Fitch Ratings ประเมินคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารต่างๆ ในไทยจะปรับตัวแย่ลงในปีนี้ เป็นสมมติฐานกรณีฐาน (Base Case) เนื่องจากระดับหนี้ที่สูง แต่ยืนยันว่าเงินทุนและสภาพคล่องธนาคารไทยมี ‘เสถียรภาพ’ พร้อมทั้งมองว่าปีนี้ภาคธนาคารไทยน่าจะมีผลการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น
วานนี้ (31 มีนาคม) จินดารัตน์ สิริสิทธิโชติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินของฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวในงานสัมมนาของฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ในหัวข้อ Thailand’s Economic and Bank Outlook ว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะมีผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2566 เนื่องจากการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลงและสินเชื่อที่เติบโตสูงขึ้น พร้อมทั้งมองว่าสภาพแวดล้อมการดำเนินงานของธนาคารในประเทศไทยอยู่ในระดับ ‘มีเสถียรภาพ’ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่
- การเติบโตทางเศรษฐกิจ โดย Fitch เพิ่งปรับประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) เป็น 4.0% จาก 3.8% จากการคาดการณ์ที่ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวน่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นโดยได้แรงหนุนจากการเปิดประเทศของจีน
- อัตราการว่างงานที่ต่ำ ได้ช่วยสนับสนุนความสามารถในการชำระหนี้
- อันดับเครดิตของประเทศไทย (Sovereign Rating) ที่ BBB+ ซึ่งบ่งชี้สถานะของรัฐบาลในการสนับสนุนผ่านงบประมาณรายจ่ายต่างๆ
ความเสี่ยงต่อการดำเนินงานของธนาคารไทย
อย่างไรก็ตาม Fitch ยังมองว่าการดำเนินงานของธนาคารในประเทศไทยยังมีความเสี่ยงเชิงลบ (Downside Risks) อยู่จาก ‘ระดับหนี้’ ที่สูงในปัจจุบัน โดยการชะลอตัว GDP ในช่วงที่โควิดระบาด ส่งผลให้ระดับหนี้ของภาคเอกชนต่อ GDP ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งหมายความว่าคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารจะมีความเปราะบางมากขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขเศรษฐกิจ
คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารไทยจ่อแย่ลงในปีนี้
จินดารัตน์เปิดเผยว่า สมมติฐานกรณีฐาน (Base Case) ของ Fitch คาดการณ์ว่าคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารต่างๆ จะปรับตัวแย่ลงในปีนี้ แม้ระดับ NPL ยังดูมีเสถียรภาพอยู่ อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงจากสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างอยู่ (Restructured Loans) ที่มีโอกาสจะกลับมาเป็น NPL อีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่เรามองว่ามีความเสี่ยงสูงที่สุด เนื่องจากยังคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดในโครงสร้างสินเชื่อทั้งหมด
นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทยอยหมดอายุลง และการที่ธนาคารทยอยลดสัดส่วนสินเชื่อที่ได้รับการปรับโครงสร้าง เนื่องจากพิจารณาว่ามีแนวโน้มไม่สามารถชำระหนี้ได้มากขึ้น
“ในแต่ละธนาคารที่มี Business Model แตกต่างกันไปก็จะมีความเสี่ยงแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่อ SMEs มากกว่าค่าเฉลี่ย หรือยอมรับความเสี่ยงมากขึ้น เช่น การขยายสินเชื่อเยอะๆ ในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย ก็จะส่งผลให้มีแรงกดดันมากขึ้นต่อคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร” จินดารัตน์กล่าว
กระนั้นก็ยังมีปัจจัยบรรเทาความเสี่ยงอยู่ นั่นคือหลายๆ ธนาคารเริ่มใช้มาตรการเชิงป้องกันในการตั้งสำรองสินเชื่อด้วยคุณภาพเพิ่มขึ้น
ความสามารถในการทำกำไรน่าจะ ‘ปรับตัวดีขึ้น’
สำหรับความสามารถในการทำกำไรของธนาคารไทย Fitch มองว่าน่าจะ ‘ปรับตัวดีขึ้น’ เนื่องจากประการต่างๆ ดังนี้
- สภาพแวดล้อมในการดำเนินการของธนาคารที่ดีขึ้น
- การขยายตัวของสินเชื่อน่าจะส่งผลบวกต่อรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคาร
- การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยก็น่าจะสนับสนุนส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ซึ่งเป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความสามารถในการหารายได้ของธนาคารพาณิชย์
- การตั้งสำรองที่เริ่มลดลงก็จะช่วยสนับสนุนความสามารถในการทำกำไรด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม Fitch ยังมองว่าความสามารถในการทำกำไรในระยะยาวของธนาคารไทยยังคงอ่อนแออยู่เมื่อเทียบกับช่องก่อนโควิด นอกจากนี้ แม้การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยก็น่าจะสนับสนุนส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ให้เพิ่มขึ้น แต่ก็อาจส่งผลลบต่อมูลค่าเงินลงทุนของธนาคารด้วยเช่นกัน
เงินทุนและสภาพคล่องธนาคารไทยมีเสถียรภาพ
ธนาคารไทยถือว่ามีเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับ ‘เสถียรภาพ’ โดยในช่วงที่ตลาดเกิดดิสรัปชัน ตัวอย่างเช่นในปี 2563 ก็มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนไปยังเงินฝากมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ทำให้ระดับเงินฝากปรับตัวเพิ่มขึ้น
โดยธนาคารไทยยังคงมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง เช่น ในด้านเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่นับเป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1: CET1) ซึ่งอยู่ที่ 15.3% และอัตราส่วนสำรองต่อหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 171% ณ สิ้นปี 2565
นอกจากนี้ Fitch ยังคาดว่าฐานะสภาพคล่องของธนาคารไทยจะยังคงมีเสถียรภาพ
เนื่องจากธนาคารไทยส่วนใหญ่มีการระดมเงินจากเงินฝาก โดยไม่ได้พึ่งพาการระดมเงินจากตลาดทุนหรือจากต่างประเทศในระดับที่มีนัยสำคัญ
ทั้งนี้อัตราส่วนของปริมาณสินทรัพย์สภาพคล่องทั้งสิ้นต่อประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิ (Liquidity Coverage Ratio: LCR) เฉลี่ยของอุตสาหกรรมยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 192% ณ สิ้นปี 2565
แนวโน้มในอนาคตธนาคารไทย
Fitch ระบุอีกว่า สำหรับประเด็นที่ควรจับตามองสำหรับภาคธนาคารไทยแบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้
- ระยะใกล้ คือ ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ เนื่องจากประเด็นเรื่องหนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูง และแรงกดดันในการสร้างผลกำไรให้เพียงพอ เพื่อรองรับความเสี่ยงด้านตลาดและคุณภาพของสินเชื่อ
- ระยะกลาง-ยาว คือ ความท้าทายเชิงกลยุทธ์ที่จะทำกำไรได้อย่างไรโดยไม่เพิ่มการยอมรับความเสี่ยง (Risk Appetite)
สำหรับประเด็นที่อาจส่งผลกระทบต่อธนาคารไทยในระยะยาวมี 2 ประการ ได้แก่ ธนาคารไร้สาขา (Virtual Banking) ซึ่งเป็นโอกาสในการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินที่นอกเหนือไปจากธนาคารแบบเดิม และแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) จากหน่วยงานกำกับดูแล นักลงทุน และลูกค้า ที่ต้องการให้ธนาคารต่างๆ คำนึงถึง ESG มากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ความท้าทาย ‘ เศรษฐกิจไทย ปี 2566 ’ กับการปรับตัวของภาคธุรกิจ
- ฉวยจังหวะค่าเงินอ่อน ส่องโอกาสลงทุนหุ้นโลก สร้างพอร์ตเติบโตระยะยาว
- ‘ส่วนต่างรายได้’ กับนโยบายรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ