×

ประวัติย่นย่อของเกมฟุตบอล ‘คริสต์มาสเดย์’ ที่หายไป และทำไม ‘บ็อกซิ่งเดย์’ ยังคงอยู่

26.12.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MIN READ
  • วันบ็อกซิ่งเดย์นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการต่อยมวย ซึ่งสิ่งที่คนจดจำกันก็คือมันมาจากการ ‘แกะกล่องของขวัญ’ ซึ่งก็ไม่ผิดนัก แต่มันก็มีที่มาที่ไปอยู่
  • จริงๆ แล้วฟุตบอลอังกฤษนั้น ก่อนจะมีวันบ็อกซิ่งเดย์พวกเขาก็เคยเตะฟุตบอลกันใน ‘คริสต์มาสเดย์’ หรือพูดง่ายๆ ก็คือแข่งกันในวันคริสต์มาสนี่แหละ
  • สมัยนั้นเกมวันคริสต์มาสหรือบ็อกซิ่งเดย์มักจะเป็นเกมใหญ่ที่สำคัญที่สุดเสมอ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการเจอกันของสองคู่ปรับร่วมเมืองเรียกว่าเปิดศึก ‘ดาร์บี้แมตช์’ กันในวันคริสต์มาสเลยทีเดียว

เป็นความ ‘ช็อตฟีล’ อยู่นะครับที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วยังอิ่มเอมกับการแข่งขันฟุตบอลโลกอยู่เลย แต่ผ่านมาแค่ 7 วันฟุตบอลลีกกลับมาประจำการอีกแล้ว โดยเริ่มจากฟุตบอลอังกฤษที่จะมีเกม ‘บ็อกซิ่งเดย์’ (Boxing Day) ในค่ำคืนนี้

 

พูดถึงบ็อกซิ่งเดย์แล้วก็ต้องบอกว่าเป็นหนึ่งในเรื่องที่วนเอากลับมาพูดได้ทุกปี พอๆ กับเรื่องของการเปลี่ยนเวลาจากฤดูร้อน (Summertime) เป็นฤดูหนาว (Wintertime) ว่าทำไมเขาถึงต้องเรียกว่าวันบ็อกซิ่งเดย์ แล้วมันเกี่ยวข้องอะไรกับการต่อยมวยหรือเปล่า

 

คำตอบนั้นเหมือนเดิมครับ วันบ็อกซิ่งเดย์นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการต่อยมวย ซึ่งสิ่งที่คนจดจำกันก็คือมันมาจากการ ‘แกะกล่องของขวัญ’ ซึ่งก็ไม่ผิดนัก

 

โดยหากจะย้อนประวัติความเป็นมายาวนานตำราว่าไว้ว่า มีมาตั้งแต่สมัยยุคกลางเลยทีเดียว สมัยนั้นจะมีการตั้งกล่องรับบริจาคเอาไว้ที่โบสถ์ ที่จะคอยเก็บรวบรวมเงินทองสิ่งของเอาไว้แล้วพอถึงวันที่สองของช่วง Christmastide (ก็คือหลังวันที่ 25 ธันวาคม) ซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนาที่เรียกว่า วันนักบุญสตีเฟน (Saint Stephen’s Day) ก็จะ ‘เปิดกล่อง’ (ที่มาของคำว่า Boxing) เพื่อนำของที่มีคนบริจาคมาไปมอบให้แก่ผู้ยากไร้

 

บ้างก็ว่าในสหราชอาณาจักรสมัยก่อนนั้นเจ้าขุนมูลนายทั้งหลายจะมอบกล่องที่เต็มไปด้วยเงินทอง (โบนัส) ข้าวของ เครื่องใช้ ของขวัญ รวมไปถึงอาหารการกินที่เหลือจากการฉลองวันคริสต์มาสครอบครัวของเจ้านายให้แก่ผู้รับใช้ และอนุญาตให้กลับไปหาครอบครัวได้หลังวันคริสต์มาสหนึ่งวัน

 

บ้างจึงบอกว่า Boxing Day นั้นเป็นคำเหมือนหรือใกล้เคียงกับคำว่า ‘ความกตัญญู’ (Gratitude) และคำว่า ‘การกุศล’ (Charity)

 

ส่วนบ็อกซิ่งเดย์ในเกมฟุตบอลนั้นเริ่มจากการที่วันที่ 26 ธันวาคมถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดธนาคารของสหราชอาณาจักรมาตั้งแต่ปี 1871

 

พอเป็นวันหยุดที่หาได้ยากยิ่งแบบนี้เหล่าคนงานทั้งหลายก็อยากหาความสนุกด้วยการทำกิจกรรมอะไรสักอย่างมากกว่าแค่การพักผ่อนเผยๆ อยู่ที่บ้าน ฟุตบอลซึ่งเดิมเป็นกีฬาของชนชั้นแรงงาน (Working Class Sport) จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่จะไปใช้เวลาหาความบันเทิงในสนามฟุตบอลแทน

 

และนี่คือประวัติศาสตร์ของวันบ็อกซิ่งเดย์ทั้งหมดใน 8 พารากราฟ! (เฮียวิทย์หันมามองค้อนแล้ว)

 

แต่ไหนๆ หยิบเรื่องนี้มาเล่าแล้ว ขออนุญาตขยายเรื่องเล่าต่ออีกนิดครับว่าจริงๆ แล้วฟุตบอลอังกฤษนั้นก่อนจะมีวันบ็อกซิ่งเดย์นั้น พวกเขาก็เคยเตะฟุตบอลกันใน ‘คริสต์มาสเดย์’ หรือพูดง่ายๆ ก็คือแข่งกันในวันคริสต์มาสนี่แหละ

 

เรื่องนี้คนที่ให้ความรู้คือ ศ.มาร์ติน โจนส์ ผู้ประพันธ์หนังสือ ‘Christmas and the British’ ที่อธิบายเรื่องนี้ให้แก่ BBC ว่า สำหรับชนชั้นแรงงานแล้วถึงจะได้มีวันหยุดที่สุดแสนมีความหมาย แต่การกลับมายังบ้านที่สภาพแวดล้อมไม่น่าอยู่นัก แออัด และไม่ได้มีอะไรที่ชวนให้รู้สึกดี การออกไปเที่ยวเล่นตามท้องถนนจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับคนไม่น้อย

 

เกมฟุตบอลอังกฤษในวันคริสต์มาสนัดแรกนั้นเกิดขึ้นในปี 1889 ระหว่างเปรสตัน แชมป์เก่าผู้ไร้พ่ายพบกับแอสตัน วิลลา มหาอำนาจอีกทีมของยุคนั้น ซึ่งต้องบอกว่าในสมัยนั้นเกมวันคริสต์มาสหรือบ็อกซิ่งเดย์มักจะเป็นเกมใหญ่ที่สำคัญที่สุดเสมอ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการเจอกันของสองคู่ปรับร่วมเมืองเรียกว่าเปิดศึก ‘ดาร์บี้แมตช์’ กันในวันคริสต์มาสเลยทีเดียว

 

มากกว่านั้นคือสมัยก่อนในช่วงหน้าเทศกาลแบบนี้จะไม่ได้เตะกันแค่เกมเดียวเลิก แต่จะมีการวางโปรแกรมแบบต่อเนื่อง บางทีแข่งกัน 2 วันติดแบบให้โอกาสแก้ตัวกัน เช่น วันคริสต์มาสทีม A เจอทีม B พอถึงวันบ็อกซิ่งเดย์ทีม B ก็จะล้างตา A บ้าง

 

ตัวอย่างเช่นในปี 1913 ลิเวอร์พูลเปิดแอนฟิลด์รับการมาเยือนของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ในวันคริสต์มาส เอาชนะได้ก่อน 4-2 ก่อนจะไปแพ้ในเกมเยือนวันบ็อกซิ่งเดย์ที่เมนโรด เท่านั้นไม่พอในอีกวันถัดมา (27 ธันวาคม) ก็ยังไปแข่งต่อกับแบล็กเบิร์น ซึ่งจบลงด้วยการเสมอกัน 3-3

 

พีคกว่านั้นก็มี เช่น เอฟเวอร์ตัน ที่ลงแข่ง 3 แมตช์ในช่วงระยะเวลาแค่ 2 วัน โดยเริ่มจากลงเล่นในศึกแลงคาเชียร์คัพ กับทีมแบล็กเบิร์นพาร์กโรด ก่อนจะลงแข่งกระชับมิตรกับอัลสเตอร์ เอฟซีในวันเดียวกัน ต่อด้วยลงกระชับมิตรอีกนิดกับทีมบูเทิล ในวันที่ 26 ธันวาคม

 

แต่เกมในวันคริสต์มาสที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์นั้น คือแมตช์มายาที่เรียกว่า ‘Christmas Truce’ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าขานกันว่าในวันคริสต์มาสปี 1914 ที่ชายแดนระหว่างฝรั่งเศส-เบลเยียม ในสมรภูมิที่เคยห้ำหั่นกันนั้น ทหารของสหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, ฮังการี, เยอรมนี และรัสเซีย ได้ขอพักรบและหันมาเตะฟุตบอลกันหนึ่งวัน

 

กลายเป็นหนึ่งในเรื่องเล่าวันคริสต์มาสที่น่าประทับใจที่สุดตลอดกาล แม้จะมีวงเล็บว่าในทางประวัติศาสตร์จะยังมีการถกเถียงกันอยู่มากว่าเรื่องเล่านี้เป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม

 

ธรรมเนียมการแข่งขันฟุตบอลในวันคริสต์มาสและบ็อกซิ่งเดย์ดำเนินต่อเรื่อยมาจนถึงช่วงปลายทศวรรษ 1950 ที่ความนิยมเริ่มลดน้อยลง ซึ่งก็มาจากการที่การเดินทางในช่วงคริสต์มาสเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะทั้งพนักงานขับรถไฟและพนักงานขับรถเมล์ต่างก็ได้พักด้วย และก็มีสิ่งต่างๆ ให้ผู้คนได้ทำในระหว่างวันหยุดมากขึ้น

 

การไปชมเกมฟุตบอลในสนามในวันหยุดคริสต์มาสจึงไม่ได้เป็นความบันเทิงเพียงอย่างเดียวของชีวิตสำหรับชนชั้นแรงงานอีกต่อไป

 

ครั้งสุดท้ายที่ฟุตบอลลงแข่งในวันคริสต์มาสแบบเต็มๆ คือในปี 1957 ก่อนที่จำนวนเกมจะลดลงเหลือแค่ไม่กี่นัดในปีถัดมา และครั้งสุดท้ายที่เกมฟุตบอลลีกอังกฤษมีในวันคริสต์มาสคือปี 1965 ในเกมที่แบล็กเบิร์นไปเยือนแบล็กพูล สโมสรที่พยายามรักษาธรรมเนียมนี้เอาไว้ในอังกฤษ

 

ในปี 1983 มีความพยายามจะรื้อฟื้นธรรมเนียมการเตะในวันคริสต์มาสในฟุตบอลอังกฤษขึ้นมาในเกมดิวิชัน 3 ระหว่างเบรนท์ฟอร์ด กับวิมเบิลดัน ด้วยการชูคำขวัญว่า “ฟื้นธรรมเนียมปฏิบัติเก่าที่สามีจะได้ไปดูเกมฟุตบอล ส่วนภรรยาก็อบไก่เตอร์กีอยู่ที่บ้าน”​ แต่สุดท้ายเมื่อมีการประท้วงแผนนี้ก็ถูกพับไป

 

อย่างไรก็ดี ธรรมเนียมการแข่งฟุตบอลในวันบ็อกซิ่งเดย์ยังมีอยู่เหมือนเดิม แต่ก็มีการพยายามปรับตามยุคสมัย โดยกระจายช่วงเวลาแข่งและวันแข่ง (อย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดก็ไปแข่งในวันที่ 27 ธันวาคมแทน) และยังดูมีความพยายามที่จะรักษาธรรมเนียมการแข่งในช่วงเฉลิมฉลองปลายปีเอาไว้

 

ส่วนในอนาคตนั้นไม่มีใครตอบได้ว่าฟุตบอลอังกฤษจะรักษาธรรมเนียมนี้เอาไว้ได้ตลอดไปหรือไม่

 

ขึ้นอยู่กับแฟนฟุตบอลเองว่า พวกเขายังมีความสุขกับธรรมเนียมเก่าแก่แบบนี้หรือเปล่า 🙂

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising