หลังจากกรณี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ ส.ส. ของพรรค ลงพื้นที่รับฟังปัญหาประมงที่จังหวัดตราด เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา พร้อมเสนอให้แก้ไข พ.ร.ก. ประมง มาตรา 34, 69, 81 ว่าสังคมไทยจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า การแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายบางมาตรานั้น จะเป็นผลดีหรือส่งเสริมการทำลายล้างทรัพยากรทางทะเล ฝ่าฝืนมาตรฐานแรงงาน และเปิดช่องให้มีการค้ามนุษย์เหมือนในอดีตกันแน่
ล่าสุด (17 มิ.ย.) พล.ท. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า การลงพื้นที่หรือหาประโยชน์ทางการเมืองนอกสภานั้น อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของทรัพยากรและเศรษฐกิจการประมงของชาติโดยไม่รู้ตัว หากศึกษาข้อกฎหมายอย่างแท้จริงจะพบว่า ถ้ายกเลิกมาตรา 81 จะทำให้การประมงกลับไปไร้การควบคุมเหมือนที่ผ่านมา ถ้าไม่มีอุปกรณ์ VMS ก็จะไม่รู้ว่าเรือประมงลำใดออกนอกน่านน้ำ หรือไปทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นกติกาสากล
นอกจากนี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังอธิบายต่อไปว่า การเขียน Logbook ก็มีไว้เพื่อใช้พิสูจน์แหล่งที่มาของสินค้าประมง และยังนำข้อมูลไปจัดสรรวันทำประมงได้ ส่วนการที่เรือประมงต้องแจ้งศูนย์ PIPO นั้น จะช่วยตรวจสอบให้แรงงานเข้าออกอย่างถูกต้อง
สำหรับมาตรา 69 ที่ห้ามจับปลากะตักในเวลากลางคืน ก็เพื่อรักษาปริมาณปลากะตักให้เหมาะสม มีปลาเหลือให้ลูกหลาน เพราะกลางคืนปลากะตักจะรวมเป็นฝูงขนาดใหญ่ หากจับในเวลานี้จำนวนปลาจะลดลงเร็วขึ้น
ส่วนมาตรา 34 ที่ห้ามชาวประมงพื้นบ้านที่ได้รับอนุญาตแล้วออกไปทำประมงนอกชายฝั่ง ขณะนี้ยังไม่มีการบังคับใช้ ชาวประมงพื้นบ้านยังออกไปทำประมงได้ตามปกติ และภาครัฐกับชาวประมงพื้นบ้านกำลังทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: