ค่ำวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 กรมควบคุมโรคแถลงพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิงรายแรกของไทย เป็นชาวต่างชาติที่ จ.ภูเก็ต โดยเริ่มสอบสวนโรคมาตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม สถานการณ์การระบาดของโรคนี้น่ากังวลแค่ไหน และผลการสอบสวนโรคผู้ป่วยรายแรกบอกอะไรบ้าง
ผู้ป่วยฝีดาษลิงรายแรกของไทย
ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรายแรกของไทยเป็นชายชาวไนจีเรีย อายุ 27 ปี อาชีพนักธุรกิจ เดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2564 เริ่มป่วยวันที่ 9 กรกฎาคม 2565 มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีผื่นลักษณะตุ่มนูนแดง ตุ่มหนอง เริ่มจากอวัยวะเพศ ลามไปใบหน้า ลำตัว และแขน
วันที่ 16 กรกฎาคม เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนใน จ.ภูเก็ต อุณหภูมิร่างกาย 38.1 องศาเซลเซียส แพทย์ตรวจพบต่อมน้ำเหลืองโตที่บริเวณขาหนีบทั้ง 2 ข้าง สงสัยโรคฝีดาษลิง จึงเก็บตัวอย่างจากผื่น ลำคอ และเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ รักษาแบบผู้ป่วยนอก และแนะนำให้กักตัวที่คอนโดมิเนียม
วันที่ 18 กรกฎาคม ผลการตรวจ PCR ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบเชื้อไวรัสฝีดาษลิง และในวันถัดมายืนยันผลการตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วันที่ 21 กรกฎาคม กรมควบคุมโรคแถลงว่าพบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษลิงที่ จ.ภูเก็ต เป็นรายแรกของประเทศไทย
ถ้าคุ้นเคยกับโรคโควิด กรมควบคุมโรคจะแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 ประเภท คือ ผู้ป่วยนำเข้า (Imported Case) เป็นผู้ที่ติดเชื้อจากต่างประเทศแล้วเดินทางเข้ามาในประเทศไทย กับผู้ป่วยในประเทศ (Locally Transmitted Case) เป็นผู้ที่ติดเชื้อภายในประเทศ นั่นคือมีแหล่งโรคภายในประเทศแล้ว
และถ้าฟังจากที่กรมควบคุมโรคแถลงข่าวเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม บอกว่ามีประวัติเดินทางมาจากไนจีเรีย ซึ่งอยู่ในแถบแอฟริกาตะวันตกและเคยมีการระบาดของโรคฝีดาษลิงเมื่อ 5 ปีก่อน อาจทำให้คิดว่าเคสนี้เป็น ‘ผู้ป่วยนำเข้า’ และระบบเฝ้าระวังของไทยตรวจจับได้เป็นอย่างดี
แต่พอฟังข้อมูลเพิ่มเติมจากการแถลงข่าวจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตเมื่อวาน (22 กรกฎาคม) หลายคนคงเกิดความสงสัยเหมือนกันว่าน่าจะเป็น ‘ผู้ติดเชื้อในประเทศ’ มากกว่า เพราะเดินทางเข้าประเทศไทยมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และอาศัยอยู่ที่ภูเก็ตตั้งแต่พฤศจิกายน 2564
โรคฝีดาษลิงมีระยะฟักตัว 5-21 วัน ข้อมูลจากการสอบสวนโรคที่เนเธอร์แลนด์ในปีนี้พบว่ามีระยะฟักตัวเฉลี่ย 8.5 วัน (อยู่ระหว่าง 4.2-17.3 วัน) ใกล้เคียงกับข้อมูลเดิม นั่นคือ เมื่อผู้สัมผัสได้รับเชื้อจะเริ่มมีอาการอย่างเร็วที่สุดภายใน 5 วัน และอย่างช้าสุดประมาณ 3 สัปดาห์
ดังนั้น ‘ผู้ป่วยนำเข้า’ จะต้องมีอาการภายใน 5 วันนับจากวันที่เดินทางเข้าประเทศ แต่ถ้ามีอาการหลังจากนั้นจะต้องสอบสวนโรคเพิ่มเติม แต่เคสนี้อาศัยอยู่ที่ภูเก็ตมานาน และมีประวัติเที่ยวสถานบันเทิงในช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อน ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็น ‘ผู้ติดเชื้อภายในประเทศ’
แล้วผู้ติดเชื้อรายแรกจริงๆ เป็นใคร คงต้องฝากความหวังไว้ที่ทีมสอบสวนโรคของหน่วยงานด้านสาธารณสุขว่าจะสามารถตามรอยย้อนกลับไปได้หรือไม่ และในเมื่อเคสนี้ไม่ใช่ผู้ป่วยรายแรก (Primary Case) ก็อาจมีผู้ติดเชื้อรายอื่นๆ ในพื้นที่และยังไม่ได้เข้ารับการตรวจรักษา
ผลการติดตามผู้สัมผัสและค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงผลการสอบสวนโรคเบื้องต้น พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 คน เป็นเพื่อนกับผู้ป่วย ไม่มีอาการป่วย ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อฝีดาษลิง อยู่ระหว่างการสังเกตอาการตนเอง 21 วัน
และค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในสถานบันเทิง 2 แห่งที่ผู้ป่วยเคยไปเที่ยว 142 คน พบผู้มีอาการไข้ เจ็บคอ 6 ราย ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 5 รายไม่พบเชื้อ (อีก 1 รายไปต่างประเทศแล้ว) นอกจากนี้ยังค้นหาผู้สัมผัสในโรงแรม และสถานบันเทิงแห่งอื่นเพิ่มเติม รวมทั้งการกำจัดเชื้อในห้องพักและคอนโดของผู้ป่วย
ผู้ป่วยแพร่เชื้อในระยะที่มีอาการ โดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต ผื่นขึ้นหลังจากมีไข้ 1-3 วัน พบที่บริเวณแขน ขา และใบหน้ามากกว่าบริเวณลำตัว แต่สามารถพบได้ที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ปาก อวัยวะเพศ และรอบทวารหนัก ลักษณะผื่นเริ่มจาก
- ผื่นราบ
- ผื่นนูน
- ตุ่มน้ำใส
- ตุ่มหนอง
- ตุ่มหนองมีหลุมดำตรงกลาง
- ตุ่มตกสะเก็ดภายใน 2-4 สัปดาห์
ไวรัสฝีดาษลิงติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่ในการระบาดรอบนี้ติดต่อจากคนสู่คนเป็นหลัก คือ ติดต่อผ่านการสัมผัสผื่น / แผลหรือเสื้อผ้า / ของใช้ส่วนตัวของผู้ป่วย เช่น ผิวหนังกับผิวหนัง ปากกับปาก ปากกับผิวหนัง รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ (แต่ยังไม่พบว่าติดต่อผ่านสารคัดหลั่งทางระบบสืบพันธุ์)
ประชาชนทั่วไปจึงมีโอกาสติดเชื้อต่ำ และการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างจึงมีโอกาสน้อย แต่โรคนี้สามารถแพร่ผ่านละอองทางเดินหายใจขนาดเล็ก เช่น น้ำลาย การป้องกันตัวนอกจากการหลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวผู้อื่น และการล้างมือบ่อยๆ แล้วยังคล้ายกับโรคโควิด คือ การสวมหน้ากากอนามัย
อาชีพที่ต้องระมัดระวัง คือ พนักงานบริการ (Sex Worker) หรือนวด / สปา แม่บ้านทำความสะอาด และอาชีพอื่นๆ ที่ใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยว ถึงแม้ในต่างประเทศจะพบการระบาดเป็นคลัสเตอร์ในกลุ่มชายรักชาย แต่ทุกเพศทุกวัยสามารถติดเชื้อได้ จึงไม่ควรตีตราหรือเลือกปฏิบัติกับคนกลุ่มนี้
สายพันธุ์ของไวรัสบอกอะไรบ้าง
ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่า การระบาดของฝีดาษลิงในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ B.1 พบในกลุ่มที่มีความเสี่ยงติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ผู้ไปตรวจที่คลินิกกามโรค ผู้ที่ใช้เพร็พ (PrEP) เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี
ส่วนสายพันธุ์ของผู้ป่วยเป็นสายพันธุ์ A.2 ซึ่งอยู่ในสายพันธุ์หลักเดียวกัน และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำ
ขยายความคือ สายพันธุ์ A.2 และ B.1 จัดอยู่ใน Clade 3 เหมือนกัน และเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก มีความรุนแรงต่ำกว่าสายพันธุ์แอฟริกากลาง 10 เท่า (อัตราป่วยตาย 1%) และในการระบาดครั้งนี้ยังไม่พบผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ A.2 ใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่ระบาดในสหรัฐอเมริกา
สถานการณ์การระบาดทั่วโลก
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Ourworldindata.org ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา ทั่วโลกพบผู้ป่วยยืนยันแล้ว 12,608 ราย จากทั้งหมด 66 ประเทศ ประเทศที่พบผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ
- สเปน 2,835 ราย
- สหรัฐอเมริกา 1,813 ราย
- เยอรมนี 1,859 ราย
- อังกฤษ 1,778 ราย
- ฝรั่งเศส 908 ราย
ฝั่งเอเชียที่พบผู้ป่วยแล้ว ได้แก่ สิงคโปร์ 6 ราย (เป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 3 ราย), ไต้หวัน 2 ราย, เกาหลีใต้ 1 ราย, อินเดีย 1 ราย (มีประวัติเดินทางกลับมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) และล่าสุดคือไทย ซึ่งอาจแปลกใจมากกว่าถ้ายังไม่พบผู้ติดเชื้อ เพราะเป็นประเทศที่ชาวต่างชาตินิยมมาท่องเที่ยว
มาตรการในประเทศไทย
ประเทศไทยเริ่มเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงมาตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ โรงพยาบาล คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากพบผู้เข้าเกณฑ์ ‘ผู้ป่วยสงสัย’ (Suspected Case) แพทย์จะเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ 2 แห่งเพื่อยืนยันการติดเชื้อ
ถ้ายังจำได้ในช่วงแรกของโควิดก็เป็นเช่นนี้ คือ ยังไม่พบการระบาดในประเทศ ห้องปฏิบัติการที่ส่งตรวจได้ยังมีน้อย กรมควบคุมโรคกำหนดเกณฑ์ว่าใครควร / ไม่ควรตรวจหาเชื้อ ปัจจุบันเกณฑ์ดังกล่าวใช้ว่าผู้ป่วยจะต้องมีอาการร่วมกับประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา ดังนี้
อาการ ได้แก่
- ไข้ ร่วมกับอาการอย่างน้อย 1 อาการ ได้แก่ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองบวมโต หรือ
- มีผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนัง ตามใบหน้า ศีรษะ ลำตัว อวัยวะเพศและรอบทวารหนัก แขน ขา หรือฝ่ามือ ฝ่าเท้า เป็นผื่นหรือตุ่มลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง หรือตุ่มตกสะเก็ด
ประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยาใน 21 วันที่ผ่านมา ได้แก่
- เดินทางมาจากต่างประเทศและแพทย์สงสัยโรคฝีดาษลิง หรือ
- เดินทางไปร่วมงานหรือกิจกรรมที่เคยมีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง หรืออาชีพที่สัมผัสคลุกคลีกับผู้เดินทางจากต่างประเทศ หรือ
- สัมผัสสัตว์ฟันแทะหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่มีต้นกำเนิดมาจากทวีปแอฟริกา
ถ้าเข้าเกณฑ์ข้างต้น ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลรัฐใกล้บ้านเพื่อตรวจหาเชื้อ โดยระหว่างรอผลจะต้องแยกตัวจากผู้อื่น หากยืนยันว่าติดเชื้อจะได้รับการรักษาและแยกตัวในโรงพยาบาลจนพ้นระยะแพร่เชื้อ แต่เนื่องจากโรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย จึงไม่สามารถใช้กฎหมายบังคับได้
กรณีเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คือ สัมผัสโดยตรงกับตุ่มผื่นของผู้ป่วย รวมทั้งเสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัวของผู้ป่วย จะต้องสังเกตอาการตนเอง 21 วัน (ไม่ต้องกักตัวเหมือนโควิด) หากเริ่มมีอาการไข้ ไอ ตุ่มผื่นขึ้น ให้ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจรักษา และเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
โดยสรุป ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรายแรกของไทยเป็นชาวไนจีเรียที่เข้าประเทศมาตั้งแต่ปีก่อน จึงน่าจะเป็น ‘ผู้ติดเชื้อภายในประเทศ’ หน่วยงานสาธารณสุขกำลังสอบสวนโรคและค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม ส่วนการติดตามผู้ป่วยที่หลบหนีต้องอาศัยตำรวจและการประสานงานระหว่างประเทศ
สายพันธ์ุที่พบมีความรุนแรงต่ำ และติดต่อผ่านการสัมผัสตุ่ม ผื่น หรือของใช้เป็นหลัก การติดเชื้อในคนทั่วไปจึงไม่ง่าย แต่ที่ต้องระมัดระวัง คือ คนที่ทำงานใกล้ชิดนักท่องเที่ยวต่างชาติ หากมีอาการไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต หรือตุ่มหนองขึ้นตามร่างกาย ควรไปปรึกษาแพทย์และตรวจหาเชื้อ
อ้างอิง:
- สธ. เผยผลสอบสวนโรค ‘ผู้ป่วยฝีดาษวานร’ รายแรก ตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงสูงยังไม่พบติดเชื้อเพิ่ม https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/04/176575/
- แนวทางการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคฝีดาษวานร (Monkeypox) https://ddc.moph.go.th/monkeypox/file/guidelines/g_medical/guidelines_050765.pdf
- Monkeypox: For health professionals https://www.canada.ca/en/public-health/services/diseases/monkeypox/health-professionals.html
- Phylogenomic characterization and signs of microevolution in the 2022 multi-country outbreak of monkeypox virus https://www.nature.com/articles/s41591-022-01907-y