×

เอกชนชี้ ต่างชาติชะลอลงทุนไทย รอการเมือง ‘นิ่ง’ ก่อนขนเงินเข้ามาลงทุน จับตา 14 ส.ค. นี้ ศาลชี้ชะตาคดีนายกฯ

08.08.2024
  • LOADING...

ในเดือนสิงหาคมนี้ถือเป็นช่วงที่มีวาระร้อนทางการเมืองใน 2 คดี ทั้งคดีการยุบพรรคก้าวไทยที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคไปแล้ว และอีกคดีสำคัญคือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องการถอดถอนความเป็นนายกรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 สิงหาคมนี้ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการบริหารประเทศ

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สำหรับเดือนสิงหาคมนี้เป็นเวลาสำคัญที่หลายฝ่ายเฝ้ารอคือ วันที่ 7 สิงหาคม ศาลอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล และอีกคดีสำคัญคือศาลวินิจฉัยคำร้องการถอดถอนความเป็นนายกรัฐมนตรีของของเศรษฐา ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่นักลงทุนทั่วโลกและไทยเองก็ให้คะแนนกับการเมืองและตัดสินใจว่าจะลงทุนหรือไม่

 

ทั้งนี้ ชาติที่อ่อนไหวต่อเรื่องการเมืองก็คือทางตะวันตก อย่างสหภาพยุโรปที่ให้ความสำคัญเรื่องการเมืองมาก ส่วนชาติทางตะวันออก นักลงทุนเอเชียก็มีชะลอไปบ้าง ซึ่งทุกฝ่ายต่างต้องการให้ปัจจัยทางการเมืองมีความนิ่ง

 

“ขณะนี้ปัญหาเฉพาะเศรษฐกิจก็หนักอยู่แล้ว เพราะมีหลายปัจจัยที่ท้าทาย ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาจากภูมิรัฐศาสตร์ที่นับวันก็เข้มข้นขึ้น ทำให้มีการเปลี่ยนด้านการค้า ทำให้สินค้าจากโดยเฉพาะจากจีนไหลวนเข้ามาในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งไทยเองเผชิญอยู่ เราอยากเห็นการเมืองที่นิ่ง ไม่เป็นปัญหาและอุปสรรค” เกรียงไกรกล่าว

 

สำหรับกรณีคดีของเศรษฐานั้น จากบทบาทที่เป็นนายกฯ ผู้นำของประเทศ ซึ่งช่วง 1 ปีที่บริหารมาก็ได้ทำหลายอย่าง เช่น การพบปะนักลงทุนจากทั่วโลก เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามา ทั้งนี้ คิดว่า 1 ปียังเร็วเกินไปที่จะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ภาคเอกชนก็อยากให้การเมืองมีความต่อเนื่อง สานต่อนโยบายต่างๆ ซึ่งในอดีตปัญหาคือความไม่ต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นภาคเอกชนเราก็กังวล นักลงทุนต่างชาติก็มีมาสอบถาม และเรื่องนี้ก็มีผลต่อการตัดสินใจ

 

ขณะนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของโอกาสและวิกฤต โดยโอกาสคือโรงงานจากจีนกำลังหาย้ายที่ลงทุนใหม่ ซึ่งไทยเองก็อยู่ในเรดาร์ เรื่องการเมืองอาจทำให้บางส่วนที่ยังไม่เข้าอาจชะลอไปก่อน จึงอยากให้การเมืองทุกคดี โดยเฉพาะคดีเศรษฐาจบลงด้วยดี เป็นไปได้ก็อยากให้มีการทำงานต่อเนื่อง

 

จับตาคดีถอดถอนนายกฯ หวั่นกระทบ GDP

 

ด้าน ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ Head of Economic Research หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) เคยวิเคราะห์ว่า ปัจจัยการเมืองในประเทศถือว่ามีผลกระทบค่อนข้างมากต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ โดยมีการคาดการณ์สถานการณ์การเมืองในวันที่ 14 สิงหาคมนี้ ซึ่งศาลจะมีคำวินิจฉัยคดีคุณสมบัตินายกฯ

 

  • กรณี Base Case ที่ศาลตัดสินเป็นคุณกับนายกฯ กรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะทำให้กระบวนการบริหารราชการแผ่นดินในปัจจุบันดำเนินการต่อไปได้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.5% ในปี 2567 และขยายตัว 3% ในปี 2568 ในเรื่องดังกล่าวประเมินว่ามีความเป็นไปได้ประมาณ 80%

 

  • กรณี Worse Case หากศาลตัดสินเป็นคุณกับนายกฯ และนำมาสู่กระบวนการสรรหานายกฯ ใหม่ แต่ยังได้นายกฯ มาจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งต้องมีกระบวนการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ ส่งผลให้กระบวนการจัดทำงบประมาณปี 2568 ล่าช้าไป 1 ไตรมาส คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.3% ในปี 2567 และขยายตัว 2.7% ในปี 2568 กรณีนี้มีความเป็นไปได้ประมาณ 5%

 

  • กรณี Worst Case หากศาลตัดสินไม่เป็นคุณกับนายกฯ และนำมาสู่กระบวนการสรรหานายกฯ ใหม่ แต่ไม่สามารถสรรหาได้ภายในไตรมาส 3/67 ซึ่งจะกระทบกับกระบวนการจัดทำงบประมาณปี 2568 ให้ล่าช้าออกไปอีก 2 ไตรมาสเป็นอย่างน้อย คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2% ในปี 2567 และขยายตัว 2.5% ในปี 2568 ซึ่งกรณีนี้มีความเป็นไปได้ประมาณ 5%

 

ประเมินผลกระทบการเมืองต่อ GDP ของไทย

 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ มองว่าการเมืองเกี่ยวข้องเศรษฐกิจ แนะวิเคราะห์ข้อมูลผลกระทบ

 

ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในงานแถลงข่าวสรุปภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์เดือนกรกฎาคม 2567 ว่า จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศในขณะนี้ มองว่าจะมีผลกระทบต่อภาพรวมการลงทุนให้เข้าสู่โหมด Risk Off หรือ Risk On สลับกันได้เป็นรายวัน ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหรือออกมาในขณะนั้น

 

อย่างไรก็ดี ขอให้นักลงทุนติดตามวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจต่างๆ ที่ออกมาในต่างประเทศซึ่งยังขาดความชัดเจน แต่สร้างความกังวล กดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงแรงในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงช่วงต้นสัปดาห์นี้ โดยขอให้วิเคราะห์ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นภาวะ Overreact หรือไม่ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สร้างความผันผวน

 

ทั้งนี้ มีมุมมองว่ามีทั้งโอกาสและความเสี่ยงในการลงทุน โดยขณะที่เริ่มเห็นสัญญาณการกลับเข้ามาซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติในช่วงครึ่งแรกของวันนี้ (8 สิงหาคม) มูลค่าราว 50 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.7 พันล้านบาท


“อยากจะเรียนนักลงทุนว่าอย่ากังวลว่าภาวะการลงทุนเป็น Risk Off หรือ Risk On แต่ควรติดตามข้อมูลเพื่อให้เห็น Fund Flow ตลอด”

 

อย่างไรก็ตาม หากดูภาพปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย มีมุมมองว่ามี Upside มากว่า Downside เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน รวมถึงมีภาพรวมที่ดีขึ้น ประกอบมีการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งจะเริ่มมีเม็ดเงินทยอยออกมาใช้ แม้ปัจจุบันภาพเศรษฐกิจของไทยจะชะลอตัว

 

สำหรับปัจจัยการเมืองในประเทศ ทั้งในวานนี้ (7 สิงหาคม) ที่ศาลพิจารณายุบพรรคก้าวไกล และในวันที่ 14 สิงหาคมนี้ ซึ่งศาลจะพิจารณาคดีคุณสมบัตินายกฯ ยอมรับว่าปัจจัยทางการเมืองมีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ

 

โดยมองว่าผลกระทบยังคงคล้ายแบบเดิม เนื่องจากช่วงที่ผ่านมารัฐบาลยังใช้งบประมาณต่างๆ น้อยมาก โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 30-40% ของงบประมาณทั้งหมด ทั้งนี้ มองว่าไม่ว่าปัจจัยการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร งบประมาณที่อนุมัติแล้วก็จะนำถูกมาใช้ตามแผน ซึ่งคงไม่กระทบต่อการเริ่มใช้เงินของภาครัฐ

 

ทั้งนี้ ขอให้นักลงทุนพิจารณาปัจจัยการเมืองหากมีการเปลี่ยนแปลง ว่ามีนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่อยู่ระหว่างดำเนินการด้านใดบ้างจะส่งผลกระทบที่ไม่เท่ากันต่อหมวดอุตสาหกรรมต่างๆ จึงควรวิเคราะห์ว่าอุตสาหกรรมใดที่ได้รับผลกระทบมากหรือน้อย

 

ภากรกล่าวต่อว่า ในวันที่ 28 สิงหาคม ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมจัดงาน Thailand Focus 2024 ภายใต้ธีม ‘Adapting to a Changing World’ ณ โรงแรมพลาซา แอทธินี โดยจะมี ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาร่วมปาฐกถาฉายภาพเศรษฐกิจ และมีอีกหลายเซสชันที่น่าสนใจ ซึ่งปัจจุบันมีกองทุนทั้งไทยและต่างประเทศสนใจเข้าร่วมรับฟังข้อมูลในงานรวมประมาณ 170 แห่ง แบ่งเป็นกองทุนไทย 120 แห่ง และกองทุนต่างประเทศอีก 50 แห่ง

 

“งาน Thailand Focus น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่เราสามารถมีเรื่องดีๆ ที่ไปบอกกับนักลงทุนต่างชาติได้ เพื่อสร้าง Sentiment ที่ดีขึ้นกับบรรยากาศการลงทุนในประเทศไทย”

 

จับตาประชุม Fed เดือนกันยายนนี้ คาดเริ่มหั่นดอกเบี้ย

 

ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า หลังจากผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) มีมติคงดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ตามที่ตลาดคาด ขณะที่ถ้อยแถลงของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ส่งสัญญาณว่ามีโอกาสจะลดดอกเบี้ยในการประชุมในเดือนกันยายนนี้ ส่งผลให้คาดว่ามีโอกาสที่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ Fed จะลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้ง มากกว่าที่คาดว่าจะลดลง 1 ครั้ง ส่งผลกระทบให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ก่อนต่อเนื่องถึงต้นสัปดาห์นี้ นำโดยสหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดนแรงเทขายจากผู้ลงทุน หลังจากความกังวลว่าเศรษฐกิจอาจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)

 

ทั้งนี้ จากความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างๆ ในช่วงนี้ ทำให้ผู้ลงทุนอาจหาหุ้นในตลาดที่มี Valuation เหมาะสมและได้รับผลกระทบจากความผันผวนค่อนข้างจำกัด โดยเริ่มเห็นสัญญาณเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นในภูมิภาค

 

ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์ฯ

 

“ต้องรอติดตามใน 2 เรื่องที่มองว่าจะมีผลกระทบต่อภาพการลงทุน คือ 1. ติดตามการประชุมของ Fed เดือนกันยายนนี้ ซึ่งตลาดคาดว่าจะลดดอกเบี้ยลง 0.25% ตามคาดหรือไม่ แต่ถ้าลดดอกเบี้ย 0.50% อาจสร้างความกังวลว่ามีความเสี่ยงจะเกิด Recession มากขึ้น 2. ติดตามข้อมูลตัวเลขการจ้างงานกับ PMI ของสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม ว่าจะยังแย่ต่อเนื่องจากข้อมูลเดือนกรกฎาคมหรือไม่ หรือเป็นปัจจัยชั่วคราว”

 

อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนต่างประเทศยังขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย แต่ในปริมาณที่เริ่มลดลง โดยเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นตลอดทั้งเดือน ท่ามกลางแรงหนุนหลักจากการแข็งค่าของสกุลเงินเอเชียในภาพรวม นำโดยเงินเยน การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกที่มีแรงหนุนเพิ่มเติมจากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของผู้ลงทุนต่างประเทศ อีกทั้งเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากการส่งออกและท่องเที่ยว และการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น

 

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ออกมาตรการ Uptick Rule ควบคุมการทำ Short Sell โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้สัดส่วนการทำ Short Sell ลดลงจากเดิมอยู่ที่ประมาณ 8-12% เหลือ 4-6% ส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติลดลง ทำให้สัดส่วนการซื้อขายโดยผู้ลงทุนในประเทศสูงขึ้น

 

อีกทั้งรัฐบาลได้อนุมัติมาตรการภาษีใหม่สำหรับกองทุน ThaiESG เพิ่มการลดหย่อนภาษี และลดระยะเวลาการถือครอง

 

พร้อมทั้งประเมินว่า Fund Flow ที่เข้ามายังตลาดหุ้นไทยน่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนในไตรมาส 4/67 หากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ในไตรมาส 2/67 ออกมาดี และดีต่อเนื่องไปจนถึงช่วงไตรมาส 3-4/67 หลังจากเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณมาใช้

 

โดยปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณ Fund Flow ทยอยไหลกลับเข้ามาพักเงินอยู่ในตลาดตราสารหนี้ของไทยในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ค่าเงินบาทในช่วงนี้แข็งค่าขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising