ข่าวฟ้าผ่าวงการเดลิเวอรี เมื่อ Robinhood แอปพลิเคชันจากยานแม่ SCBX ประกาศแผนที่จะยุติการให้บริการแพลตฟอร์มในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 20.00 น. การตัดสินใจครั้งนี้ของ SCBX ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยเหลือตัวเลือกในตลาดน้อยลง ซึ่งตามมาด้วยคำถามที่น่าสนใจว่า ธุรกิจ Food Deliveryในไทยยังจะโตต่อได้มากแค่ไหน และจะโตต่อด้วยปัจจัยอะไร?
ผู้ที่ตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดย่อมหนีไม่พ้น ‘ยอด ชินสุภัคกุล’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai ซึ่งจะกลายเป็นบริษัทผู้ทำแอป Food Deliveryสัญชาติไทยเพียงรายเดียวที่จะหลงเหลืออยู่ในตลาดเมื่อช่วงเวลาสุดท้ายของ Robinhood มาถึง
แม้ว่าการยกธงขาวของ Robinhood จะส่งผลต่อความรู้สึกของผู้คนในมุมของความไม่แน่นอนในอุตสาหกรรม Food Delivery แต่ยอดมองว่าภาพรวมตลาดปัจจุบันโดยเฉพาะในส่วนของ Food Deliveryนั้นมีทิศทางการเติบโต 6 เดือนแรกได้ดีในปีนี้ เนื่องจากกำลังซื้อฝั่งผู้บริโภคออนไลน์ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่ากำลังซื้อโดยรวมของประเทศ
ซึ่งตอนนี้ส่วนแบ่งของ Food Deliveryคิดเป็นประมาณ 10% ของมูลค่าธุรกิจอาหารในประเทศไทยเท่านั้น หรือหากคิดเป็นตัวเลขอยู่ที่ราว 8 หมื่นกว่าล้านบาท ถือว่ายังตามหลังประเทศพัฒนาแล้วอย่างเกาหลีใต้หรือจีนที่มีส่วนแบ่งประมาณ 20% ฉะนั้นประเทศไทยยังมีช่องว่างให้เติบโตอีก
“ตลาด Food Delivery โดยรวมปีนี้น่าจะโตได้เกือบแตะเลขสองหลัก และเรากำลังพยายามคุยกับภาครัฐให้โครงการ Digital Wallet สามารถใช้ร่วมกับบริการ Food Deliveryได้ เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยเรื่องการเติบโตของอุตสาหกรรม แต่จะยังเป็นตัวช่วยร้านอาหารอีกนับแสนรายที่ไม่มีหน้าร้าน และพึ่งพาช่องทาง Food Deliveryเพียงช่องทางเดียวให้มีรายได้เพิ่มขึ้น” ยอดกล่าวเสริม
สำหรับในมุมของการแข่งขัน LINE MAN รวมถึงแพลตฟอร์มอื่นอาจได้รับประโยชน์ทางการแข่งขันที่จะลดน้อยลงจากการหายไปของ Robinhood แต่ยอดยืนยันว่าจะเป็นการลดลงที่น้อยมาก เนื่องจากร้านอาหารหลายรายก็ร่วมงานกับหลายผู้ให้บริการ ทำให้สมรภูมิการแข่งขันในตลาดจะยังเข้มข้นเหมือนเดิมระหว่างคู่แข่งที่มีอยู่ในตลาดประมาณ 4-5 ราย
จริงๆ แล้วที่ผ่านมายักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรม Food Deliveryต่างมองว่า ตลาดนั้นจะไม่ได้โตหวือหวาเหมือนกับช่วงโควิดเพราะสถานการณ์กลับมาเหมือนก่อนแล้ว แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนโควิดคือพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะใช้บริการ Food Deliveryคู่กับการออกไปกินข้าวนอกบ้าน
จุดนี้เองทำให้ Food Delivery จะยังเติบโตได้อยู่ แต่จะไม่ได้เยอะมากนัก ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนออกมาจากผลงานช่วง 6 เดือนแรกของปี (ยอดยืนยันว่า LINE MAN ยังเติบโตมากกว่าตลาด) ที่เรียกว่าไม่ได้ผิดจากความคาดหมายมากนัก
ณ ตอนนี้อุตสาหกรรม Food Delivery อยู่ในช่วงท้ายของการทุ่มเงินเพื่อสร้างฐานลูกค้า หรือที่มักจะเรียกกันว่า ‘การเผาเงิน’ มาโฟกัสในการทำให้ธุรกิจของตัวเองยั่งยืนผ่านการทำธุรกิจให้แข็งแรง เพื่อสร้าง ‘กำไร’ ที่จะกลายเป็นสายป่านให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่าท้ายที่สุดเมื่อตลาดเติบโตไปถึงจุดที่ Food Delivery กลายเป็นบรรทัดฐานการใช้ชีวิตของลูกค้า ผู้ที่จะขับเคลื่อนและสามารถเติบโตต่อได้ในตลาดนี้อาจเหลือเพียง 2 หรือ 3 รายเท่านั้น หมายความว่าในบริบทของประเทศไทยยังมีความเป็นไปได้ว่าผู้เล่น Food Deliveryจะหายไปได้อีก โดยกรณีล่าสุดก็คือ Robinhood ของ SCBX นั่นเอง
Robinhood เป็นหนึ่งในโปรเจกต์เพื่อสังคมที่ถูกริเริ่มขึ้นโดย SCBX เพื่อช่วยบรรเทาความยากลำบากในช่วงวิกฤตโควิดที่กระทบกับการใช้ชีวิตของหลายคน ทั้งช่วยสร้างงานให้กับไรเดอร์ เปิดช่องทางรับออร์เดอร์ให้กับร้านอาหาร และให้ตัวเลือกกับลูกค้า
หนึ่งในจุดเด่นที่ผู้ประกอบการชื่นชอบคือการไม่เรียกเก็บ ‘ค่า GP’ (Gross Profit) หรือค่าคอมมิชชันที่ร้านต้องแบ่งให้กับแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ ซึ่งต่างจากเจ้าอื่นๆ ที่ปกติเรียกเก็บในอัตรา 20-30% ทำให้ร้านอาหารที่ใช้งาน Robinhood ได้เงินเต็มจำนวนทุกบาททุกสตางค์
แต่การให้ผลประโยชน์นี้แก่ร้านอาหารก็มีทั้งผลดีและผลเสีย เพราะแม้ว่าร้านอาหารจะชื่นชอบ แต่ยิ่งมีผู้ใช้งานเยอะขึ้นแพลตฟอร์มก็จำเป็นต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น จนทำให้มูลค่าขาดทุนสะสม 3 ปีย้อนหลังรวมกันกว่า 5,476 ล้านบาท
หาก Robinhood ยังสามารถสร้างกำไรได้ และสถานการณ์ทางการเงินไม่ได้อยู่ในสภาวะกดดันเหมือนกับที่เป็นมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ไม่แน่ว่าโปรเจกต์ที่เป้าหมาย ‘เพื่อสังคม’ ของ SCBX อาจยังอยู่คู่คนไทยต่อไป และเราคงไม่ต้องเห็นข่าวช็อกวงการเดลิเวอรีที่จุดประเด็นความเชื่อมั่นในธุรกิจประเภทนี้
ส่วนสุดท้ายคือคำถามที่ว่า ในระยะยาวธุรกิจ Food Deliveryจะโตต่อได้จากอะไร?
ยอดชวนมองเปรียบเทียบธุรกิจ Food Delivery กับธุรกิจอีคอมเมิร์ซว่า พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไปแล้ว แม้ว่าโควิดจะหมดไปแต่คนก็ยังช้อปปิ้งออนไลน์อยู่ และเป็นเช่นเดียวกับการสั่งอาหารด้วยแอป Food Deliveryเนื่องจากความสะดวกสบายกับตัวเลือกที่มากกว่าในอดีต ซึ่งนั่นเป็นปัจจัยพื้นฐานของการเติบโตในธุรกิจประเภทนี้ต่อไป
สำหรับ Food Deliveryเป้าหมายคือการพลิกตัวเลข ‘ขาดทุน’ ให้กลับมาทำกำไรได้ ซึ่งยอดเองก็หวังว่า LINE MAN จะพลิกตัวเองให้มี ‘กำไร’ อย่างเร็วสุดคือปีนี้ หรือช้าที่สุดเป็นต้นปีหน้า
หากมองเข้าไปยังผลประกอบการปีล่าสุดจะเห็นได้ว่า LINE MAN สามารถลดตัวเลขขาดทุนหลักพันล้านให้เหลือแค่ 200 กว่าล้านบาท จากรายได้ที่แตะระดับหมื่นล้านบาท ดังนั้นความต้องการของยอดจึงไม่ได้เป็นฝันที่ยาวนานมากนัก
นอกจากนี้ยอดยังเดินหน้าที่จะนำ LINE MAN ติดนามสกุลมหาชนภายในต้นปี 2568 ซึ่งหากวันนั้นถึงการ IPO คงทำให้ผู้คนในตลาดหุ้นตื่นเต้นอยู่ไม่น้อย แต่ตอนนี้ต้องมาลุ้นว่าจะเกิดขึ้นในไทยหรืออเมริกาเท่านั้นเอง