ถึงแม้ว่าแผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของไทยจะนิ่งมาระยะหนึ่งแล้ว แต่แผนการกระจายและฉีดวัคซีนโควิด-19 เปลี่ยนค่อนข้างบ่อย ผู้เขียนติดตามการแถลงข่าวของ ศบค. เกือบทุกวันยังต้องเปิดคลิปย้อนหลังฟังอีกรอบ ประชาชนทั่วไปน่าจะสับสนกันอยู่ไม่น้อย
เมื่อวาน (31 มีนาคม) ศบค. เพิ่งแถลงแผนใหม่อีกครั้ง จึงขอเรียบเรียงแผนทั้งหมดให้เข้าใจง่ายขึ้นดังนี้
บุคคล-สถานที่-เวลา เป็นกรอบการอธิบายการกระจายของโรคทางระบาดวิทยา เมื่อต้องกระจายวัคซีนเพื่อป้องกันโรคก็จะใช้กรอบเดียวกันในการวางแผนว่าจะให้ใคร? ที่ไหน? และเมื่อไร? โดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรืออาการรุนแรง และความเสี่ยงต่อการระบาดเป็นวงกว้าง
แต่อีกด้านหนึ่งวัคซีนยังมีจำนวนจำกัด ตามแผนการจัดหาวัคซีนในปี 2564 คือ 63 ล้านโดส แบ่งเป็นวัคซีน Sinovac 2 ล้านโดส และวัคซีน AstraZeneca 61 ล้านโดส (+117,000 โดสที่เข้ามาก่อนในเดือนกุมภาพันธ์) แต่ละคนต้องฉีด 2 โดส เท่ากับจะมีประชากรประมาณ 50% ที่ได้รับวัคซีน
ขอหมายเหตุตรงนี้ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยโพสต์ข้อความบนแฟนเพจเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ว่า สำหรับคนไทยจะได้ฉีดวัคซีนฟรีทุกคน แปลว่าทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีนฟรี แต่รัฐบาลจะฉีดวัคซีนให้ครบทุกคนเมื่อใดยังต้องติดตามกันต่อไป
ใคร? ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีน
วัตถุประสงค์ของการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยมี 3 ข้อ คือ
(1) เพื่อลดอัตราการป่วยและตาย
(2) เพื่อปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ
(3) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
แต่ละข้อมีบุคคล หรือกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป กล่าวคือ
เพื่อลดอัตราการป่วยและตาย มีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงต่ออาการรุนแรงหรือเสียชีวิต ได้แก่
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรค: โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 ที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต (ล้างไต), โรคหลอดเลือดสมอง, โรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างเคมีบำบัด/รังสีบำบัด/ภูมิคุ้มกันบำบัด, โรคเบาหวาน, และโรคอ้วนที่มีน้ำหนัก >100 กิโลกรัม หรือ BMI >35 (สังเกตว่าไม่มีโรคความดันโลหิตสูง)
- ผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
เพื่อปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ได้แก่ เจ้าหน้าที่ ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ ทหาร ตำรวจที่ควบคุมโรคชายแดน
เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนทั่วไป และกลุ่มอาชีพต่างๆ ได้แก่
- ผู้ประกอบอาชีพภาคการท่องเที่ยว เช่น พนักงานโรงแรม สถานบันเทิง มัคคุเทศก์
- นักกีฬา
- ผู้เดินทางระหว่างประเทศ เช่น นักบิน/ลูกเรือ นักธุรกิจระหว่างประเทศ
- นักการทูต เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ นักธุรกิจต่างชาติ คนต่างชาติพำนักระยะยาว
- แรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ
ขอเชื่อมโยงกับเวลาเล็กน้อยว่า ตามแผนเดิมกระทรวงสาธารณสุขแบ่งการฉีดวัคซีนออกเป็น 2 ระยะคือ (1) ระยะที่วัคซีนมีปริมาณจำกัด จะดำเนินการฉีดกลุ่มเป้าหมายในวัตถุประสงค์ 2 ข้อแรกก่อน เมื่อถึง (2) ระยะที่วัคซีนมีเพียงพอ ถึงจะเริ่มฉีดในวัตถุประสงค์ที่ 3
แต่ในขณะนี้สังเกตว่ามีการกระจายวัคซีนให้กับจังหวัดที่พึ่งพาการท่องเที่ยวด้วย จากการผลักดันของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และภาคเอกชน ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายในวัตถุประสงค์ทั้ง 3 ข้ออาจได้รับวัคซีนไล่เลี่ยกัน ขึ้นกับหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอีกที
ขอพูดถึงเรื่อง ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ (Herd Immunity) ว่าสัดส่วนของประชากรที่มีภูมิคุ้มกันมากพอที่จะหยุดการระบาดของโควิด-19 ได้อยู่ระหว่าง 50-67% แต่ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพของวัคซีนด้วย เช่น ถ้าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค 70% ก็จะต้องการผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอย่างน้อย 71.4%
ทั้งนี้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องคำนวณจากฐานประชากรทั้งหมดในประเทศ บางอำเภอ/จังหวัดอาจมีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนถึงระดับภูมิคุ้มกันหมู่ก่อนจังหวัดอื่นก็ได้ เช่น ถ้ามีความจำเป็นในการเปิดประเทศเพื่อพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือคำนวณจากฐานประชากรในกลุ่มอาชีพนั้นๆ
ที่ไหน? ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีน
วัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรเป็นหลักในขณะนี้คือวัคซีน Sinovac ซึ่งนำเข้ามาแล้ว 2 แสนโดส (เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์) + 8 แสนโดส (เมื่อวันที่ 20 มีนาคม) โดย 2 แสนโดสแรกกระจายให้กลุ่มเป้าหมายตามแผนวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัตถุประสงค์ข้อ 2 ใน 13 จังหวัด แบ่งเป็น
- พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ สมุทรสาคร 7 หมื่นโดส
- พื้นที่ควบคุม 8 จังหวัด ได้แก่ กทม. (ฝั่งตะวันตก), ปทุมธานี, นนทบุรี, สมุทรปราการ, ตาก (อ.แม่สอด), นครปฐม, สมุทรสงคราม, และราชบุรี รวมประมาณ 1 แสนโดส
- พื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี (อ.เกาะสมุย), และเชียงใหม่ รวมประมาณ 1.5 หมื่นโดส
เดิมแผนวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ไม่มี 4 จังหวัดท่องเที่ยว แต่มีพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดช่วงวันที่ 4 มกราคมถึง 1 กุมภาพันธ์ คือ ระยอง, ชลบุรี, จันทบุรี, ตราด ซึ่ง สาธิต ปิตุเตชะ รมช.กระทรวงสาธารณสุข เคยโพสต์เฟสบุ๊กเมื่อวันที่ 19 มกราคมว่า ระยองจะเป็นจังหวัดที่ได้รับวัคซีนก่อน
ส่วน 8 แสนโดสถัดมาเพิ่งมีการอัปเดตเมื่อวันที่ 31 มีนาคม แบ่ง 6.4 แสนโดสใน 22 จังหวัด และอีก 1.6 แสนโดสใน 52 จังหวัด เป็นที่มาของ ‘1 เมษายน ฉีดวัคซีนโควิด-19 77 จังหวัดทั่วประเทศ’ (เอ๊ะ! 3 จังหวัดที่หายไป คือ นครปฐม, ราชบุรี และสมุทรสงคราม คาดว่าเพราะได้รับไปแล้วในรอบแรก)
(อ้างอิง: เพจศูนย์ข้อมูล COVID-19)
สังเกตว่ามีการแบ่งกลุ่มจังหวัดออกเป็น 4 กลุ่มคือ จังหวัดที่ยังมีการระบาด จังหวัดเศรษฐกิจ จังหวัดชายแดน และจังหวัดอื่นๆ ซึ่งเดิมสำรองไว้ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และจังหวัดที่มีการระบาดใหม่ คาดว่าน่าจะเป็นการลดแรงกดดันจากจังหวัดที่ยังไม่ได้รับการจัดสรร แต่กลุ่มเป้าหมายยังเป็นวัตถุประสงค์ข้อ 2 อยู่ อีกทั้งน่าจะเป็นการรองรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งอาจมีการระบาดขึ้นในจังหวัดใดก็ได้ (กว่าจะระบาดก็น่าจะทันเข็มที่ 2 พอดี) และในเดือนเมษายนนี้ก็จะมีวัคซีน Sinovac ล็อตใหญ่ 1 ล้านโดสเข้ามาอีก
ทว่าเรื่องที่หลายคนสงสัยมากกว่าคือวัคซีน AstraZeneca ที่เข้ามาแล้วอยู่ที่ไหน เพราะเป็นวัคซีนเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ฉีดในผู้สูงอายุในขณะนี้
จากการแถลงข่าวของกรมควบคุมโรคเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ระบุว่าวัคซีน AstraZeneca ถูกจัดสรรไปแล้ว 8.5 หมื่นโดส หรือประมาณ 70% ของวัคซีนทั้งหมด ให้กับ 5 จังหวัด ได้แก่ กทม. (4 หมื่นโดส) สมุทรสาคร (3 หมื่นโดส) นนทบุรี (7 พันโดส) ปทุมธานี และสมุทรปราการ (จังหวัดละ 5 พันโดส)
สรุปเรื่อง ‘สถานที่’ ก็คือกระทรวงสาธารณสุขจัดลำดับความสำคัญให้กับจังหวัดที่มีการระบาดหรือมีแนวโน้มว่าจะเกิดการระบาดของโรคก่อน เช่น จังหวัดชายแดน ซึ่งชายแดนที่สำคัญคือไทย-เมียนมา (อ.แม่สาย จ.เชียงราย และ อ.แม่สอด จ.ตาก ที่เคยพบผู้ป่วยมาก่อน) และไทย-มาเลเซีย
เมื่อไร? จะได้ฉีดวัคซีน
อย่างที่ได้เกริ่นไปแล้วว่า ‘เวลา’ ในการฉีดวัคซีนแบ่งออกเป็น 2 ระยะขึ้นกับปริมาณวัคซีนที่จัดหามาได้ ระยะแรกคือเดือนมีนาคมถึงเมษายน 2564 ซึ่งมีวัคซีน Sinovac เป็นวัคซีนหลัก ส่วนระยะที่ 1 คือตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จะเริ่มส่งมอบวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตได้ภายในประเทศ
ดังนั้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในช่วงนี้จะยังเห็นว่าไทยฉีดวัคซีนได้น้อยและช้ากว่า แต่ถ้านับเฉพาะวัคซีนที่จัดหามาได้ ความเร็วในการฉีดของ 13 จังหวัดแรกถือว่าเป็นไปตามเป้า ยกเว้น กทม. ที่ช้ากว่าจังหวัดอื่น แต่รอบนี้ยังเป็นแค่รอบปฐมฤกษ์ ถ้าจะวัดกันจริงต้องรอช่วงครึ่งปีหลัง
กระทรวงสาธารณสุขเตรียมสถานพยาบาลไว้ 1,000 แห่ง สำหรับฉีดวัคซีน 500 โดสต่อวัน (ถ้าฉีดเฉพาะเวลาราชการ 8 ชั่วโมงจะเท่ากับ 65 เข็มต่อชั่วโมง ซึ่งน่าจะต้องเตรียมเจ้าหน้าที่ที่จะมาฉีดวัคซีนให้มีจำนวนเพียงพอ) x 20 วันต่อเดือน = 10 ล้านโดสต่อเดือน ก็จะสามารถฉีดวัคซีนได้ครบในครึ่งปีหลัง
เทียบกับแผนการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 เมื่อวันที่ 19 มีนาคมว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ศบค. จะยกเลิกการกักตัวในบางพื้นที่โดยมีเงื่อนไขว่า บุคลากรทางการแพทย์ต้องได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว >70% และประชาชนที่มีโอกาสสัมผัสกับบุคคลเสี่ยงได้รับการฉีดวัคซีนตามเป้าหมาย
แต่ภาคเอกชนจังหวัดภูเก็ตได้เสนอ ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ เพื่อให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบไม่ต้องกักตัวได้เร็วขึ้น โดยเสนอให้จัดสรรวัคซีน 9.3 แสนโดสภายในเดือนมิถุนายน (คิดเป็น 95% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งตอนนี้ได้รับการจัดสรรวัคซีนไปแล้ว 4 พัน + 1 แสนโดสในรอบแรก + รอบสอง)
หากเป็นไปตามนี้ ภูเก็ตจะต้องระดมฉีดวัคซีนด้วยความเร็วกว่าที่กำหนดไว้หลายเท่าตัว
ในวันที่ 30 มีนาคม ครม. มีข้อสรุปเกี่ยวกับการเปิดประเทศว่า จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ โดยระยะที่ 2 เดือนกรกฎาคม 2564 จะเริ่มยกเลิกการกักตัวที่ภูเก็ตก่อน ระยะที่ 3 เดือนตุลาคม เพิ่มอีก 4 พื้นที่คือ พังงา, กระบี่, พัทยา และเชียงใหม่ จากนั้นระยะที่ 4 เดือนมกราคม 2565 ถึงจะยกเลิกหมดทั้งประเทศ
ทั้งนี้ จะเห็นว่าวัคซีนไม่ได้มีข้อบ่งชี้ในทางการแพทย์เพื่อลดการป่วยการตาย และป้องกันไม่ให้ระบบสุขภาพล่มสลายจากการมีผู้ป่วยจำนวนมากเพียงอย่างเดียว แต่ความครอบคลุมของวัคซีนยังเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจที่จะเปิดประเทศในแบบ ‘Normal’ ที่ไม่ต้องมี ‘New’ นำหน้าอีกต่อไป
โดยสรุปภายในปี 2564 นี้จะมีประชาชนไทยอย่างน้อย 50% ได้รับการฉีดวัคซีนฟรีตามแผนการจัดหาและกระจายวัคซีนของรัฐบาล ซึ่งจัดลำดับความสำคัญตามบุคคล กลุ่มเสี่ยง และบุคลากรทางการแพทย์ในสถานที่ที่มีการระบาดหรือมีโอกาสระบาดสูงก่อน
แผนเกี่ยวกับวัคซีนมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างบ่อย ในแง่หนึ่งสะท้อนถึงการปรับตัวตามสถานการณ์ แต่ถ้ารัฐบาลสามารถปรับให้ทั่วประเทศสามารถฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมเร็วขึ้น โดยเพิ่มสถานที่และเวลาในการฉีด หรือนำเข้าวัคซีนชนิดอื่นเพิ่มเติมก็น่าจะได้รับเสียงชื่นชมมากทีเดียว
อ้างอิง:
- เปิดแผนฉีดวัคซีนระยะแรก 2 ล้านโดส กลุ่มเป้าหมาย 10 จังหวัด (วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564)
- แนวทางการให้วัคซีนโควิด-19 ในสถานการณ์การระบาดปี 2564 ของประเทศไทย กรมควบคุมโรค เดือนกุมภาพันธ์ 2564 (วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564)
- ฉีดทั่วถึง เศรษฐกิจฟื้นเร็ว! ถกนโยบายบริหารวัคซีน ความหวังไทยหลังยุคโควิด (วันที่ 27 มีนาคม 2564)
- เอาให้ชัด! สรุปไทม์ไลน์-เงื่อนไข ‘เปิดประเทศ’ รับต่างชาติเที่ยวไทย (วันที่ 28 มีนาคม 2564)
- Herd Immunity and Implications for SARS-CoV-2 Control