×
SCB Omnibus Fund 2024

ย้อนรอยปรากฏการณ์ 100 วันแรกของ 6 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผลต่อสินทรัพย์การลงทุนต่างๆ

19.01.2021
  • LOADING...
ย้อนรอยปรากฏการณ์ 100 วันแรกของ 6 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผลต่อสินทรัพย์การลงทุนต่างๆ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบทบาทประธานาธิบดีประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา มักจะมีผลต่อราคาและมูลค่าสินทรัพย์ต่างๆ โดยมีความเกี่ยวเนื่องกันทั้งมิติของความเชื่อมั่น การกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจและการบริหารจัดการด้านโครงสร้างเชิงโครงสร้าง รวมถึงทรัพยากรทางด้านเศรษฐกิจในยุคนั้นๆ 

 

Forbes Advisor เผยแพร่บทความเกี่ยวกับบทบาทของประธานาธิบดีผู้โดดเด่น ในช่วง 100 วันแรกของการเข้ารับตำแหน่ง

 

1. 100 วันแรกของประธานาธิบดีโรสเวลต์ 

 

แฟรงกลิน เดลาโน โรสเวลต์ เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 1933 ในจังหวะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งใหญ่ แต่ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งหลังจากเศรษฐกิจตกต่ำเกือบ 3 ปี

 

หลังจากเข้ารับตำแหน่งไม่ถึง 2 วัน โรสเวลต์ หรือ FDR ได้ออกประกาศ Proclamation 2039 เพื่อหยุดการทำธุรกรรมที่ธนาคารทั้งหมดเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ทั้งนี้ ก็เพื่อหยุดการแห่ไถ่ถอนเงินออกจากธนาคาร และอาจทำให้วิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น จากนั้นโรสเวลต์ก็ออกรายการวิทยุ และให้สัมภาษณ์ว่า ท่ามกลางสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ เขาให้ความสำคัญกับการทำงานของธนาคารและการทำงานของเงิน โดยโรสเวลต์อธิบายเพิ่มว่า ในระบบมีเงินออมเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่อยู่ในธนาคาร ในขณะที่ส่วนที่เหลือถูกนำไปใช้ในการกู้ยืมเงินให้กับธุรกิจที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต

 

การประกาศวันหยุดธนาคารและสุนทรพจน์ของโรสเวลต์ได้ผล ในวัดถัดมา ผู้คนพากันนำเงินมาฝากเข้าธนาคาร ความเชื่อมั่นได้รับการฟื้นฟูและหุ้นเริ่มฟื้นตัวแม้ว่าจะใช้เวลาหลายปีก็ตาม

 

ในการปราศรัยเริ่มต้นของโรสเวลต์ เขาได้สร้างคำพูดน่าประทับใจเอาไว้จนได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์ว่า “Let me assert my firm belief that the only thing we have to fear is fear itself-nameless, unreasoning, unjustified terror which paralyzes needed efforts to convert retreat into advance.” 

 

บทเรียนนี้ครอบคลุมไปถึงการเงินของเราเช่นกัน การตื่นตระหนกเมื่อเผชิญกับความวุ่นวายทางเศรษฐกิจมีแต่จะทำให้เรื่องแย่ลง

 

Dow Jones Industrial Average (DJIA) ใน 100 วันแรกของประธานาธิบดีโรสเวลต์ 

  • มีนาคม 1933 -16% (YoY)
  • เมษายน 1933 +53% (YoY)
  • พฤษภาคม 1933 +114% (YoY)
  • มิถุนายน 1933 +145% (YoY)

 

และแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากผลกระทบโควิด-19 รอบนี้จะไม่ได้เลวร้ายเท่ากับสถานการณ์ในปี 1933 แต่งานหลักของไบเดนก็คือการฟื้นความเชื่อมั่น โดยไบเดนสัญญาว่าจะเร่งการแจกจ่ายวัคซีน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางการเงินมากขึ้น รวมถึงการให้เช็ค 2,000 ดอลลาร์ให้กับอเมริกันชน เพื่อช่วยให้ประเทศผ่านไปสู่โลกหลังโควิด-19 ได้ ทั้งนี้ หากเขาประสบความสำเร็จ ความตื่นตัวของนักลงทุนก็จะตามมา

 

2. 100 วันแรกของประธานาธิบดีฟอร์ด

 

เจอรัลด์ ฟอร์ด เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1974 หลังจากที่ริชาร์ด นิกสัน ลาออกจากตำแหน่งกะทันหันเพราะถูกดำเนินคดีวอเตอร์เกต ในขณะนั้นสหรัฐฯ เผชิญกับภาวะเงินเฟ้ออย่างหนักหลังจากการคว่ำบาตรน้ำมันครั้งแรกของกลุ่ม OPEC

 

ย้อนกลับไปปีที่แล้ว เดือนสิงหาคม เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ได้กล่าวสุนทรพจน์ครั้งสำคัญความว่า Fed จะเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ Fed ในปี 1974 ข้ามเวลามาฟังสุนทรพจน์ใน 46 ปีถัดมา ก็น่าจะรู้สึกท้อแท้ไม่น้อย เพราะในปี 1974 อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งวัดโดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สูงถึง 11% ซึ่งค่อนข้างน่าตกใจ 

 

ประธานาธิบดีฟอร์ดเข้ารับตำแหน่งหลังจากที่นิกสันลาออก อีกทั้งยังขึ้นทำเนียบขาวหลังจากการคว่ำบาตรน้ำมันครั้งแรกของกลุ่ม OPEC และเมื่อราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี แน่นอนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จึงหยุดชะงัก และอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น

 

สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจในยุคของฟอร์ดเลวร้ายมาก ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าสภาคองเกรสในเดือนที่ 2 ฟอร์ดเรียกร้องให้ชาวอเมริกัน “Whip inflation now” หรือ “เอาชนะเงินเฟ้อเดี๋ยวนี้” โดยขอให้อเมริกันชนเข้าร่วมเป็นนักสู้เงินเฟ้อและผู้ประหยัดพลังงาน ด้วยการเพิ่มการออมส่วนบุคคลและลดการใช้จ่ายลง โดยผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมแคมเปญจะได้รับปุ่ม ‘ชนะ’ 

 

อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ถูกยกเลิก เนื่องจากได้รับการตอบรับจากคนจำนวนไม่มาก ตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงสั้นๆ ของฟอร์ด ถูกทำลายจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงและการจ้างงานที่อ่อนแอ และฟอร์ดก็พ่ายแพ้แก่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในท้ายที่สุด 

 

หากเราลองนำสุนทรพจน์ของเขามาพิจารณาแล้ว จะเห็นว่าปัญหาคือ อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันต่ำเกินไป ซึ่งทำเนียบขาวและสภาคองเกรสสามารถกระตุ้นได้โดยการใช้จ่ายเงินมากขึ้นเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว หลายคนที่เติบโตจากยุค 70 อาจตกใจกับความคิดที่อยากให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำอย่างต่อเนื่องก็มีข้อเสียเช่นกัน

 

การเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อ 100 วันแรกประธานาธิบดีฟอร์ด ดังนี้ 

  • สิงหาคม 1974 10.89% (YoY)
  • กันยายน 1974 11.95% (YoY)
  • ตุลาคม 1974 11.84% (YoY)
  • พฤศจิกายน 1974  12.20% (YoY)

 

3. 100 วันแรกของประธานาธิบดีเรแกน

 

โรนัลด์ เรแกน เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม 1981 ในปี 1979-1980 วิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งที่ 2 จากการปฏิวัติอิหร่านและสงครามอิรัก-อิหร่านส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งทะลุเพดาน 

 

เพียง 6 ปีหลังจากที่ฟอร์ดขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีท่ามกลางวิกฤตพลังงานที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในสภาวะสิ้นหวัง เรแกนก็เข้ารับตำแหน่งและเผชิญกับวิกฤตพลังงานอีกครั้ง

 

การปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 ทำให้เกิดความโกลาหลทั้งประเทศ โดยอิหร่านเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลางและผู้ผลิตและผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุด และในปี 1980 อิรักซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของอิหร่าน ก็ตอบโต้อิหร่านด้วยการเข้ารุกรานประเทศ

 

ไม่เพียงแต่ผลผลิตน้ำมันของอิหร่านลดลง ปริมาณน้ำมันก็ลดลงเช่นกัน ในขณะที่ฝั่งผู้ซื้อเกิดความวิตกกังวลและแห่ซื้อน้ำมันดิบกันทั่ว ตามกลไกอุปสงค์และอุปทานที่ไม่สมดุล ราคาน้ำมันจึงปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก 

 

วิกฤตพลังงานในปี 1979-1980 รวมกับกฎข้อบังคับด้านประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงของรถยนต์ของสหรัฐฯ ที่ล้าสมัย ทำให้เราได้เห็นภาพคิวรอเติมน้ำมันหน้าปั๊มยาวเป็นหางว่าว

 

และเพื่อเป็นการตอบโต้วิกฤติพลังงานครั้งนี้ ประเทศนอกกลุ่ม OPEC รวมทั้งสหราชอาณาจักร, นอร์เวย์ และสหรัฐฯ เริ่มผลิตน้ำมันมากขึ้น

 

เรแกนตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎระเบียบด้านประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงของรัฐบาลกลาง ขณะเดียวกันนักลงทุนเริ่มทำให้การซื้อขายในตลาดน้ำมันมีความซับซ้อนมากขึ้น

 

สำหรับยุคไบเดน อาจต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างออกไป โดยสถานการณ์ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนของปี 2014 เนื่องจากส่วนใหญ่มีการผลิตน้ำมันจากชั้นหิน หรือ Shale Oil ซึ่งทำให้สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันอันดับต้นๆ ของโลก

 

นอกจากนี้ยังมีข้อกังขาในเรื่องความต้องการน้ำมันในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำทั่วโลก General Motors ไปจนถึง Tesla ในบริบทที่รัฐบาลทั่วโลกมีแผนลดใช้เชื้อเพลิงที่ปล่อยคาร์บอนลง ตัวอย่างที่เห็นล่าสุดคือ ไบเดนรับปากว่าสหรัฐฯ จะหวนกลับเข้าสู่ข้อตกลงสภาพภูมิอากาศของกรุงปารีส

 

บริษัทหนึ่งที่มีปัญหาในการปรับตัวคือ ExxonMobil โดย Exxon มีมูลค่าตลาด 5 แสนล้านดอลลาร์เมื่อ 13 ปีก่อน แต่ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดต่ำกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของมูลค่าตลาดของ Tesla เท่านั้น 

 

บทเรียนสำหรับนักลงทุนค่อนข้างชัดเจนคือ ไม่มีอะไรคงอยู่ตลอดไป สินทรัพย์ที่เป็นที่ชื่นชอบในตลาดหุ้นกลายเป็นลูกเป็ดขี้เหร่เมื่อโลกเปลี่ยนไป และนี่คือเหตุผลที่เราต้องการทางเลือกในการกระจายความเสี่ยง ซึ่งทางเลือกที่น่าสนใจคือ Exchange Traded Funds (ETFs) and Index Funds

 

และนี่คือราคาน้ำมัน WTI Spot ใน100 วันแรกของประธานาธิบดีเรแกน 

  • มกราคม 1981 +16.90% (YoY)
  • กุมภาพันธ์ 1981 +2.70% (YoY)
  • มีนาคม 1981 0% (YoY)
  • เมษายน 1981 -3.8% (YoY)

 

4. 100 วันแรกของประธานาธิบดีบุช

 

จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2001 ซึ่งเป็นยุคฟองสบู่ดอตคอม ซึ่งใน 8 ปีต่อมา วิกฤตฟองสบู่หุ้นเทคฯ หรือฟองสบู่ดอตคอม ได้กลายเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายว่าวิกฤตอสังหาริมทรัพย์เสียอีก 

 

หากยังนึกภาพไม่ออก ให้ลองนึกถึงความโด่งดังของ Flooz, Digiscents หรือ theGlobe.com ซึ่งมีผู้ร่วมก่อตั้งคือ Stephan Paternot 

 

นอกจาก 3 ธุรกิจเทคฯ นี้ ยังมีบริษัทด้านเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตอีกหลายร้อยแห่งที่ได้รับเงินลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ และได้รับความสนใจจากสื่อในช่วงปี 1999-2000 จากนั้นก็กลายเป็นต้นเหตุที่ทำลายเศรษฐกิจไปหลายปี วิกฤตฟองสบู่ดอตคอมรุนแรงมากจนดัชนี Nasdaq ซึ่งเป็นดัชนีตัวแทนหุ้นเทคฯ ต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานถึง 15 ปี

 

โดยนักเศรษฐศาสตร์เปรียบให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า การสูญเสียครั้งนั้นเทียบเท่ากับ ผลผลิตของเศรษฐกิจในประเทศเยอรมนี, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, อิตาลี, สเปน, เนเธอร์แลนด์ และรัสเซีย หนึ่งปีได้หายไปอย่างสิ้นเชิง

 

วิกฤตฟองสบู่แตกทำให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจขึ้นในปี 2001 และกินเวลาต่อเนื่องถึง 8 เดือน หลังจากประธานาธิบดีบุชเข้ารับตำแหน่ง ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจากการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในวันที่ 11 กันยายน โดยสภาคองเกรสใช้เวลาส่วนใหญ่ใน 100 วันแรกของบุช ถกเถียงเรื่องการลดภาษี และในที่สุดก็ผ่านมาตรการดังกล่าวในเดือนมิถุนายน 2001 

 

นักสังเกตการณ์ตลาดหุ้นต่างเฝ้าระวังชนวนวิกฤตการณ์ฟองสบู่นับแต่นั้นเป็นมา ซึ่งสังหรณ์ของพวกเขามักจะเป็นจริงเสมอ รวมถึงการเข้าดำรงตำแหน่งของไบเดนในเร็วๆ นี้เช่นกัน ก่อนหน้านี้หุ้น Tesla แทบไม่ใช่หุ้นลูกรักหรือหุ้นที่สร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนเลย แต่จู่ๆ Tesla ก็เป็นบริษัทผลิตรถยนต์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก เช่นเดียวกันกับการเข้าระดมทุนของ Palantir และ Airbnb ที่ได้รับความสนใจซื้อหุ้นไอพีโออย่างมาก 

 

และนี่คือดัชนี Nasdaq ในช่วง 100 วันแรกของประธานาธิบดีบุช 

  • มกราคม 2001  -32% (YoY)
  • กุมภาพันธ์ 2001 -56% (YoY)
  • มีนาคม 2001 -61% (YoY)
  • เมษายน 2001 -46% (YoY)

 

5. 100 วันแรกของประธานาธิบดีโอบามา

 

บารัก โอบามา เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2009 เพียง 4 เดือนหลังจากการล่มสลายของ เลห์แมน บราเธอร์ส ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่

 

การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีบุชเริ่มต้นและจบลงด้วยความล้มเหลวของตลาดหุ้น ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนสูญโอกาสลงทุนไปร่วม 10 ปี 

 

ขณะที่ประธานาธิบดีโอบามาเข้ารับตำแหน่งหลังจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์และการล่มสลายของระบบการเงิน วันแรกที่โอบามาเข้ามาทำงาน อเมริกันชนหลายแสนคนตกงานและบ้านก็ถูกยึด และตัวเลขผู้ว่างงานก็เพิ่มขึ้นตลอดปีแรกที่โอบามาเข้าทำงาน

 

อย่างไรก็ตาม โอบามาแก้ไขปัญหาได้อย่างหลากหลาย เขาสามารถส่งผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ได้ แม้ว่าแผนช่วยเหลือครั้งนั้นจะมีมูลค่าน้อยกว่าแผนการเยียวยาโควิด-19 ก็ตาม โอบามาสามารถช่วยให้เจ้าของบ้านยังสามารถถือครองและเป็นเจ้าของบ้านของตัวเองได้อยู่ แม้ว่ามูลค่าความช่วยเหลือจะเล็กน้อย

 

ถึงกระนั้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ฟื้นตัวอย่างช้าๆ และในช่วงที่โอบามาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 อัตราการว่างงานก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.7% ในเดือนมกราคม 2017 เทียบกับอัตราการว่างงานที่เคยสูงถึงระดับ 10% ในช่วงปีแรกที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 

 

หากลองเทียบสถานการณ์กับไบเดนแล้ว จะพบว่าไบเดนอยู่ในบริบทที่ดีกว่าโอบามามาก โดยปัจจุบันตลาดแรงงานเริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มทุเลาลง และเศรษฐกิจสหรัฐถูกคาดหวังว่าจะกลับไปสู่จุดเดิมก่อนวิกฤตโรคระบาดได้ในปี 2023

 

การถดถอยทางเศรษฐกิจในอดีตเกิดจากการล่มสลายของระบบการเงิน ซึ่งฟื้นตัวได้ยากกว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้ที่เกิดจากธรรมชาติ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้เห็นดัชนี S&P 500 ทำนิวไฮต่อเนื่องท่ามกลางยอดผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นวันต่อวัน 

 

และนี่คืออัตราการว่างงานของสหรัฐฯ 100 วันแรกของประธานาธิบดีโอบามา 

  • มกราคม 2009 7.80%
  • กุมภาพันธ์ 2009 8.30%
  • มีนาคม 2009 8.70%
  • เมษายน 2009 9.00%

 

6. 100 วันแรกของประธานาธิบดีทรัมป์

 

โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2017 โดยทรัมป์เป็นประธานาธิบดีเพียงคนเดียว (ในลิสต์นี้) ที่ไม่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ

 

เรียกได้ว่าทรัมป์ได้สานต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างดี และได้รับคำชื่นชมอย่างมากในหมู่อเมริกันชน โดยเฉพาะคนงานที่มีค่าแรงต่ำ ซึ่งในที่สุดก็เริ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากภาวะถดถอยครั้งใหญ่

 

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในยุคของทรัมป์ นั่นก็คือการเริ่มเกิดฟองสบู่บิตคอยน์ โดยพาดหัวข่าวใหญ่ของสำนักข่าว Reuters ในช่วง 3 สัปดาห์ก่อนทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง คือ ‘บิตคอยน์พุ่งสูงกว่า 1,000 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี’ 

 

ปัจจุบันราคาซื้อขายบิตคอยน์เคลื่อนไหวใน 40,000 ดอลลาร์ในเดือนมกราคม 2021 แต่ก็ยืนระดับได้ในช่วงสั้นๆ ก่อนจะปรับตัวลดลงไปซื้อขายที่ระดับ 30,000 ดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนสถาบันและผู้มีอิทธิพลทางการเงินในระบบเศรษฐกิจยุคเก่าเริ่มเข้าใจและลงมาเป็นผู้เล่นในสนามบิตบอยน์เพิ่มขึ้น

 

ขณะที่นักวิเคราะห์ของ J.P. Morgan วิเคราะห์ไว้ว่า แนวโน้มสกุลเงินดิจิทัลมีโอกาสปรับขึ้นไปซื้อขายที่ระดับ 150,000 ดอลลาร์ในระยะยาว เนื่องจากมันเข้ามาแทนที่ทองคำอย่างช้าๆ เพื่อใช้เป็นสินทรัพย์หลบภัยของนักลงทุน 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ยุคของไบเดน ก็ไม่มีคาดการณ์ได้แน่ชัดว่าบิตคอยน์ไปตอบรับอย่างไร

 

และนี่คือราคาบิตคอยน์ในช่วง100 วันแรกของประธานาธิบดีทรัมป์

  • มกราคม 2017 +163% (YoY)
  • กุมภาพันธ์ 2017 +169% (YoY)
  • มีนาคม 2017 +157% (YoY)
  • เมษายน 2017 +201% (YoY)

 

ประธานาธิบดีประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา มักจะมีผลต่อราคาและมูลค่าสินทรัพย์ต่างๆ โดยมีความเกี่ยวเนื่องกันทั้งมิติของความเชื่อมั่น การกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ และการบริหารจัดการด้านโครงสร้างเชิงโครงสร้าง รวมถึงทรัพยากรทางด้านเศรษฐกิจในยุคนั้นๆ 

 

นี่คือ 6 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เข้ารับตำแหน่งในช่วงที่มีวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจรออยู่ 

 

 

 ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising