×

Flower of Evil ซีรีส์ที่มีตัวละครหลักเป็น ไซโคพาธ บุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม และซ่อนตัวอยู่ใต้รอยยิ้มมากว่าสิบปี

26.08.2020
  • LOADING...
Flower of Evil โทมินซอก พ่อของ โทแฮซู โทฮยอนซู

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ตัวละคร โทฮยอนซู ไม่มีความรู้สึก และไม่รู้ว่ามนุษย์จะมีความรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ที่จะมากระทบใจต่างๆ เช่น ความรู้สึกเมื่อคนที่รักจะเสียชีวิต ความรู้สึกเศร้า ความรู้สึกมีความสุข สังเกตได้จากฉากที่ฝึกยิ้มหน้ากระจก ฝึกทำหน้าเศร้า เพื่อให้เขาดูปกติเหมือนคนอื่น 
  • ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของซีรีส์เกาหลีคือ การลงลึกในรายละเอียดของตัวละคร ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายร้าย เราจะได้เห็นปมปัญหา ประสบการณ์ชีวิต ความเชื่อ สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดูที่ส่งผลทำให้ตัวละครนั้นๆ คิดและทำอะไรในปัจจุบัน 
  • ไซโคพาธในซีรีส์ Flower of Evil กลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะมันไม่ได้หมายความว่าอาชญากรทุกคนจะเป็นไซโคพาธ และเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าไซโคพาธทุกคนจะก่ออาชญากรรม

โทฮยอนซู ตัวละครหลักของซีรีส์ Flower of Evil ถูกปูพื้นให้รู้ว่าเป็นไซโคพาธ ในเริ่มต้น นี่คือความน่าสนใจแรกที่ซีรีส์เรื่องนี้เปิดเอาไว้ พร้อมกับความหลังของโทฮยอนซูที่ยังคงเป็นความลับ กับการสวมตัวตนเป็นคนอื่นแล้วมีชีวิตที่ดี แต่งงานกับภรรยาตำรวจ มีลูกสาววัยกำลังน่ารักคนหนึ่ง ไม่น่าเชื่อว่าเขาหลอกผู้คนและภรรยามาได้ถึง 14 ปี

 

อาจเป็นเรื่องบังเอิญที่ซีรีส์เกาหลีในช่วงนี้มีตัวละครเกี่ยวข้องกับโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) ทั้ง โกมุนยอง จากซีรีส์ It’s Okay to Not Be Okay หรืออัยการ ฮวังชีมก จากซีรีส์ Stranger 2 ที่แม้จะไม่ได้ต่อต้านสังคม แต่ก็แตกต่างจากสังคม ด้วยการเป็นคนไร้ความรู้สึก หลังผ่าตัดเอาสมองส่วนความรู้สึกออกไป

 

นอกเหนือจากเรื่องเมโลดราม่าและการสืบสวนสอบสวนหนักๆ ซีรีส์ Flower of Evil ยังแสดงให้เห็นถึงรายละเอียดของไซโคพาธ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม แท้จริงแล้วไซโคพาธเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด จากการเติบโตที่ไม่สมบูรณ์ของสมองส่วนที่เกี่ยวกับอารมณ์ นอกจากนี้การกระตุ้นพันธุกรรมไซโคพาธก็แปรผันกับการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมในวัยเด็กของคนคนนั้นอีกด้วย

 

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข อธิบายไซโคพาธ (Psychopaths) ไว้ว่า ‘เป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) มีลักษณะขาดความเห็นใจผู้อื่น ขาดความสำนึกผิด ความรู้สึกด้านชาไม่เกรงกลัว ขาดความยับยั้งชั่งใจ เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง”

 

 

* บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของซีรีส์ *

 

Flower of Evil เล่าเรื่องราวของ โทมินซอก พ่อของ โทแฮซู และ โทฮยอนซู ที่ฆ่าตัวตายจนนำไปสู่การสืบสวนสอบสวน และพบว่าเขาคือฆาตกรต่อเนื่องเมืองยอนจู จากนั้นเกิดการฆาตกรรมหัวหน้าหมู่บ้าน ซึ่งตำรวจคาดว่าเป็นฝีมือของโทฮยอนซู จากหลักฐานที่เขาทิ้งไว้แล้วหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย โทฮยอนซูหายไปเกือบ 20 ปี โดยไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในชื่อของ แบคฮีซอง ลูกชายของผู้อำนวยการโรงพยาบาล แต่งงานกับตำรวจสาว ชาจีวอน และมีลูกน่ารักคนหนึ่ง ส่วนคดีฆาตกรรมหัวหน้าหมู่บ้านก็ยังตามจับผู้ต้องสงสัยมาดำเนินคดีไม่ได้จนถึงปัจจุบัน

 

ในซีรีส์ Flower of Evil ตัวละครโทฮยอนซูไม่มีความรู้สึก และไม่รู้ว่ามนุษย์จะมีความรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ที่จะมากระทบใจต่างๆ เช่น ความรู้สึกเมื่อคนที่รักจะเสียชีวิต ความรู้สึกเศร้า ความรู้สึกมีความสุข สังเกตได้จากฉากที่ฝึกยิ้มหน้ากระจก ฝึกทำหน้าเศร้า เพื่อให้เขาดูปกติเหมือนคนอื่น โทฮยอนซูยังสอนลูกสาวให้ขอโทษเพื่อนก่อนทั้งๆ ที่ไม่ใช่คนผิด ก็เพื่อให้ลูกดูเป็นคนหัวอ่อน และจะไม่ได้รับการจับจ้องเมื่อทำผิดขึ้นมาจริงๆ นี่คือสิ่งที่เขาเรียนรู้จากการใช้ชีวิต เมื่อใดก็ตามที่ผู้คนรู้ว่าเขาเป็นไซโคพาธ เขาจะกลายเป็นคนน่าสงสัย น่ากลัว และไม่มีใครอยากเข้าใกล้ แม้ว่าเขาจะยังไม่ได้ทำอะไรผิดเลยก็ตาม

 

ฉากย้อนอดีตในซีรีส์แสดงให้เห็นถึงความไม่รู้ของสังคมเมื่อหลายสิบปีก่อน การที่เพื่อนๆ ในโรงเรียนจับโทฮยอนซูมัดไว้กับต้นไม้แล้วปาหินใส่ หรือการที่ชาวบ้านในหมู่บ้านรวมตัวกันจัดพิธีไล่ผีในตัวเขา เหล่านี้ไม่มากก็น้อยล้วนเป็นตัวกระตุ้นของอาการ ผู้คนไม่ได้มองว่าโทฮยอนซูกำลังประสบปัญหาทางด้านจิตใจและต้องการความช่วยเหลือ ในทางตรงกันข้าม กลับล่าแม่มดและทำร้ายเขาเพราะแตกต่างจากคนอื่นๆ  

 

แม้ว่าเรื่องราวของซีรีส์จะดำเนินมาถึงอีพี 8 ครึ่งทางของเรื่องราวแล้ว แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าใครเป็นฆาตกร เพราะในแวดล้อมของตัวละครก็ล้วนมีโอกาสจะเป็นฆาตกรได้ทั้งนั้น ซึ่งซีรีส์ปูทางให้โทฮยอนซูมีความเป็นไปได้สูงสุด จากการที่เขามีพ่อที่เป็นไซโคพาธ และตัวเขาเองก็ไร้ความรู้สึกเช่นกัน

 

 

ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของซีรีส์เกาหลีคือ การลงลึกในรายละเอียดของตัวละคร ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายร้าย เราจะได้เห็นปมปัญหา ประสบการณ์ชีวิต ความเชื่อ สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดูที่ทำให้ตัวละครนั้นๆ คิดและทำอะไรในปัจจุบัน Flower of Evil ก็เช่นกัน บทซีรีส์ให้น้ำหนักในการอธิบายพื้นฐานตัวละครโทฮยอนซู และอาการไซโคพาธของเขาผ่านหลายฉาก รวมถึงการที่ ชาจีวอน ภรรยาตำรวจเริ่มรื้อคดีเก่ามาสืบสวน และพบหลักฐานว่าสามีตัวเองอาจจะเป็นคนเดียวกับโทฮยอนซู ลูกชายฆาตกรต่อเนื่อง 

 

การลงไปสืบคดีนี้ทำให้ชาจีวอนได้ปะติดปะต่อชีวิตวัยเด็กของโทฮยอนซูเข้าด้วยกัน ได้ไปถึงบ้านที่พวกเขาอยู่มีชั้นใต้ดินที่ใช้เป็นที่กักขังเหยื่อ รวมทั้งได้ดูวิดีโอเทปที่อัดการให้คำปรึกษาโทฮยอนซูในวัยเด็กที่ได้รับวินิจฉัยว่ามีอาการต่อต้านสังคม

 

“ไซโคพาธจะดูแลสิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอกว่าตัวเองไม่ได้ แต่โทฮยอนซูเลี้ยงหมามาเป็นสิบปี และเลี้ยงลูกสาวให้เติบโตมาได้อย่างดี” นี่คือเหตุผลแรกที่ ชาจีวอน พูดขึ้นมา ซึ่งเป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่เธอจะยังไม่ปักใจเชื่อว่าสามีเป็นไซโคพาธ และยังคงสืบคดีต่อไปด้วยความคิดว่า “ฉันเชื่อในสิ่งที่เห็นเท่านั้น”

 

ในอีพี 8 โทฮยอนซูเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง จากที่ไม่มีความรู้สึกอะไรในชีวิต เขาเริ่มมีความต้องการที่จะไม่ยอมให้ตัวตนที่เขาครอบครองอยู่ต้องสูญหายไป ซึ่งตรงกับคำนิยามเกี่ยวกับการรักษาไซโคพาธที่ว่า “การรักษาจะช่วยให้ไซโคพาธพัฒนาความสามารถในการเข้าใจผู้อื่นได้มากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะหายขาดจากไซโคพาธ” ในกรณีนี้การรักษาคือการที่โทฮยอนซูได้อยู่ในครอบครัวพ่อแม่ลูกที่อบอุ่นและมีชีวิตปกติธรรมดาเป็นเวลากว่าสิบปี และแม้เขาจะไม่รู้ว่าความต้องการครอบครองตัวตนนี้เรียกว่าความรักความผูกพัน แต่เขาก็รู้ว่าไม่อยากสูญเสียมันไป

 

 

นอกจากนี้ในช่วงต้นของซีรีส์ ได้มีการปูพื้นความเข้าใจไซโคพาธผ่านคดีฆาตกรรมหญิงชรารายหนึ่ง ซึ่งชาจีวอนไปตามจับคนร้าย ซึ่งเป็นหญิงสาวของมูลนิธิที่ต้องเดินขึ้นบันไดนับร้อยๆ ขั้นทุกวัน เพื่อไปปั้นหน้ายิ้มอยู่เป็นเพื่อนหญิงชรา เพียงเพราะเธอเป็นผู้บริจาคคนสำคัญของมูลนิธิ ตัวละครที่ถูกจับกุมในซีรีส์เป็นคำอธิบายที่ค่อนข้างชัดเจนเกี่ยวกับไซโคพาธ คือไม่รู้สึกผิดกับการกระทำ เพราะเธอยอมรับว่าเป็นฆาตกรอย่างไม่สะทกสะท้าน, ขอแต่งหน้าก่อนจะถูกใส่กุญแจมือ, ฆ่าคนตายได้เพียงเพราะหงุดหงิดกับการต้องขึ้นบันไดนับร้อยขั้นทุกวัน โดยเธอได้บอกกับชาจีวอนว่า “คนรอบๆ ตัวเรา 3% เป็นไซโคพาธ ไม่แน่ว่าคนใกล้ตัวคุณก็อาจจะเป็น”

 

สุดท้ายซีรีส์ Flower of Evil ยังไม่ได้เฉลยปมคดีฆาตกรรม ซึ่งยังคงเป็นสิ่งที่เราต้องติดตามต่อไป แต่ประเด็นที่ซีรีส์นำเสนอ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมเข้าใจไซโคพาธมากขึ้น เพราะไซโคพาธไม่ใช่อาการด้านลบเสมอไป ในหลายครั้งคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไซโคพาธยังคงทำงานและอยู่ร่วมกับสังคมได้ปกติ เพราะการไม่มีความรู้สึกของเขาสอดคล้องกับหน้าที่ที่ทำ เช่น ผู้นำ ตำรวจ เจ้าหน้าที่กระบวนการยุติธรรม แพทย์ผ่าตัด ทหาร เป็นต้น

 

นอกจากนี้ไซโคพาธในซีรีส์ Flower of Evil ยังบอกเล่าชุดความจริงหนึ่งที่ว่า ถ้าฆาตกรสุดอำมหิตเป็นไซโคพาธ ลูกๆ ของพวกเขาก็มีโอกาสเป็นไซโคพาธจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าอาชญากรทุกคนจะเป็นไซโคพาธ และเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าไซโคพาธทุกคนจะก่ออาชญากรรม

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

FYI

ไม่ใช่แค่ในซีรีส์เกาหลี โลกฝั่งฮอลลีวูดก็มีตัวละครมากมายที่สะท้อนภาพความเป็นไซโคพาธ รวมถึงบุคลิกต่อต้านสังคมอยู่จำนวนไม่น้อย ที่เห็นชัดๆ อย่างเช่น ฮันนิบาล เล็กเตอร์, โจ๊กเกอร์, เชอร์ล็อก โฮล์มส์, เอมี ดันน์ จาก Gone Girl

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising