×

Foodpanda ปักธงส่งอาหารครบ 77 จังหวัดเจ้าแรกในไทย มั่นใจเก็บ GP เรตเหมาะสม ช่วยเพิ่มยอดขายร้าน คนสั่งได้บริการดี

11.11.2020
  • LOADING...
Foodpanda

หลังจากที่ให้บริการในไทยมานานกว่า 8 ปี ในที่สุด วันนี้ (11 พฤศจิกายน) Foodpanda ก็สามารถปักธงให้บริการในไทยครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับเป็นการเติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วแบบก้าวกระโดด (ในตอนนั้นให้บริการครอบคลุม 27 จังหวัดทั่วประเทศ) ซึ่งทีมผู้บริหารของ Foodpanda บอกว่าพวกเขาได้ใช้กลยุทธ์ขยายพื้นที่ให้บริการ 1 จังหวัดต่อสัปดาห์มาตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมปี 2562

 

ปัจจุบัน Foodpanda ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัดในประเทศไทย โดยในต่างจังหวัดจะครอบคลุมเฉพาะพื้นที่หัวเมืองเป็นหลัก มีจำนวนร้านอาหารในระบบมากกว่า 120,000 ร้าน เพิ่มขึ้นกว่า 70,000 ร้านในช่วงตลอดระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา โดยเคลมว่ามีระยะเวลาการจัดส่งอาหารถึงมือผู้สั่งเร็วที่สุดในตลาดผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรีที่ 19.9 นาที (จากเดิมในปี 2559 ระยะเวลาส่งเฉลี่ย 45 นาที)

 

เป้าหมายต่อจากนี้ของ Foodpanda คือการเป็นผู้ให้บริการที่ต้อง ‘ส่งได้ทุกอย่าง’ เป็นผู้ช่วยในชีวิตประจำวันของผู้ใช้งาน โดยไม่จำกัดว่าสิ่งที่ส่งจะต้องเป็นแค่ ‘อาหาร’ เท่านั้น แต่ยังเป็นสินค้าอื่นๆ ที่หลากหลายได้ ตัวอย่างเช่น ยา, ดอกไม้, สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการให้บริการส่งที่รวดเร็วที่สุด

 

ที่ผ่านมา Foodpanda ได้ขยายบริการตัวเองออกไปด้วยวิธีที่หลากหลาย และโมเดลธุรกิจที่ต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น คลาวด์คิทเชน ครัวกลางรวมร้านอาหารในย่านต่างๆ เอาไว้ในที่เดียว หรือ QCommerce อย่าง Pandamart บริการสั่งซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค แบบเร็วทันใจ ซึ่งในเร็วๆ นี้ นอกเหนือจากการพยายามพัฒนาบริการด้วยการลดระยะเวลาการส่งให้เร็วขึ้นแล้ว Foodpanda ยังตั้งเป้าจะเจาะพื้นที่ให้บริการตามพื้นที่ตัวเมืองชั้นนอกให้ได้ 

 

อเล็กซานเดอร์ เฟลเดอร์ กรรมการผู้จัดการ ฟู้ดแพนด้า ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ความตั้งใจของ Foodpanda คือปรับปรุงบริการให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ มาผสมผสานให้ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด โดยเฉพาะในด้านความสะดวกสบายและความเร็ว

 

ส่วนจำนวนร้านอาหารในแพลตฟอร์ม ณ ปัจจุบันที่ 120,000 ร้านนั้น (90% เป็นร้านอาหารรายย่อยแบบสแตนด์อะโลน ส่วนอีก 10% เป็นร้านอาหารของเชนแบรนด์ใหญ่) เฟลเดอร์บอกว่า ถือเป็นจำนวนที่ ‘สูง’ เมื่อเทียบกับผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรีเจ้าอื่นๆ แต่ยังไม่มากพอ เพราะยังมีร้านอาหารมากกว่าอีก 3-4 แสนแห่งที่อยู่นอกระบบและเป็น ‘โอกาส’ ที่ Foodpanda จะสามารถเพิ่มร้านเหล่านั้นมาอยู่บนแพลตฟอร์มตัวเองให้ได้

 

สำหรับประเด็นการหักค่า GP ที่สูงกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ และการจ่ายเงินร้านอาหารล่าช้านั้น ผู้บริหาร Foodpanda ประเทศไทยมองว่า การหัก GP ในเรตอัตราดังกล่าวถือเป็นตัวเลขที่เหมาะสมแล้วในแง่ของการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากฟู้ดแพนด้าในฐานะแพลตฟอร์มตัวกลางจะต้องเข้าใจและตอบโจทย์ Stakeholders ทุกฝ่ายให้ได้อย่างสมเหตุสมผล ไม่ว่าจะร้านอาหาร คนขับ (มากกว่าแสนราย) และผู้สั่งอาหาร

 

จริงอยู่ที่ Foopanda เลือกหัก GP จากร้านอาหารในเปอร์เซ็นต์ที่สูง แต่เฟลเดอร์ยืนยันว่า Foodpanda มีส่วนช่วยผลักดันยอดขายร้านอาหารนั้นๆ ให้สูงขึ้นตามไปด้วย เพิ่มช่องทางรายได้ใหม่ๆ กระตุ้นการทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ทำตลาดออนไลน์ให้ โดยที่ร้านอาหารนั้นๆ ไม่ต้องไปลงทุนทำเดลิเวอรีด้วยตัวเอง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า แถม Foodpanda เองก็ยังนำเงินรายได้ที่มาจากการหักเรต GP ไปต่อยอดพัฒนาแพลตฟอร์ม ลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ที่ดีกว่าเดิม 

 

อีกประเด็นสำคัญคือการที่ภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมฟู้ดเดลิเวอรีในประเทศไทยที่นับวันก็ยิ่งจะดุเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการที่ผู้ให้บริการหน้าใหม่อย่าง Robinhood (SCB) กระโดดเข้ามาร่วมแบ่งชิ้นเค้ก LINEMAN ที่ประกาศควบรวมกิจการกับ Wongnai อย่างสมบูรณ์ และ Gojek ที่รีแบรนด์จาก Get ประเทศไทย

 

ซึ่งเฟลเดอร์เชื่อว่ายิ่งตลาดมีการแข่งขันที่เข้มข้นมากเท่าไร ผู้บริโภคก็ยิ่งได้ประโยชน์มากเท่านั้น โดยในเชิงภาพรวมการเติบโตของตลาดฟู้ดเดลิเวอรีในไทยปี 2563 นี้โตจากปี 2562 ที่ 6-7 เท่า มีปริมาณคำสั่งอาหารต่อวันที่ 1.5 ล้านออเดอร์ ถือว่าลดน้อยลงจากอัตราการเติบโตระหว่างปี 2561 และ 2562 ที่ 8-9 เท่าจากผลกระทบของโควิด-19 แต่ในระยะยาวผู้บริหาร Foodpanda ไทยยังมองว่า ธุรกิจแพลตฟอร์มสั่งอาหารยังคงอยู่ในทิศทางการเติบโตแบบต่อเนื่อง

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising