วันนี้ (30 กันยายน) กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ ระบุว่า ประเทศไทยมีฝนน้อย แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ขณะที่แม่น้ำสายหลักทั่วประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีปริมาณน้ำทั้งประเทศ 53,387 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 65% แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 46,950 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 66%
เฝ้าระวังน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง เฝ้าระวังน้ำมาก ได้แก่ บึงบอระเพ็ด, อ่างเก็บน้ำแม่มอก, อ่างเก็บน้ำทับเสลา, อ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์, อ่างเก็บน้ำลำตะคอง, อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง, อ่างเก็บน้ำมูลบน, อ่างเก็บน้ำลำนางรอง, อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล, อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล
ขณะที่เมื่อวานนี้ (29 กันยายน) พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เดินทางตรวจเยี่ยมและติดตามความพร้อมของการบริหารจัดการน้ำ และกล่าวมอบนโยบายในการแก้ไขและบรรเทาปัญหาอุทกภัย ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (เลขาฯ สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. โดยเน้นย้ำให้ สทนช. ประสานการปฏิบัติการคาดการณ์กับกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) เพื่อติดตาม อำนวยการให้ทุกหน่วยทำงานได้สอดคล้องกัน มีการเตรียมการล่วงหน้า ทั้งเรื่องการรับพายุและการช่วยเหลือประชาชน
ขณะที่กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ควบคุมการระบายน้ำลงลำน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์
โดยกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำ จัดจราจรน้ำ การชะลอน้ำเพื่อหน่วงน้ำ หรือผันน้ำเข้าไปพื้นที่ลุ่มต่ำหรือแก้มลิงต่างๆ
ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบภัย กำกับการปฏิบัติแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งแผนการอพยพ พร้อมทั้งเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชน
ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานต้องแจ้งข่าวสารให้ประชาชนทราบล่วงหน้าในระดับหมู่บ้านหรือตำบล และนำผลงานที่ปฏิบัติไปประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ เพื่อให้ประชาชนทราบด้วยและให้เกิดความมั่นใจ