×

สิ่งเล็กๆ ที่ได้เรียนรู้ (และรู้สึก) จากเกมฟุตบอลนัดแรกในยุคโควิด-19

17.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ลูเซียง ฟาฟร์ โค้ชดอร์ทมุนด์ อธิบายความรู้สึกในเกมว่า “ไม่มีเสียงอะไรเลย คุณได้โอกาสยิงประตู คุณผ่านบอลได้สวย คุณทำประตูได้ แต่มันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันเป็นอะไรที่ประหลาด ประหลาดมากๆ”
  • ถึงจะสนิมเกาะแค่ไหนก็ได้เห็นความตั้งใจที่จะเล่นของนักเตะทุกคน ซึ่งเมื่อเริ่มเคาะสนิมออกได้ระหว่างเกมเราก็ได้เห็น ‘คุณภาพ’ ของการเล่นในระดับสูงที่เราคาดหวังเหมือนเดิม
  • ถึงจะมีความพยายามในการรักษา ‘ระยะห่าง’ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วฟุตบอลคือกีฬาที่มีการปะทะอยู่ดี และนอกเหนือจากนั้นคือยังหลีกเลี่ยงการประชิดตัวได้ยาก

ถ้าหากให้พูดความรู้สึกแรกในหัวใจที่ภาพของการถ่ายทอดสดเกมฟุตบอลบุนเดสลีการะหว่างโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ กับชาลเก้ 04 ซึ่งเป็นนัดแรกที่ผมได้ดูหลังจากที่โลกของเราเข้าสู่ยุคโควิด-19 แบบตรงไปตรงมา

 

‘รับไม่ได้’ คือความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้นในหัวใจของผม และผมเชื่อว่าน่าจะมีอีกหลายคนที่รู้สึกคล้ายๆ กัน

 

ภาพของสนามฟุตบอลที่ว่างเปล่าไร้ผู้ชมมันทำให้บรรยากาศของเกมการแข่งขันแตกต่างไปจากที่เคยคุ้นชินมาตลอดทั้งชีวิต เป็นภาพที่ยากจะทำใจยอมรับได้แม้ว่าจะมีการเตรียมใจมาบ้างพอสมควรแล้วก็ตาม

 

อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาในเกมผ่านไป ได้นั่งพิจารณาถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเป็นไปแล้ว ผมคิดว่ามันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ได้เรียนรู้ไปจาก 90 นาทีที่เวสต์ฟาเลน สตาดิโอน จึงอยากจะมาแบ่งปันสิ่งที่ได้เห็นและรู้สึกกับทุกคนดูดังนี้ครับ

    

ฟุตบอลไร้เสียง

ความจริงก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ได้ยินเสียงจากในสนามเลย เพราะยังมีเสียงตะโกนกันตลอดเวลาจากทั้งผู้เล่นในสนาม และจากทั้งโค้ชหรือทีมงานที่ตะโกนสั่งเกมจากนอกสนาม 

 

แต่เสียงที่หายไปของกองเชียร์ข้างสนามนั้นส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง

 

ประเด็นนี้มีการถกเถียงกันพอสมควรครับก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในหมู่คนในวงการ ไม่ว่าจะเป็นนักฟุตบอล อดีตนักฟุตบอล หรือคอลัมนิสต์ระดับชั้นนำที่มีบางคนเห็นว่าฟุตบอลไม่ควรจะกลับมาหากไม่มีแฟนฟุตบอลในสนาม

 

เหตุผลเพราะมันจะเป็นฟุตบอลในอีกแบบที่เราไม่รู้จักทันที

 

ผมเองไม่เคยลงแข่งในรายการกีฬาใหญ่ๆ แต่ก็เคยแข่งฟุตบอลมาบ้างในระดับกีฬาสีของโรงเรียน หรือในระดับคณะที่มหาวิทยาลัย ก็เคยพอสัมผัสกับความรู้สึกฮึกเหิมยิ่งขึ้นเมื่อรู้ว่ามีกองเชียร์คอยให้กำลังใจอยู่ข้างสนาม

 

นับประสาอะไรกับนักฟุตบอลที่ลงเล่นท่ามกลางเสียงเชียร์ของคนนับหมื่น พลังที่ส่งถึงกันนั้นมันมีค่ามากพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดขึ้นได้ในสนามครับ

 

เพราะความรู้สึกในการที่จะทำอะไรเพื่อใครสักคน มันทำให้เรามีพลังพิเศษขึ้นมา

 

ในทางวิทยาศาสตร์ก็มีผลการศึกษาของ University of Naples ที่พบว่าทีมที่มีกองเชียร์ในสนามมากกว่านั้นมีโอกาสที่จะได้ประตูมากกว่าถึง 0.45 ประตูต่อเกม – ซึ่งนั่นคือความได้เปรียบของการเป็นทีมเจ้าบ้าน

 

สำหรับนักฟุตบอลในบ้าน เสียงที่หายไปนั้นทำให้พวกเขาอาจจะขาดแรงกระตุ้นบางอย่าง

 

ลูเซียง ฟาฟร์ โค้ชดอร์ทมุนด์ อธิบายให้เห็นภาพชัดครับว่า “ไม่มีเสียงอะไรเลย คุณได้โอกาสยิงประตู คุณผ่านบอลได้สวย คุณทำประตูได้ แต่มันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันเป็นอะไรที่ประหลาด ประหลาดมากๆ”

 

สำหรับคนที่ดูอยู่ทางบ้านเสียงที่ของกองเชียร์หายไปนั้นทำให้อรรถรสในการชมหายไปไม่น้อย

 

แอบคิดถึงเพลง ‘ไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้’ ขึ้นมาเฉยๆ…

 

 

เสียงเชียร์ที่หายไปทำให้บรรยากาศของเกมการแข่งขันไม่เหมือนเดิม

 

ความตั้งใจ

แต่ถึงจะเป็นเกมในบรรยากาศที่แตกต่าง ซึ่งจะว่าเหมือนเกมพรีซีซันก็ยังไม่ได้ เพราะต่อให้แข่งในแคมป์เก็บตัวที่ห่างไกลก็ยังมีแฟนฟุตบอลตามไปยืนเกาะรั้วเชียร์ข้างสนามได้ อาจจะคล้ายกับเกม ‘ซ้อมปิด’ มากกว่า แต่สิ่งที่น่ายินดีคือนักเตะในสนามเองก็ยังคงทุ่มเทเหมือนเดิมตามมาตรฐานวิชาชีพ

 

ในช่วงแรกของเกมที่เวสต์ฟาเลน เราได้เห็นครับว่าอาการ ‘สนิมเกาะ’ นั้นเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในฝั่งของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่ต้องใช้เวลาหลายนาทีกว่าจะเริ่มจับจังหวะการเล่นได้

 

แต่ถึงจะสนิมเกาะแค่ไหนก็ได้เห็นความตั้งใจที่จะเล่นของนักเตะทุกคน ซึ่งเมื่อเริ่มเคาะสนิมออกได้ระหว่างเกมเราก็ได้เห็น ‘คุณภาพ’ ของการเล่นในระดับสูงที่เราคาดหวังเหมือนเดิม

 

ไม่ว่าจะเป็นพลังไดนาโมของ ราฟาเอล เกร์เรโร ที่เหมาคนเดียว 2 ประตู, ความเร็วและความฟิตระดับม้าศึกของ อัชราฟ ฮาคิมี, เซนส์ฟุตบอลของ ธอร์แกน อาซาร์ และสัญชาตญาณในการถล่มประตูของ เออร์ลิง เบราต์ ฮาลันด์ ที่ทำให้ดอร์ทมุนด์คว้าชัยชนะในศึกดาร์บีแมตช์แห่งแคว้นรูร์ได้ด้วยสกอร์ขาดลอยถึง 4-0 ขยับเข้าใกล้จ่าฝูงบาเยิร์น มิวนิกไปอีกขั้น

 

ขณะที่ในภาพใหญ่นั้นคุณภาพของเกมบุนเดสลีกาไม่ได้ตกลงไปจากเดิม ในเกมคู่คืนวันเสาร์ 6 คู่มีการยิงประตูรวมถึง 16 ประตู โดยที่ทุกสนามทุกทีมเล่นเต็มที่เหมือนเดิม เมื่อลงสนามแล้วเสียบเป็นเสียบ เตะเป็นเตะ

 

คริสเตียน สไตรช์ โค้ชไฟร์บวร์ก ซึ่งทำเซอร์ไพรส์บุกไปเกือบเอาชนะแอร์เบ ไลป์ซิก ทีมอันดับ 3 ได้ถึงถิ่นกล่าวว่า “สถานการณ์จะไม่อยู่กับเราไปตลอด แต่ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ผมไม่คาดหวังที่จะเห็นคุณภาพในการเล่นที่ตกลงเพราะไม่มีแฟนในสนาม ซึ่งเราก็ไม่ได้เห็นอะไรแบบนั้น”

 

เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่อย่างน้อยนักฟุตบอลยังรักษาความมุ่งมั่นในการเล่นเอาไว้ได้ในยามลำบากใจแบบนี้ครับ

 

เพราะอย่าลืมว่าในความเป็นมืออาชีพที่มีหน้าที่ต้องทำ พวกเขาเองก็เป็น ‘คน’ 

 

และไม่มีใครที่ไม่กลัวโควิด-19

 

ฟุตบอลคือกีฬาที่ไม่ได้มีแค่การปะทะ

อย่างที่บอกไปด้านบนครับว่าถึงจะมีความพยายามในการรักษา ‘ระยะห่าง’ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วฟุตบอลคือกีฬาที่มีการปะทะอยู่ดี และนอกเหนือจากนั้นคือยังหลีกเลี่ยงการประชิดตัวได้ยาก

 

โดยเฉพาะในบางสถานการณ์ที่ไม่มีทางเลือก เช่น ในลูกเตะมุมที่ฝ่ายรับต้องประกบฝ่ายรุก หรือการตั้งกำแพงของแนวรับในจังหวะลูกยิงฟรีคิก

 

มันเป็นความ ‘ย้อนแย้ง’ ที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะคนในสนามเองก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน

 

 

ลูกฟุตบอลทุกลูกต้องผ่านการฆ่าเชื้อก่อนที่จะทำการแข่งขัน เป็นหนึ่งในความ New Normal ของเกมฟุตบอล

 

New Normal ความปกติใหม่ที่ยังไม่ค่อยชิน

นอกเหนือจากการกักตัวนักฟุตบอลและสตาฟฟ์ในโรงแรมที่พักตลอดสัปดาห์แล้ว ยังมีการตรวจหาเชื้อของนักฟุตบอลและสตาฟฟ์อีกสัปดาห์ละ 2 ครั้ง 

 

เมื่อออกจากโรงแรมขึ้นรถบัสมาที่สนามนั้น รถบัสที่ใช้รับส่งนักกีฬาจากเดิมที่แต่ละทีมจะใช้คันเดียว ก็ต้องมีการเพิ่มจำนวนรถเพื่อให้นักฟุตบอลได้นั่งห่างออกจากกันโดยที่แต่ละคนต้องสวมหน้ากากเอาไว้ตลอดเวลาจนกว่าจะถึงสนาม

 

ที่สนามจะมีคนที่ได้รับอนุญาตให้มามากที่สุดแค่ 322 คน – 213 คนในสนาม ซึ่งแบ่งเป็น 98 คนที่อยู่ภาคพื้นสนาม อีก 115 คนบนอัฒจันทร์ (เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย, แพทย์พยาบาล, สื่อมวลชน) ขณะที่อีก 109 คนจะอยู่นอกสนาม (รวมถึงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย, ผู้ตัดสิน VAR) 

 

เด็กเก็บบอลมีหน้าที่เพิ่มเติมในการทำความสะอาดฆ่าเชื้อลูกฟุตบอลทุกลูกในช่วงก่อนเกม และทำอีกครั้งในช่วงระหว่างการพักครึ่ง

 

บนม้านั่งสำรองจะต้องนั่งห่างกัน และต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา มีเพียงโค้ชใหญ่คนเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ไม่ต้องสวมหน้ากากที่ข้างสนามเพื่อให้สามารถตะโกนสั่งการได้ ส่วนตัวสำรองหากถูกเปลี่ยนตัวลงสนามจึงจะได้รับอนุญาตให้ถอดหน้ากากได้ และคนที่ถูกเปลี่ยนตัวออกมาต้องใส่หน้ากากทันที

 

ในสนามไม่อนุญาตให้ทำการจับมือกันก่อนเกมระหว่างกัปตันทีมและผู้ตัดสิน (ใช้รองเท้าสัมผัสกันแทน!) ไม่มีการถ่ายภาพทีม ไม่มีการเดินจับมือมาสคอต (เด็กนำโชค) ลงสนาม ห้ามถ่มน้ำลาย ห้ามสัมผัสมือ ห้ามฉลองประตูร่วมกัน

 

หลังจบเกมผู้สื่อข่าวที่จะสัมภาษณ์ต้องยืนห่างจากนักฟุตบอล โดยที่จะต้องมีทีมงานที่ถือไมค์ยาวให้สัมภาษณ์ ขณะที่การแถลงข่าวหลังจบเกมของโค้ชจะทำผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์

 

ทั้งหมดนี้ (และอาจจะมีอีกที่ไม่ได้กล่าวถึง) คือ New Normal วิถีใหม่ของเกมฟุตบอล ที่ทุกคนพยายามจะปฏิบัติตาม

 

แต่ก็มีบ้างที่ ‘เผลอ’ เช่น ลืมตัวถ่มน้ำลาย (ก็มันเหนียวคอนี่นา…) หรือลืมตัวฉลองประตูด้วยกันเหมือนนักเตะแฮร์ธา เบอร์ลิน ที่ถล่มฮอฟเฟนไฮม์ไป 3-0 ซึ่งลืมตัวมีการฉลองประตูด้วยกันเหมือนไม่มีโควิด-19 แต่ก็ไม่มีการสั่งลงโทษอะไร มีแค่คำขอร้องว่าอย่าทำแบบนี้อีก

 

 

 

 

ฟุตบอลยังมีชีวิต ชีวิตยังมีฟุตบอล

ถึงจะมีความไม่ชินในความปกติใหม่ ไม่ชอบกับความรู้สึกบางอย่างที่หายไป แต่สิ่งที่ได้เห็นจากเกมบุนเดสลีกาเมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีครับ

 

ฟุตบอลยังมีชีวิต

 

และชีวิตของเรายังมีฟุตบอล (ได้) อยู่

 

ความร้ายกาจที่สุดของโควิด-19 ไม่ใช่ความร้ายแรงของโรค เพราะความสามารถในการทำลายล้างชีวิตของมันไม่มากนัก แต่สิ่งที่เลวร้ายกว่าคือการที่มันทำให้เราทุกคนต้องถูกบีบบังคับให้ไม่สามารถดำเนินวิถีชีวิตปกติได้ตามเดิม

 

นั่นทำให้ฟุตบอลต้องตกอยู่ในสภาพแบบที่เห็นและเป็นอยู่

 

อย่างไรก็ดี เพราะมนุษย์มีความสามารถในการปรับตัวสูง เอาตัวรอดได้เก่ง และมีความหวังอยู่หัวใจเสมอ

 

ดังนั้น แม้จะไม่สะดวกใจ ไม่ชอบแบบไหน แต่ถ้าพอจะมีวิถีทางที่เราจะปรับตัวเพื่อจะกลับมาได้ ทุกคนก็ยินดีที่จะทำ ซึ่งเกมฟุตบอลก็เช่นกัน ถึงต้องปรับตัวแค่ไหน แต่เพื่อให้กลับมาได้แม้จะต้องเสียสละก็ยินดีจะทำ

 

การกลับมาของเกมฟุตบอลจะเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจ เป็นการจุดประกายความหวังเล็กๆให้แก่มวลมนุษยชาติ ในการที่จะพยายามปรับตัวในช่วงเวลานี้ไปจนกว่าที่เราจะเอาชนะโควิด-19 ได้

 

ผมชอบภาพสุดท้ายของเกมที่เวสต์ฟาเลนครับ

 

ภาพของนักเตะดอร์ทมุนด์ ที่เดินมาที่ Südtribüne อัฒจันทร์ฝั่งทิศใต้ ซึ่งเป็นฝั่งของกองเชียร์ที่มีสีสันและยิ่งใหญ่ที่สุดทีมหนึ่งของโลกในนาม Die Gelbe Wand หรือ ‘กำแพงเหลือง’ อันยิ่งใหญ่ 

 

พวกเขามาเพื่อตั้งแถวแบบรักษาระยะห่างๆ เพื่อทำการขอบคุณแฟนๆ เสมือนว่ายังมีทุกคนอยู่บนนั้นเพราะรู้ว่าถึง ‘ตัว’ จะมาไม่ได้แต่ ‘ใจ’ ยังเชื่อมถึงกันเสมอ 

 

Yellow Wall ไม่ใช่แค่สถานที่หรือผู้คน แต่คือจิตวิญญาณ

 

เป็นภาพที่น่ารักและทำให้หัวใจที่เหน็บหนาวมายาวนานสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นอีกครั้ง

 

ด้วยความหวังว่าพวกเขาและพวกเราจะได้กลับมาพบกันอีกครั้ง

 

ไม่ว่าจะนานสักแค่ไหนก็ตาม 🙂

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์ 

 


ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising