×

‘IMF’ แนะรัฐบาลทั่วโลกลดการขาดดุลงบประมาณ เพื่อบรรเทาภาวะเงินเฟ้อ ช่วยธนาคารกลางไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วแรงนัก

23.11.2022
  • LOADING...
ธนาคารกลาง

IMF แนะรัฐบาลทั่วโลกลดการขาดดุลงบประมาณ เพื่อบรรเทาภาวะเงินเฟ้อ เป็นการช่วยธนาคารกลางให้ไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงนัก เนื่องจากท่ามกลางภาระหนี้ของภาครัฐและภาคเอกชนที่สูงขึ้น การดำเนินการดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับระบบการเงินได้

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ขณะที่ธนาคารกลางกำลังใช้นโยบายการเงินเป็นเครื่องมือในการปราบเงินเฟ้อ นโยบายการคลังก็สามารถทำให้เศรษฐกิจมีความมั่นคงในระยะยาวผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การดูแลสุขภาพ และการศึกษา การกระจายรายได้และโอกาสที่เป็นธรรม ผ่านระบบภาษี และการจัดบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


นอกจากนี้ IMF ยังชี้ว่า การขาดดุลทางการคลังที่ลดลงสามารถทำให้อุปสงค์โดยรวมและเงินเฟ้อเย็นลงได้ ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารกลางไม่จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากนัก ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยภาวะทางการเงินทั่วโลกและงบประมาณที่ตึงตัว รวมถึงอัตราส่วนหนี้สาธารณะที่สูงกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาด การลดการขาดดุลทางการคลังยังช่วยแก้ปัญหาความเปราะบางของหนี้ได้อีกด้วย

 

ในทางกลับกัน มาตรการกระตุ้นทางการคลังในสภาพแวดล้อมที่อัตราเงินเฟ้อสูงในปัจจุบันจะบีบให้ธนาคารกลางต้องเหยียบเบรกอย่างหนัก เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ โดยท่ามกลางปัญหาหนี้ภาครัฐและภาคเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้น การดำเนินการดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับระบบการเงินได้

 

IMF ยังเปิดเผยงานวิจัยที่ศึกษาการใช้วิธีที่แตกต่างกันในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ โดยวิธีแรก อาศัย ‘การคุมเข้มมาตรการทางการเงินอย่างเดียว’ เพื่อลดความร้อนให้กับเศรษฐกิจ ส่วนวิธีที่สองคือ ‘การคุมเข้มนโยบายการเงินไปพร้อมๆ กับนโยบายการคลัง’ พบว่าทั้งสองวิธีส่งผลกระทบที่คล้ายคลึงกันต่อเศรษฐกิจ และมีประสิทธิภาพในการลดอัตราเงินเฟ้อ 

 

โดยภายใต้วิธีแรก อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงมีส่วนทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน สกุลเงินก็แข็งค่าขึ้น เนื่องจากผลตอบแทนที่สูงขึ้นได้ดึงดูดนักลงทุน

 

ภายใต้แนวทางที่ 2 การเข้มงวดทางการคลังทำให้อุปสงค์เย็นลงโดยไม่จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงจึงอ่อนค่าลง และด้วยต้นทุนการชำระหนี้ที่ลดลงและการขาดดุลที่น้อยลง หนี้สาธารณะจึงลดลง 

 

IMF แนะอีกว่าเมื่อเผชิญกับปัญหาราคาอาหารและพลังงานที่สูง รัฐบาลสามารถปรับปรุงฐานะการคลังของตนได้ โดยเปลี่ยนจากการสนับสนุนในวงกว้างไปสู่การช่วยเหลือผู้เปราะบางที่สุด โดยวิธีที่ดีที่สุดคือการโอนเงินให้กลุ่มเป้าหมาย

 

และเนื่องจากภาวะช็อกของอุปทานนั้นมีระยะเวลายาวนาน ดังนั้นความพยายามที่จะจำกัดการขึ้นราคาด้วยการควบคุมราคา การอุดหนุน หรือการลดภาษีจะสิ้นเปลืองงบประมาณ และ ‘ไม่ได้ผล’ ในที่สุด นอกจากนี้ การปล่อยให้กลไกราคาเคลื่อนไหวเองยังเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนในพลังงานหมุนเวียนด้วย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising