30% นับว่าต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ซึ่งอยู่ที่ 4.55% อย่างมาก ส่งผลให้นักลงทุนหันไปหาสินทรัพย์ที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่า

 

 

แนวโน้ม ‘บาทอ่อน’ หนุนต่างชาติขายบอนด์ไทย

 

สงวนกล่าวอีกว่า นักลงทุนต่างชาติมักให้ความสำคัญกับค่าเงิน โดยหากเงินบาทมีแนวโน้ม ‘อ่อนค่า’ ต่างชาติก็จะขายบอนด์ไทย โดยธนาคารกรุงไทยมองว่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าไปอีกสักระยะตามธีม Trump Trade

 

ดังนั้นในระยะต่อไปจึงต้องจับตาดูว่านโยบายต่างๆ ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น นโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ว่าจะสามารถทำได้มากแค่ไหน และครอบคลุมรายการสินค้ามากแค่ไหน หรือการออกบอนด์และการขาดดุลงบประมาณขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นจริงแค่ไหน

 

ปัจจัยการเมือง-การบริหารงานรัฐบาล มีผลต่อ Fund Flow มากแค่ไหน?

 

สงวนมองว่าปัจจัยด้านการดำเนินนโยบายของรัฐบาลไทยไม่ได้สร้างความกังวลหรือมีผลต่อนักลงทุนต่างชาติมากนัก ตราบเท่าที่การเมืองไทยยังมี ‘เสถียรภาพ’

 

“นักลงทุนต่างชาติไม่ได้กังวลเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายของรัฐบาลมากนัก ต่างชาติอาจจะคาดหวังว่ารัฐบาลจะสามารถทำนโยบายที่ประกาศออกมาแล้วได้ และคาดหวังถึงเสถียรภาพของรัฐบาลไทย กล่าวคือ รัฐบาลจะสามารถอยู่ได้ครบวาระ 4 ปีโดยไม่มีการรัฐประหาร หรือ Shock ต่างๆ”

 

กระนั้น สงวนกล่าวว่า สิ่งที่ต่างชาติอาจกังวลคือ ‘หนี้สาธารณะ’ ของไทยซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังค่อนข้างต่ำ

 

“เช่นเดียวกับภาคเอกชนหรือบริษัทที่กู้เงินมา หากขยายกิจการสำเร็จก็ชนะ แต่หากกู้เยอะๆ แล้วขยายกิจการไม่สำเร็จงบดุลก็จะแย่ หุ้นก็จะร่วง ดังนั้นในมุมของนักลงทุนต่างประเทศกำลังรอดูอยู่ว่านโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลประกาศออกมาจะประสบความสำเร็จแค่ไหน สร้างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) ได้ตามเป้าหรือไม่ ถ้าเศรษฐกิจไทยโตได้ตามเป้ามากกว่า 3% โอกาสที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จะลดลงก็มีมากขึ้น”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X