×

นักดาราศาสตร์อาจพบหลักฐานดวงจันทร์ดวงแรก ที่โคจรรอบดาวเคราะห์ในระบบดาวอื่น

13.10.2024
  • LOADING...
นักดาราศาสตร์ ดวงจันทร์

นักดาราศาสตร์อาจพบหลักฐานของดวงจันทร์บริวาร ที่โคจรรอบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรก ในระบบดาวที่อยู่ห่างโลกไป 635 ปีแสง จากการศึกษาพฤติกรรมของดวงจันทร์ไอโอที่โคจรรอบดาวพฤหัสบดี

 

ในปัจจุบันนักดาราศาสตร์ยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีดวงจันทร์โคจรรอบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ เนื่องจากดวงจันทร์เหล่านี้อาจมีขนาดเล็กเกินกว่าที่เทคโนโลยีบนโลกในปัจจุบันจะตรวจจับได้ แต่ข้อมูลล่าสุดของการสำรวจดาวเคราะห์ WASP-49b อาจบ่งชี้ถึงการมี ‘ดวงจันทร์’ โคจรรอบดาวดวงนี้

 

WASP-49b เป็นดาวเคราะห์ก๊าซขนาดใกล้เคียงกับดาวพฤหัสบดี ถูกค้นพบด้วยวิธีอุปราคา (Transit) เมื่อปี 2012 โคจรรอบดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์อย่างใกล้ชิด โดยหนึ่งปีบนดาวดวงนี้เท่ากับเวลา 2.8 วันบนโลก และนักดาราศาสตร์ตรวจพบกลุ่มเมฆของโซเดียมในระบบดาวนี้เป็นครั้งแรกในปี 2017

 

เหตุที่การค้นพบครั้งนี้ได้รับความสนใจเป็นเพราะทั้งดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ WASP-49b ประกอบด้วยไฮโดรเจนและฮีเลียมเป็นหลัก แม้อาจมีองค์ประกอบของโซเดียมเล็กน้อย แต่ไม่เทียบเท่ากับปริมาณที่ตรวจพบในกลุ่มเมฆนี้ ซึ่งนักดาราศาสตร์คำนวณว่ามาจากแหล่งกำเนิดที่ปล่อยโซเดียมมากกว่า 100,000 กิโลกรัมต่อวินาทีด้วยกัน

 

เมื่อเทียบข้อมูลกับดวงจันทร์ไอโอของดาวพฤหัสบดีที่เต็มไปด้วยภูเขาไฟกำลังปะทุอยู่ในปัจจุบัน และพ่นก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โซเดียม โพแทสเซียม รวมถึงก๊าซต่างๆ ออกมาเป็นหมู่เมฆห้อมล้อมรอบดาวพฤหัสบดี ทำให้เป็นไปได้ว่านักดาราศาสตร์อาจพบหลักฐานของดวงจันทร์แห่งภูเขาไฟคล้ายไอโอ กำลังโคจรอยู่รอบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงนี้

 

งานวิจัยล่าสุดโดย Apurva Oza นักวิจัยแห่ง Jet Propulsion Laboratory พบหลักฐานบ่งชี้ว่ากลุ่มเมฆเหล่านี้ควรเกิดจากวัตถุอื่นที่กำลังโคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ ไม่ว่าจะเป็นทิศทางการเคลื่อนที่ หรือความเร็วเมื่อเทียบกับดาวเคราะห์ โดยคณะวิจัยใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ Very Large Telescope ของ ESO และพบว่ากลุ่มเมฆโซเดียมนี้อยู่สูงจากบรรยากาศของดาว WASP-49b ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับกลุ่มเมฆจากดวงจันทร์ไอโอของดาวพฤหัสบดี

 

นอกจากนี้ คณะวิจัยได้สร้างโมเดลจำลองจากข้อมูลที่มีอยู่ ก่อนพบว่าดวงจันทร์ขนาดเล็กที่มีคาบการโคจร 8 ชั่วโมงรอบดาวเคราะห์ WASP-49b จะช่วยอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้อย่างพอดี ทั้งการเคลื่อนที่ของเมฆ และการโผล่ไปมาในตำแหน่งต่างๆ อย่างไม่สอดคล้องกับตัวของดาวเคราะห์

 

อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ยังไม่สามารถด่วนสรุปได้ว่านี่คือการค้นพบดวงจันทร์ของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรก โดยคณะวิจัยต้องการศึกษาระบบดาวดังกล่าวเป็นระยะเวลายาวนานยิ่งขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่ากลุ่มเมฆเหล่านี้มาจากดวงจันทร์จริง และไม่ใช่ปรากฏการณ์จากตัวดาวเคราะห์หรือดาวฤกษ์

 

Rosaly Lopes นักธรณีวิทยาดาวเคราะห์ของ JPL ให้ความเห็นว่า “การตรวจพบดวงจันทร์ของดาวเคราะห์นอกระบบฯ จะเป็นเรื่องที่พิเศษมากๆ และข้อมูลจากดวงจันทร์ไอโอทำให้เราทราบว่าดวงจันทร์ที่อุดมด้วยภูเขาไฟนั้นมีอยู่ได้จริง โดยหลักฐานที่เรามีในปัจจุบันมันค่อนข้างบ่งชี้ว่า สิ่งอื่นนอกจากตัวดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ที่กำลังผลิตกลุ่มเมฆเหล่านี้ขึ้นมา”

 

งานวิจัยการค้นพบดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Astrophysical Journal Letters เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา

 

ภาพ: NASA / JPL

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising