×

Fitch Ratings คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถืออยู่ที่ระดับมีเสถียรภาพ

22.06.2022
  • LOADING...
Fitch Ratings

Fitch Ratings คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

แพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 บริษัท Fitch Ratings (Fitch) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

  1. ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) มีความเข้มแข็ง เป็นผลจากการบริหารจัดการทางการคลังอย่างรอบคอบ โดยมีกรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่ง โดย Fitch คาดว่า ปี 2565 ประเทศไทยจะขาดดุลงบประมาณลดลง เนื่องจากมีการจัดเก็บรายได้ที่มีประสิทธิภาพ และมีมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิดที่ผ่อนคลายขึ้น สำหรับสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาล (General Government Debt) ต่อ GDP ของประเทศไทยปี 2565 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 55.4% ต่อ GDP ซึ่งอยู่ในระดับค่ากลางเดียวกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน (Peers) โดยจะสูงขึ้นเป็น 56.6% ต่อ GDP ในปี 2569 

 

อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยจะสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีแนวทางการบริหารจัดการทางการคลังอย่างรอบคอบ และมีหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินบาท ประกอบกับมีตลาดทุนในประเทศที่มั่นคง นอกจากนี้ Fitch คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะขยายตัวที่ 4.5% เนื่องจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและการกลับมาของนักท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 6.5 ล้านคนในปี 2565 เป็น 22 ล้านคนในปี 2566

  

  1. ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) ยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยมีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่เพียงพอสำหรับใช้จ่ายถึง 7.8 เดือน ซึ่งอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับค่ากลางของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน (BBB Peers) ที่ 5.6 เดือน ทั้งนี้ Fitch คาดว่า ปี 2565 ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยจะขาดดุล 1.8% ต่อ GDP ซึ่งลดลงจาก 2.1% ต่อ GDP ในปี 2564 และจะกลับมาเกินดุลที่ 1.0% ต่อ GDP และ 2.8% ต่อ GDP ในปี 2566 และปี 2567 ตามลำดับ จากภาคการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวมากยิ่งขึ้น

 

ทั้งนี้ ประเด็นที่ Fitch ให้ความสนใจและจะติดตามอย่างใกล้ชิดคือ แรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ, สัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP, สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ และความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาครัฐ และการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะปานกลาง

                                                                                                              

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising