×

น้ำยังท่วม 9 จังหวัดกระทบคนนับแสน ฝนตกต่อเนื่อง เขื่อนเร่งระบายน้ำ สั่ง 34 จังหวัดจับตาสถานการณ์

16.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ฝนตก น้ำทะเลหนุน น้ำในเขื่อนเริ่มเต็ม ส่งให้ระดับแม่น้ำต่างๆ สูงขึ้นจนล้นตลิ่งเข้าท่วมในหลายพื้นที่
  • น้ำยังท่วมใน 9 จังหวัด และจากสถานการณ์ล่าสุดอีกกว่า 34 จังหวัดยังต้องเฝ้าระวัง
  • อิทธิพลจากพายุขนุน ทำให้ฝนยังตกไปจนถึงวันที่ 18 ตุลาคม
  • ระดับน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยายังสูง สั่ง 34 จังหวัดเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ

     ชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ ปริมาณน้ำฝน น้ำท่า รวมทั้งการระบายน้ำเพิ่มของเขื่อนอุบลรัตน์และน้ำทะเลหนุน ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ โดยสถานการณ์น้ำในหลายพื้นที่อยู่ในระดับเฝ้าระวังและระดับวิกฤต โดยเฉพาะบริเวณแม่น้ำที่มีปริมาณน้ำจากทางตอนบนไหลมาสมทบ หรือมีฝนตกในพื้นที่รับน้ำบริเวณลุ่มน้ำ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำในลำน้ำพองและลำน้ำชี ส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง น้ำไหลหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำ และน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำของแม่น้ำสายต่างๆ

 

 

     โดย ปภ. ประสาน 34 จังหวัดริมแม่น้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง น้ำไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลันในช่วงวันที่ 15-30 ตุลาคมประกอบด้วย

     แม่น้ำลาว ได้แก่ เชียงราย แม่น้ำยม ได้แก่ แพร่, พิษณุโลก, สุโขทัย และพิจิตร

     แม่น้ำปิง ได้แก่ เชียงใหม่, ลำพูน, ตาก และกำแพงเพชร

     แม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ นครสวรรค์, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี, นนทบุรี และสมุทรปราการ

     แม่น้ำป่าสัก ได้แก่ เพชรบูรณ์ และลพบุรี

     แม่น้ำสะแกกรัง ได้แก่ อุทัยธานี แม่น้ำท่าจีน ได้แก่ สุพรรณบุรี และนครปฐม

     แม่น้ำชี ได้แก่ หนองบัวลำภู, ชัยภูมิ, ขอนแก่น, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, ยโสธร และกาฬสินธุ์

     แม่น้ำมูล ได้แก่ นครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

 

 

ปริมาณน้ำในเขื่อนวิกฤตหลายแห่ง เร่งปล่อยน้ำเขื่อนอุบลรัตน์

     สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 34 แห่ง ส่วนใหญ่ยังมีปริมาณน้ำอยู่ในภาวะวิกฤต โดยมีเขื่อนที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 อยู่ถึง 20 แห่ง เช่น เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนจุฬาภรณ์, เขื่อนอุบลรัตน์, เขื่อนลำปาว, เขื่อนสิรินธร, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์, เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนขุนด่านปราการชล ฯลฯ

     สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ต้องระบายน้ำออกจากเขื่อนวันละ 46 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะเพิ่มการระบายน้ำต่อเนื่องแบบขั้นบันไดไปจนถึงระดับสูงสุดวันละ 54 ล้านลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 17 ตุลาคม หลังมีน้ำไหลเข้าเขื่อนถึงวันละ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะส่งผลให้พื้นที่ท้ายน้ำได้รับผลกระทบ

 

 

ปภ. สรุปพื้นที่น้ำท่วมเหลือ 9 จังหวัด กระทบคน 1.4 แสนคน

     ปภ. สรุปสถานการณ์อุทกภัย น้ำไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่งจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน และการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 10-15 ตุลาคม ทำให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร, ตาก, พิจิตร, นครสวรรค์, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, ลพบุรี และกาฬสินธุ์ รวม 33 อำเภอ 215 ตำบล 1,230 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 55,814 ครัวเรือน 144,464 คน ผู้เสียชีวิต 3 ราย

     อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีเพียงจังหวัดเดียวคือ กำแพงเพชร ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว

 

 

อยุธยาน้ำท่วมหนักหลายพื้นที่ กระทบเศรษฐกิจท้องถิ่น

     THE STANDARD สำรวจสถานการณ์น้ำท่วมที่ตลาดบ้านแพน อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น ส่งผลให้สลิงประตูระบายน้ำเจ้าเจ็ดขาด ทำให้ประตูระบายน้ำที่ไหลผ่านอำเภอเสนาเปิดไม่ได้ น้ำจึงล้นเข้าท่วมบริเวณด้านหลังตลาดชั้นนอก บริเวณถนนกิตติขจร และถนนแขวัฒนะ ระดับน้ำสูงประมาณ 30 เซนติเมตร

     ล่าสุดสามารถแก้ไขให้ประตูน้ำเจ้าเจ็ดเปิดได้ปกติแล้ว แต่จากสภาพทั่วไปยังมีน้ำท่วมพื้นผิวที่สัญจรไปมาเป็นบางจุด

     THE STANDARD ให้ความสนใจไปที่ตลาดบ้านแพน ตลาดใหญ่ในท้องถิ่น ซึ่งมีร้านค้ามากกว่า 400 ร้าน สถานการณ์ขณะนี้น้ำยังไม่ท่วมเข้าไป

     แต่อย่างไรก็ตามระดับน้ำในแม่น้ำได้สูงกว่าพื้นถนนในตลาดประมาณ 30 เซนติเมตร ทางเทศบาลต้องระดมเครื่องสูบน้ำหลายสิบตัวเร่งระบายน้ำตลอดเวลา เพราะหากน้ำท่วมตลาดจะส่งผลซ้ำเติมต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น เนื่องจากการที่น้ำท่วมเป็นเวลานานก็ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของคนในท้องที่มากพออยู่แล้ว

     สำหรับภาพรวมของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 7 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอผักไห่, เสนา, บางบาล, พระนครศรีอยุธยา, บางปะอิน, บางไทร และบางปะหัน มีผู้เดือดร้อนกว่า 25,000 ครัวเรือน ส่วนใหญ่พื้นที่ถูกน้ำท่วมเป็นชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และลำคลองสายหลักของจังหวัด

 

 

นายกฯ เรียกประชุมด่วนแก้ไขสถานการณ์น้ำ

     วันนี้ (16 ต.ค.) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พล.อ. สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมข้าราชการที่เกี่ยวข้องหารือวงเล็กเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการระบายน้ำ การผันน้ำตะวันตก-ตะวันออก เส้นทางใหม่ระบายน้ำลงอ่าวไทย รวมทั้งแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ประสบอุทกภัยขณะนี้

 

 

พายุขนุน ทำไทยฝนตกไปจนถึง 18 ตุลาคม

     กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเมื่อเวลา 16.00 น. ประจำวันที่ 16 ตุลาคมว่า พายุดีเปรสชันขนุน ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ยแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามและลาวตอนบน โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย

     อย่างไรก็ตาม ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้มีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

     พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เว้นแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนน้อยกว่าภาคอื่นๆ โดยประเทศไทยจะมีฝนตกปกคลุมทั่วประเทศไปจนถึงวันที่ 18 ตุลาคมนี้เป็นอย่างน้อย

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X