×

‘ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง’ ระบบการเงินที่ทำให้ชาวอินโดนีเซียมีหนี้พุ่งปรี๊ด กูรูจี้รัฐเร่งเสริมความรู้เพื่อเท่าทันเล่ห์การตลาด

30.06.2022
  • LOADING...
การเงิน อินโดนีเซีย

สถานีโทรทัศน์ Al Jazeera เปิดเผยรายงานพิเศษที่บอกเล่าเรื่องราวด้านมืดของระบบบริการ ‘Buy Now Pay Later’ (BNPL) หรือซื้อก่อน จ่ายที่หลัง ที่ทำให้ชาวอินโดนีเซียหลายหมื่นรายทั่วประเทศ โดยเฉพาะชนชั้นกลางค่อนไปทางระดับล่างเป็นหนี้โดยไม่จำเป็น และประสบกับปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลังในการทำงานหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยให้ทันงวดที่กำหนด

 

รายงานระบุว่า ระบบซื้อก่อนจ่ายทีหลังได้รับความนิยมตามธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นระบบที่เข้าถึงคนรากหญ้าในอินโดนีเซียที่ส่วนใหญ่ไม่มีบัญชีธนาคารกลางเป็นของตนเอง และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในกรณีที่ต้องการหยิบยืมเพื่อจับจ่ายหาซื้อสิ่งของ

 

อย่างไรก็ตาม เพราะความรู้ทางการเงินที่ไม่เท่าทันทำให้คนส่วนใหญ่ตกเป็นเหยื่อทางการตลาดจนตกอยู่ในภาวะรูดปรื๊ดๆ คือซื้อกระหน่ำจนลืมคำนึงถึงความสามารถในการหาเงินมาจ่ายหนี้ของตนเอง โดยรายงานพบว่ามีหลายรายที่ตัดสินใจซื้อสินค้าราคาแพงที่ปกติไม่สามารถใช้เงินสดซื้อได้เพราะเห็นมีระบบ BNPL แต่สุดท้ายก็ต้องมาทุกข์ทรมานหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ย

 

ทั้งนี้ ในขณะที่อินโดนีเซียกำลังขยายการเข้าถึงบริการทางการเงิน ประชากรส่วนใหญ่ยังคงประสบปัญหาความรู้ทางการเงินต่ำ การสำรวจในปี 2019 โดยหน่วยงานบริการด้านการเงินของอินโดนีเซียพบว่า ประเทศได้คะแนนเพียง 38.03% ในดัชนีความรู้ทางการเงิน และ 76.19% ในดัชนีการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) สะท้อนให้เห็นว่าช่องว่างที่เห็นได้ชัดเจนในความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับบริการทางการเงินที่มีให้

 

ผลลัพธ์ก็คือชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่หันไปกู้ยืมเงินจากบรรดาแอปพลิเคชันฟินเทคหรืออีคอมเมิร์ซที่มีอยู่ โดยไม่เข้าใจถึงความเสี่ยงและผลลัพธ์ที่จะตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคำนวณอัตราดอกเบี้ยของระบบที่ทำให้จำนวนหนี้ทวีคูณ

 

คำแนะนำของบรรดาผู้เชี่ยวชาญในขณะนี้ก็คือการขอให้ภาครัฐร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรอิสระในการให้ความรู้ด้านการเงินเพื่อให้ประชาชนรู้เท่านั้น รวมถึงหานโยบายมาตรการควบคุมไม่ให้มีการโฆษณาเกี่ยวกับระบบซื้อก่อนจ่ายทีหลังที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด

 

ขณะเดียวกัน สถานีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษ รายงานอ้างอิงผลการศึกษาของหน่วยงานอุตสาหกรรมการธนาคาร หรือ UK Finance ในอังกฤษที่พบว่า ประชาชนที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี กำลังกลายเป็น ‘เป้าหมายหลัก’ ของบรรดามิจฉาชีพที่จะหลอกลวงหลอกล่อให้โอนเงินผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งหลาย รวมถึง WhatsApp และคนหนุ่มสาวในอังกฤษมักตกเป็นเหยื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการหลอกลวงที่เล่นกับความไว้วางใจของพวกเขา

 

ขณะเดียวกัน รายงานยังพบว่าการปลอมแปลงบิลค่าไฟและใบเสร็จภาษีกลายเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้บ่อยมากขึ้นในยุคที่ค่าครองชีพแพงเช่นนี้ เนื่องจากอาชญากรอาศัยความกลัวของคนเป็นจุดอ่อน

 

แม้ว่าคนทุกกลุ่มอายุมีสิทธิ์ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงออนไลน์ แต่คนหนุ่มสาวที่อายุน้อยมักตกเป็นเป้าหมายหลักของเหล่ามิจฉาชีพที่โทรมาแอบอ้างสวมรอยว่าเป็นบุคคลอื่น และโน้มน้าวให้เหยื่อบอกข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลทางการเงิน

 

รายงานครั้งนี้สอดคล้องกับการศึกษาของบาร์คเลย์ที่เปิดเผยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีอายุระหว่าง 21-30 ปี เป็นกลุ่มอายุที่มีแนวโน้มมากที่สุดที่จะตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวง และการหลอกลวงส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ช้อปปิ้ง และแอปพลิเคชันหาคู่ ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ประชากรวัยรุ่นนิยมใช้งาน

 

UK Finance พบว่า ข้อความหลอกลวงที่ขอให้ชำระเงินสำหรับบัตรผ่าน NHS Covid-19 ในช่วงที่การระบาดใหญ่กำลังถูกแทนที่ด้วยปัญหาด้านค่าครองชีพที่แพงขึ้น โดยอาชญากรจะแอบอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือธนาคาร ติดต่อเหยื่อผ่านทางโทรศัพท์หรือส่งข้อความทางอีเมลเพื่อให้เหยื่อเข้าใจว่ามีช่องทางได้ลดหย่อน

 

รายงานระบุว่า อาชญากรที่แอบอ้างเป็นบุคคลอื่นเพื่อหลอกให้ส่งเงินหรือข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 39% ในปี 2021 คิดเป็นความเสียหายมูลค่า 583 ล้านปอนด์ ซึ่งการฉ้อโกงประเภทนี้เรียกว่า Authorized Push Payment การฉ้อโกง (APP) โดยผู้ที่ตกเป็นเหยื่อคิดว่าพวกเขากำลังจ่ายเงินให้กับองค์กรที่แท้จริง

 

ด้านหน่วยงานการค้าด้านการธนาคารกล่าวเสริมว่า การหลอกลวงด้วยการแอบอ้างเป็นบุคคลอื่น ตลอดจนการหลอกให้ลงทุนและการหลอกให้เสน่หา หรือ ‘โรแมนติกสแกม’ เป็นภัยคุกคามที่แพร่หลายที่สุดในเวลานี้ โดยการหลอกให้ลงทุนเพิ่มขึ้น 57% และการหลอกลวงด้วยการแอบอ้างบุคคลอื่นเพิ่มขึ้น 36% ในปี 2020

 

ในขณะเดียวกัน เงินที่สูญเสียไปจากการหลอกลวงด้วยความเสน่หา ซึ่งเหยื่อถูกชักชวนให้ชำระเงินให้กับบุคคลที่พวกเขาพบ มักจะผ่านโซเชียลมีเดียหรือเว็บไซต์หาคู่ และพวกเขาเชื่อว่ามีความสัมพันธ์ด้วยเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าใน 2021 ถึง 30.6 ล้านปอนด์

 

ทำให้โดยรวมแล้วในปี 2021 ที่ผ่านมา มีการฉ้อโกงเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,300 ล้านปอนด์ และเพิ่มขึ้นจากปี 2020 ราว 8%

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X