ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พาสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดลำปาง เพื่อศึกษาโอกาสในการพัฒนาศักยภาพไม้ดอกไม้ประดับ (พิกัดศุลกากร 06) และพืชผัก (พิกัดศุลกากร 07) ของไทย เพื่อใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA)
อรมนกล่าวว่า สืบเนื่องจากปี 2562 ไทยเป็นผู้ส่งออกไม้ดอกไม้ประดับอันดับที่ 3 ของเอเชีย (รองจากจีนและมาเลเซีย) และอันดับที่ 11 ของโลก แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ยอดส่งออกไม้ดอกไม้ประดับของไทยลดลง
โดยในช่วงครึ่งแรก (มกราคม-มิถุนายน) ของปี 2563 มูลค่าการส่งออกสินค้าไม้ดอกไม้ประดับและพันธุ์ไม้ (พิกัดศุลกากร 06) ของไทยอยู่ที่ 46.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยการส่งออกไปตลาดหลักของไทยส่วนใหญ่หดตัว อาทิ สหรัฐอเมริกา (ส่งออก 8.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 46%), ญี่ปุ่น (ส่งออก 8.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 17%), สหภาพยุโรป (ส่งออก 5.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 40%) และเกาหลีใต้ (ส่งออก 3.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 31%)
อย่างไรก็ตาม อรมนกล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดีคือกลุ่มประเทศในอาเซียน เช่น ลาว (ส่งออก 0.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 16%) และเมียนมา (ส่งออก 0.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 45%) โดยสินค้าที่มีการขยายตัวในตลาดเมียนมาและลาว ได้แก่ ดอกกล้วยไม้ ไม้ประดับ เช่น มอสและไลเคน เป็นต้น จึงใช้โอกาสนี้ลงพื้นที่พบปะหารือนักวิจัยพัฒนาพันธุ์ และเกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับและพืชผักของไทย เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
นอกจากนี้อรมนยังกล่าวเสริมว่า ในระยะสั้น คาดว่าแนวโน้มความต้องการไม้ดอกไม้ประดับในตลาดโลกจะยังคงชะลอตัว เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถคุมได้ในหลายประเทศ ทำให้การท่องเที่ยว การจัดประชุม สัมมนา การจัดงานกิจกรรมต่างๆ หยุดชะงัก และความต้องการใช้ไม้ดอกไม้ประดับในการตกแต่งสถานที่สำหรับกิจกรรมต่างๆ หดตัวตามไปด้วย
แต่ในระยะยาว หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เชื่อมั่นว่าสินค้าไม้ดอกไม้ประดับของไทยจะมีศักยภาพในการส่งออกและกลับมาขยายตลาดได้เพิ่มอีก เนื่องจากข้อได้เปรียบจากภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ มีสภาพภูมิอากาศที่ดี รวมทั้งมีเทคโนโลยีการผลิตที่มีมาตรฐาน ประกอบกับปัจจุบันนักปรับปรุงพันธุ์ของไทยมีความสามารถพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับใหม่ๆ ที่มีความสวยงามออกมาสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกันไทยมีแต้มต่อทางภาษีจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ได้ช่วยปลดล็อกข้อจำกัดทางการค้าต่างๆ โดยเฉพาะกำแพงภาษีศุลกากร ส่งผลให้สินค้าไม้ดอกไม้ประดับทุกรายการของไทยที่ส่งไปขายในประเทศคู่ FTA 17 ประเทศ (ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ และญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู) ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าแล้ว เหลือเพียงอินเดียที่ยังคงภาษีนำเข้าสินค้าไม้ดอกไม้ประดับบางรายการไว้ เช่น ดอกกุหลาบและกิ่งชำ มอสและไลเคน ในอัตราภาษีที่ 5% ดอกกล้วยไม้ในอัตราภาษีที่ 60% เป็นต้น
“ในช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่นักวิจัยพัฒนาพันธุ์ของไทยจะเร่งพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับใหม่ๆ เนื่องจากดอกไม้เป็นสินค้าแฟชั่นที่ต้องมีการพัฒนาพันธุ์ใหม่อยู่เสมอตามความต้องการของตลาด ขณะเดียวกันผู้ประกอบการควรปรับเปลี่ยนช่องทางการทำตลาด โดยหันมาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงมากขึ้น รวมทั้งใช้ข้อได้เปรียบทางภาษีโดยเจาะตลาดส่งออกไปยังประเทศที่ไทยมีความตกลง FTA ด้วย ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมีโครงการที่จะพาเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกไม้ดอกไม้ประดับไทยไป” อรมนกล่าว
ทั้งนี้ในปี 2562 ไทยส่งออกไม้ดอกไม้ประดับและพันธุ์ไม้สู่ตลาดโลกมูลค่า 132.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่
- สหรัฐอเมริกา (ส่วนแบ่งตลาด 22% ของการส่งออกสินค้าไม้ดอกไม้ประดับทั้งหมดของไทย)
- ญี่ปุ่น (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 16)
- อาเซียน (ส่วนแบ่งตลาด 15% มีเวียดนามเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 1 ในอาเซียน)
- สหภาพยุโรป (ส่วนแบ่งตลาด 14% มีเนเธอร์แลนด์เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ในสหภาพยุโรป)
- เกาหลีใต้ (ส่วนแบ่งตลาด 6%)
โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญคือ ดอกกล้วยไม้ ต้นกล้วยไม้ ไม้ประดับ เป็นต้น
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า