ต้องบอกว่ากระแสของ ‘ฟู้ดเดลิเวอรี’ ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองอีกแล้ว เห็นได้จากผู้ให้บริการหลายรายเริ่มขยายการให้บริการออกไป เช่นเดียวกัน Foodpanda ซึ่งทำธุรกิจในไทยมา 8 ปี ได้บุก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ครบแล้ว
โดยเริ่มเปิดที่จังหวัดยะลาเป็นแห่งแรกในช่วงปลายเดือนตุลาคมปี 2562 ก่อนขยายไปสู่ปัตตานีในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2563 และเพิ่งเปิดที่นราธิวาสไปเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยนราธิวาสถือเป็นจังหวัดที่ 67 ที่ Foodpanda เข้าไปเปิดให้บริการ โดยตั้งเป้าให้ครบทั้ง 77 จังหวัด
“Foodpanda เราเข้ามาเพื่อเป็นพันธมิตรกับท้องถิ่น ร้านค้าได้มีโอกาสขายของ คนได้กิน แรงงานได้มีงานทำ เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ” ณัฐวุฒิ ชัยนลิพันธุ์ Head of Expansion Foodpanda กล่าว
การเข้ามาสู่ 3 จังหวัดชายแดนถือเป็นการเข้ามาชิงเค้กกับผู้ให้บริการท้องถิ่น ซึ่งแต่ละจังหวัดต่างมีผู้บุกเบิกอยู่แล้ว อย่างยะลามี Fiin Delivery ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพในท้องถิ่น ส่วนปัตตานีมี Foodman ซึ่งปัจจุบันมี 2 สาขาที่ปัตตานีและยะลา ส่วนนราธิวาสมี CJ Delivery ซึ่งเน้นบริการส่งอาหารในเขตเมืองนราธิวาส
หลัง Foodpanda เปิดให้บริการพบว่า ผลตอบรับไปในทิศทางที่ดี อย่างที่ยะลาเปิดวันแรกมียอดสั่งซื้อ 400 กว่าออเดอร์ ปัจจุบันเพิ่มเป็น 2,000 ออเดอร์ ส่วนปัตตานีได้เพิ่มจาก 700 กว่าออร์เดอร์มาเป็น 2,000 กว่าออร์เดอร์ ด้านนราธิวาสวันแรกมีการสั่งซื้อเกือบ 300 ออร์เดอร์ ซึ่งถือว่าเกิดคาดสำหรับ Foodpanda
ด้วยพื้นฐานแล้วพฤติกรรมของผู้บริโภคในนราธิวาสมักจะไม่กินข้าวหรือสั่งซื้ออาหารนอกบ้าน มักจะทำอาหารกินเองเสียมากกว่า หรือหากจะซื้อมักจะซื้อแถวบ้าน ซึ่งเฉลี่ยแล้วราคาอาหารจะค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับยะลา ปัตตานี
ขณะที่คนขับนั้นปัจจุบันที่ยะลามีเกือบ 300 คน ปัตตานี 200 คน ส่วนที่นราธิวาสแม้จะเพิ่งเปิดแต่ก็มีคนมาสมัครแล้ว 100 กว่าคน ส่วนหนึ่งที่ทำให้คนสนใจเพราะวิกฤตโควิด-19 ทำให้แรงงานที่เคยทำอยู่ในมาเลเซียต้องกลับมาหางานทำในเมืองไทย
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาต่อไปสำหรับฟู้ดเดลิเวอรีใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะมีข่าวว่าทาง Grab ก็สนใจที่จะบุกเช่นเดียวกัน โดยได้เข้าไปศึกษาตลาดเรียบร้อยแล้ว หาก Grab เปิดให้บริการเมื่อไร การแข่งขันย่อมร้อนแรงขึ้นอย่างแน่นอน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์