×

Football Money League: โควิด-19 ส่งผล 20 สโมสรท็อปยุโรป สูญเงิน 1.7 พันล้านปอนด์

27.01.2021
  • LOADING...
Football Money League: โควิด-19 ส่งผล 20 สโมสรท็อปยุโรป สูญเงิน 1.7 พันล้านปอนด์

Deloitte บริษัทตรวจสอบบัญชีระดับโลก เปิดเผยผลการสำรวจความมั่งคั่งของสโมสรฟุตบอลระดับท็อปของยุโรป ‘Deloitte Football Money League’ ประจำฤดูกาล 2019/20 ที่น่าตกใจอย่างยิ่ง เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สโมสร 20 แห่งที่มีรายรับสูงสุด ได้รับผลกระทบรวมกันมากถึงกว่า 1.7 พันล้านปอนด์ หรือกว่า 6.9 หมื่นล้านบาท

 

Deloitte Football Money League คือการจัดอันดับความมั่งคั่งของสโมสรฟุตบอลในระดับท็อปของยุโรปที่มีต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ซึ่งโดยปกติแล้วสิ่งที่ถูกจับตามองคือสโมสรใดที่จะได้เป็นแชมป์ในการจัดอันดับในฐานะสโมสรที่ร่ำรวยที่สุด แต่ในปีแห่งโรคระบาดที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงนั้นทำให้ความสนใจเปลี่ยนไปอยู่ที่มูลค่าของความเสียหายแทน


โดยในการสำรวจพบว่า สโมสรทุกแห่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากทั้งการสูญเสียรายได้จากวันแข่งขันที่ไม่มีแฟนบอลเข้ามาชมเกมในสนามได้ รวมถึงรายรับจากส่วนแบ่งของการถ่ายทอดสดลิขสิทธิ์ที่ลดลงจากเดิมอย่างมาก เนื่องจากมีช่วงที่ต้องพักการแข่งขันอย่างยาวนาน

 

สำหรับทีมที่เป็นแชมป์ประจำปีนี้คือบาร์เซโลนา ที่มีรายรับสูงสุดที่ 627.1 ล้านปอนด์ เฉือนเรอัล มาดริด ไปเพียงแค่นิดเดียวเท่านั้น แต่หากมองไปยังตัวเลขรายรับรวมแล้ว บาร์ซาขาดรายได้ไปมหาศาล โดยลดลงจาก 741.1 ล้านปอนด์เมื่อปีกลาย ลงมาเหลือแค่ 627.1 ล้านปอนด์ในปีนี้ ขณะที่คู่ปรับจากเมืองหลวงสเปนรายได้ลดลงเช่นกัน แต่ยังไม่มากเท่า โดยลดจาก 667.5 ล้านปอนด์ เหลือ 627 ล้านปอนด์

 

แต่ในเวลาเดียวกันบาร์ซาตกเป็นข่าวน่าตกใจว่า มีตัวเลขหนี้สินมหาศาลมากกว่า 1.1 พันล้านยูโร และอาจทำให้สโมสรเผชิญกับความเสี่ยงที่จะล้มละลายได้ โดยจะมีการประชุมของคณะบอร์ดบริหารชุดเฉพาะกาลในวันนี้ เพื่อที่จะหารือในหลายประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานสโมสรคนใหม่ที่เลื่อนจากเดิมวันที่ 24 มกราคมนี้ออกไป ซึ่งจะมีการกำหนดวันที่ชัดเจนอีกครั้ง

 

อีก 3 ทีมที่เกาะกลุ่มท็อป 5 ได้แก่ บาเยิร์น มิวนิก (556.1 ล้านปอนด์), แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (556.1 ล้านปอนด์) และลิเวอร์พูล (489.9 ล้านปอนด์) ซึ่งขยับจากอันดับที่ 7 ขึ้นมาติดท็อป 5 ได้เป็นครั้งแรก

 

 

โควิด-19 ปลิดชีพ

แน่นอนว่าสาเหตุสำคัญของตัวเลขที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญนั้นเกิดจากการระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มตั้งแต่ต้นปีที่แล้วเป็นต้นมา และยังไม่มีทีท่าว่าทุกอย่างจะหยุดลง

 

การที่ทุกลีกการแข่งขันระดับท็อปต้องหยุดพักไปตั้งแต่เดือนมีนาคม รวมถึงการยกเลิกการแข่งขันของลีกฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม ได้ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง เนื่องจากทุกลีกต้องชำระเงินคืนให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่ไม่สามารถแข่งขันได้เสร็จสิ้นตามกำหนดระยะเวลาในสัญญา

 

ตัวเลขค่าความเสียหายรวมที่เกิดขึ้นจากเงินค่าถ่ายทอดสดอยู่ที่ 832 ล้านปอนด์ โดยตัวอย่างที่ชัดเจนคือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งรายได้จากส่วนแบ่งการถ่ายทอดสดนั้นลดลงถึง 41.9% จาก 240.2 ล้านปอนด์ ลงมาเหลือแค่ 141.2 ล้านปอนด์เท่านั้น

 

อีกส่วนที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือรายได้จากวันแข่งขัน (Matchday Revenue) ซึ่งใน 20 สโมสรที่ติดอันดับ Deloitte Football Money League นั้นขาดรายได้จากส่วนนี้รวมกัน 228 ล้านปอนด์ และมีแนวโน้มที่ตัวเลขส่วนนี้จะลดลงอีกในปีถัดไป เนื่องจากจนถึงปัจจุบันแฟนฟุตบอลยังไม่สามารถกลับเข้าสนามได้อย่างเต็มที่ โดยที่ผ่านมามีเพียงแค่บางลีกหรือบางสโมสรเท่านั้นที่เปิดให้มีการเข้าชมแบบจำกัดจำนวนคน ก่อนที่จะต้องสั่งระงับ เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างมาก

 

 

Survival Game ของฟุตบอล

ดร.แดน โจนส์ พันธมิตรของ Sports Business Group ที่ Deloitte เชื่อว่า ช่วงเวลานับจากนี้เป็นต้นไปคือช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุดของเกมฟุตบอล

 

ความท้าทายนั้นไม่ใช่การแข่งกันว่าใครจะเก่งที่สุด ใครจะคว้าแชมป์ หรือใครจะรวยที่สุด แต่เป็นความท้าทายว่าใครจะเอาตัวรอดได้ดีที่สุดในสถานการณ์นี้ ซึ่งแม้ว่าทุกสโมสรจะเผชิญกับความยากลำบากเหมือนๆ กันหมด แต่สโมสรในระดับท็อปที่ปกติรำ่รวยที่สุดเองก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรงที่สุดเช่นเดียวกัน

 

มีหลายสโมสรที่อาการน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบาร์เซโลนา ที่ตัวเลขหนี้สินนั้นน่าสะพรึงกลัวอย่างมาก มีจำนวนหนี้สินที่ต้องชำระในระยะสั้นถึง 730 ล้านยูโร ขณะที่สโมสรที่มีผลประกอบการดีที่สุดทีมหนึ่งในช่วงที่ผ่านมาอย่างลิเวอร์พูล ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 จนทำให้กระทบต่อแผนการทำทีมและส่งผลต่อการแข่งขันพรีเมียร์ลีกที่ทีมไม่มีความสามารถในการหาซื้อผู้เล่นเข้ามาเสริมทัพได้ทั้งๆ ที่มีปัญหารุนแรงในการขาดเสาหลักของทีมอย่าง เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค และ โจ โกเมซ

 

ลิเวอร์พูลยังพลาดโอกาสในการขายหุ้นบางส่วนของกลุ่ม FSG ให้แก่กลุ่มทุน RedBall ที่นำมาโดย บิลลี บีน สุดยอดกูรูเบสบอลที่เคยถูกนำไปสร้างภาพยนตร์ดังเรื่อง Moneyball หลังการเจรจาระหว่างสองฝ่ายไม่ประสบความสำเร็จในเวลานี้ และยังต้องจับตามองว่า FSG จะระดมทุนด้วยวิธีใดต่อไป

 

ดร.โจนส์ เชื่อว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับทุกสโมสรคือการกลับมาเข้าสนามอีกครั้งของแฟนบอล ยิ่งเร็วเท่าไรก็ยิ่งดี เพราะการกลับมาของแฟนบอลคือการนำชีวิตกลับมาสู่เกมอีกครั้ง และจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ทุกอย่างกลับมาสู่สภาวะปกติ

 

ในทางกลับกัน ถ้าแฟนบอลกลับเข้าสนามได้ช้ามากเท่าไร ก็เหมือนเกมฟุตบอลเข้าใกล้ความตายมากขึ้นเท่านั้น

 

อย่างไรก็ดี ในกลุ่มนักวิเคราะห์แล้วยังเชื่อว่า รากฐานของเกมฟุตบอลอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นแฟนบอล การถ่ายทอดสด และพาร์ตเนอร์ธุรกิจต่างๆ ยังคงไม่ล้มง่ายๆ และฟุตบอลน่าจะสามารถกลับมาฟื้นคืนชีพได้ในอนาคต

 

สิ่งที่ทุกสโมสรต้องทำคือการพยายามหาทางเอาตัวรอดให้ได้ก่อนในเวลานี้

 

ที่เหลือปีหน้าฟ้าใหม่ค่อยว่ากัน

 

ภาพประกอบ: อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X