วันนี้ (8 เมษายน) อนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นเงินทั้งสิ้น 370,390,200 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการจัดทำระบบเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
สาระสำคัญของโครงการ
– ติดตั้งเครื่องตรวจติดตามการเคลื่อนตัวของมวลหินพร้อมอุปกรณ์ 120 สถานี จำนวน 310,840,000 บาท
– จัดทำระบบสารสนเทศดิจิทัลธรณีพิบัติภัยแผ่นดินถล่ม จำนวน 40,351,000 บาท
– เสริมสร้างประสิทธิภาพในการเตรียมพร้อมรับมือธรณีพิบัติภัยแผ่นดินถล่มด้วยการสร้างภาคีเครือข่าย จำนวน 19,199,200 บาท
พื้นที่ดำเนินการ พื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา กระบี่ และภูเก็ต และพื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มประเทศไทย มีระยะเวลาดำเนินการ มีแผนระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี เพื่อติดตั้งเครื่องตรวจติดตามการเคลื่อนตัวของมวลดิน ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินถล่มระดับสูง – สูงมาก รายลุ่มน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าแผ่นดินถล่มและการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งสามารถสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายและการบริหารจัดการความเสี่ยงจากธรณีพิบัติภัยได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ สามารถลดความสูญเสียจากธรณีพิบัติ
อนุมัติงบกลางสำรองจ่ายฟื้นฟูความเสียหายอุทกภัย 1,182.3 ล้านบาท
อนุกูล เปิดเผยว่า ครม. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (งบกลาง ปี 2568) เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำและฟื้นฟูโครงการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย (โครงการฯ) จำนวน 554 รายการ วงเงิน 1,182,396,800 บาท ตามที่ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
เพื่อซ่อมแซมอาคารและสิ่งปลูกสร้างทางชลประทานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ที่เกิดขึ้นช่วงปลายปี 67 ซึ่งส่งผลทำให้การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรและกิจกรรมอื่น ๆ ไม่มีประสิทธิภาพ และอันตรายที่อาจจะเกิดกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ประชาชนทั่วไปจากการใช้งานอาคารและสิ่งปลูกสร้างทางชลประทานดังกล่าว
รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารและระบบชลประทานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และการใช้งานให้กลับคืนสู่สภาพเดิมหรือมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ครอบคลุมใน 12 จังหวัด ดังนี้
- จังหวัดชุมพร จำนวน 17 โครงการ งบประมาณ 130,020,000 บาท
- จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 37 โครงการ งบประมาณ 19,763,800 บาท
- จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 197 โครงการ งบประมาณ 219,516,000 บาท
- จังหวัดตรัง จำนวน 6 โครงการ งบประมาณ 4,850,000 บาท
- จังหวัดสงขลา จำนวน 98 โครงการ งบประมาณ 308,340,000 บาท
- จังหวัดพัทลุง จำนวน 58 โครงการ งบประมาณ 38,812,000 บาท
- จังหวัดนราธิวาส จำนวน 63 โครงการ งบประมาณ 184,064,000 บาท
- จังหวัดปัตตานี จำนวน 33 โครงการ งบประมาณ 97,051,000 บาท
- จังหวัดยะลา จำนวน 2 โครงการ งบประมาณ 20,900,000 บาท
- จังหวัดระนอง จำนวน 1 โครงการ งบประมาณ 37,000,000 บาท
- จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 41 โครงการ งบประมาณ 67,080,000 บาท
- จังหวัดสตูล จำนวน 1 โครงการ งบประมาณ 55,000,000 บาท
รวมทั้งสิ้นจำนวน 554 โครงการ งบประมาณ 1,182,396,800 บาท
ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พื้นที่ 3 จชด.ตั้งแต่ 20 เม.ย.- 19 ก.ค.68
อนุกูลเปิดเผยว่า ครม. มีมติเห็นชอบตามที่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ ให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ ดังนี้
– จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอยี่งอ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน
– จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ และอำเภอแม่ลาน
– จังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง อำเภอยะหา อำเภอรามัน อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง
ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2568 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2568 ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาครั้งที่ 80
ครม. รับทราบข้อเสนอการแต่งกายของผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ
อนุกูลกล่าวว่า ครม. รับทราบข้อเสนอแนะกรณีการแต่งกายของผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสนอ และมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณา ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
อนุชากล่าวอีกว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศถูกบังคับให้สวมกางเกง ไม่ได้รับอนุญาตให้แต่งกายตามเพศสภาพและใส่เสื้อชั้นในเพื่อปกปิดอวัยวะสำคัญทั้งที่ทำศัลยกรรมเสริมหน้าอกแล้วเป็นเหตุให้ถูกคุกคามหรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศ
มีข้อเสนอแนะให้มีการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับแนวคิดเพศวิถีแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติเร่งผลักดันนโยบายการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีให้แตกต่างจากนักโทษเด็ดขาดและให้ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีมีสิทธิและเสรีภาพที่จะพิจารณาความเหมาะสมของการแต่งกายเองได้ และแก้ไขปรับปรุงระเบียบกรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับเครื่องแต่งกายสำหรับผู้ต้องขังและการดำเนินการเกี่ยวกับการอนามัยและการสุขาภิบาลของผู้ต้องขัง ให้คำนึงถึงการรับรองสิทธิในการแต่งกายตามเพศสภาพมากขึ้น เพื่อให้เรือนจำทั่วประเทศ มีแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน