×

จับตาสารตกค้างในอากาศ-แหล่งน้ำจากเหตุโรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ ผู้เชี่ยวชาญเตือนประชาชนโดยรอบกลับบ้านได้หลังเพลิงสงบแล้ว 1-2 วัน แนะขั้นตอนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมระยะยาว

โดย THE STANDARD TEAM
06.07.2021
  • LOADING...
โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้

จากเหตุการณ์ที่โรงงาน บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติกที่จังหวัดสมุทรปราการไฟไหม้เมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. ของเช้าวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดเหตุระเบิดและสร้างความเสียหายแก่ตัวโรงงานรวมถึงบ้านเรือนในละแวกรัศมี 1 กิโลเมตร โดยเจ้าหน้าที่ดับเพลิงได้พยายามระงับกลุ่มไฟไม่ให้ลุกลามเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระเบิดอีกหน เนื่องจากโรงงานมีสารที่ก่อให้เกิดการระเบิดได้ง่าย แต่ก็ยังมีเปลวเพลิงปะทุขึ้นอีกหลายครั้ง ทำให้ต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตาม ผลจากการระเบิดไม่เพียงทำให้ชาวบ้านที่ใช้ชีวิตใกล้กับตัวโรงงานต้องอพยพออกมาเท่านั้น แต่ไอระเหยและสารเคมีต่างๆ จากเหตุไฟไหม้ยังปนเปื้อนอยู่ในอากาศตลอดจนแหล่งน้ำธรรมชาติ ต่อประเด็นนี้ THE STANDARD ติดต่อคุยกับ สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสนธิกล่าวว่า หลังจากเพลิงสงบก็ยังมีไอระเหยของสารเคมี เรียกว่า VOCs (Volatile Organic Compounds – สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย) หรือสารสไตรีน เพราะสารโพลีสไตรีนเมื่อโดนเผาก็กลายเป็นสไตรีนโมโนเมอร์ ฉะนั้นจะมีกลิ่นฟุ้งออกมา ประชาชนจึงเข้าไปไม่ได้ ต้องกั้นบริเวณไว้เป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน และต้องเข้าไปทำคลีนอัปหรือความสะอาด โดยเจ้าหน้าที่พร้อมสวมชุดเซฟตี้อย่างดี แล้วจัดการเอากากอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ไหม้ไฟในโรงงานออกไปจัดการให้หมด เนื่องจากกากอุตสาหกรรมเหล่านี้ยังมีไอระเหยอยู่ คนที่เข้าไปในพื้นที่นั้นต้องเอาเครื่องมือไปตรวจวัดว่าไอระเหยของสารพวกนี้มันไปไกลแค่ไหน

 

“ไอระเหยพวกนี้ เมื่อมันลอยขึ้นไปแล้วโดนลมพัด มันก็จะเจือจาง แต่ตอนนี้เราไม่รู้ว่ามันแค่ไหน ถ้าลมสงบนิ่งมันก็จะพัดไปอยู่รอบๆ บริเวณได้โดยที่ไอระเหยก็ยังมีความเข้มข้นสูง สิ่งที่ตามมาจึงต้องมีเครื่องมือตรวจวัดสารสไตรีนโมโนเมอร์ เพราะถ้าไม่มีเครื่องมือตรวจวัดเราก็ไม่รู้เลยว่ามันเข้มข้นเท่าไร หน่วยราชการเราจึงต้องเข้ามาช่วยตรงนี้” สนธิกล่าว

 

กรมควบคุมมลพิษและกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอุปกรณ์ตรวจวัดสารระเหยสไตรีนโมโนเมอร์หรือสารไฮโดรคาร์บอน โดยสารเหล่านี้จะระเหยจนกว่าไฟจะสงบ หรือจนกว่าจะมีการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมและของเสียที่ไหม้ไฟแล้วออกไปกำจัดหรือทำลาย จะปล่อยไว้ในโรงงานไม่ได้อย่างเด็ดขาด มองว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน

 

“กรณีที่สามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว พื้นที่ที่ประชาชนอยู่อ่าศัยอย่างน้อยบริเวณ 5 กิโลเมตรแรกนั้นไม่น่ามีไอระเหยอยู่แล้ว เพราะน่าจะถูกลมพัดหายไปหมด ถึงมีอยู่ก็ไม่นาน เพราะมันเป็นสาร VOCs ลมพัดก็เจือจางได้ เนื่องจากต้นเหตุดับไปแล้ว ซึ่งประชาชนสามารถกลับเข้ามาบ้านได้ภายใน 1-2 วันหลังเพลิงสงบ แต่ก่อนเข้ามาก็ต้องให้มีการตรวจวัดก่อนว่าจากแหล่งกำเนิดสารไปไกลแค่ไหน สมมติไกล 1 กิโลเมตร ถ้าบ้านอยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตรนั้นก็อาจจะยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้” 

 

นอกจากนี้ มองว่าประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือน้ำ เนื่องจากน้ำที่ดับเพลิงนั้นไหลลงใต้ดิน แล้วเป็นสารเคมีทั้งนั้น จะไปปนเปื้อนน้ำใต้ดิน ลงคลอง จากคลองลงสู่แม่น้ำบางปะกง และจากบางปะกงไปสู่ทะเล ฉะนั้นปลาทั้งหลายอาจจะกินไม่ได้ เพราะมันไปปนเปื้อนในเนื้อปลา พืชผักแถวนั้น 

 

“ทั้งนี้ น้ำจากการดับเพลิงก็จะปนเปื้อนด้วยสไตรีนโมโนเมอร์ น้ำมัน ไฮโดรคาร์บอนที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำ แม่น้ำลำคลองต่างๆ จะไปปนเปื้อนในสัตว์น้ำ เช่น เนื้อปลา กินเข้าไปก็จะได้รับสารไปด้วย ซึ่งสารเหล่านี้จะตกค้างอยู่นานหากว่าน้ำนิ่ง สุดท้ายมันจึงต้องมีการคลีนอัป เช่น ไปดูดน้ำในคลองที่ลงไปออกมาให้หมด และใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย ถ้าน้ำปนเปื้อนเหล่านี้ลงไปยังแม่น้ำบางปะกงแล้วตรวจเจอ ก็ต้องเอาน้ำดีจากเขื่อนมาไล่ออกไป” 

 

ดังนั้น งานฟื้นฟูหลังจากนี้ก็จะเป็นงานหนัก คำถามคือตอนนี้ใครกำลังฟื้นฟู ใช่กรมควบคุมมลพิษหรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ อาจจะให้ทางจังหวัดสมุทรปราการเป็นเจ้าภาพ เมื่อฟื้นฟูเสร็จเรียบร้อยแล้วก็คิดเงินหรือไปฟ้องให้โรงงานจ่าย โรงงานทำประกันภัยไฟไหม้ แต่เมื่อผลที่ตามมามันเยอะแยะ โรงงานก็ต้องจ่าย

 

โดยสนธิได้เสนอแนวทางการฟื้นฟูหลังจากนี้ออกเป็น 3 ขั้นตอนใหญ่ๆ ว่า

  1. หลังจากที่เพลิงสงบแล้ว หน่วยราชการต้องไปช่วยตรวจวัดสารสไตรีนโมโนเมอร์และไอระเหยต่างๆ ว่าไปไกลแค่ไหน เกินค่ามาตรฐานหรือไม่ ประชาชนจะกลับมาอยู่ได้ไหม
  2. จะต้องไปจัดการในโรงงาน ต้องเอาพวกกากอุตสาหกรรมที่ถูกไฟไหม้ทั้งหลายไปกำจัดตามศูนย์กำจัดกากอุตสาหกรรมหรือเจน​โก้ (GENCO) หรือพวกกำจัดขยะมูลฝอยแบบฝังกลบ Sanitary Landfill อย่างปลอดภัย ทีมที่จะเข้าไปฟื้นฟูในโรงงานก็ต้องใส่อุปกรณ์เซฟตี้ ความปลอดภัยอย่างเข้มงวด น้ำที่ขังถือเป็นกากอุตสาหกรรมอันตรายทั้งหมด ต้องนำไปกำจัด ทั้งหมดนี้คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือน
  3. การฟื้นฟูนอกโรงงานรวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติทั้งหลายว่ามีการปนเปื้อนหรือไม่ ต้องตรวจวัดอะไรเพิ่มเติมไหม หากพบก็ต้องรีบจัดการสูบน้ำในคลองนั้นมาบำบัดโดยไว ทั้งนี้ น้ำที่นำไปดับเพลิงก็ไหลลงดินและซึมลงใต้ดินด้วย จึงต้องมีการนำน้ำจากใต้ดินไปตรวจว่าปนเปื้อนสารเคมีหรือไม่ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องระยะยาว ต้องใช้เวลานาน “ทั้งนี้สามารถใช้น้ำประปาในการอุปโภคบริโภคได้เนื่องจากไม่ปนเปื้อน แต่น้ำคลองห้ามใช้ รวมถึงน้ำฝนด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อฝนตกลงมาเจอไอระเหย พวกนี้จะกลายเป็นฝนกรด และฝนพวกนี้จะทำให้ดินเปรี้ยว ต้นไม้ตาย” สนธิกล่าว

 

สำหรับประชาชนบริเวณนั้น เมื่อกลับไปถึงบ้านแล้ว สนธิแนะนำว่าต้องล้างทำความสะอาดบ้านทั้งหลัง ไม่ว่าจะเขม่าหรือแก๊สต่างๆ ที่ยังติดอยู่ตามบริเวณพื้นบ้าน จำเป็นต้องเช็ดถูให้หมด เปิดประตูและหน้าต่างให้ลมพัดเข้าระบายอากาศ ไม่เช่นนั้นจะมีฝุ่นละอองตกค้างในบ้านเป็นจำนวนมาก อย่าเพิ่งไปเปิดเครื่องปรับอากาศ 

 

“เครื่องกรองอากาศช่วยได้บ้าง ถ้านอนในห้องนอนก็สามารถใช้เครื่องกรองกาศช่วยได้” เมื่อสถานการณ์นี้จบลงเรียบร้อยแล้วทุกอย่าง ถือว่าเป็นบทเรียนที่จะนำไปใช้ในอนาคต เพราะโรงงานนี้เกิดขึ้นในปี 2532 ก่อนหน้า พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมปี 2535 ทำให้ไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และมาก่อน พ.ร.บ. ผังเมืองปี 2544 เมื่อจังหวัดสมุทรปราการตั้งผังเมืองขึ้นมาก็เอาพื้นที่สีแดงไปล้อมรอบพื้นที่สีม่วงซึ่งเป็นพื้นที่ของโรงงาน ฉะนั้นทำให้คนมาอยู่อาศัยติดกับโรงงาน ทั้งที่จริงๆ ควรมีพื้นที่สีเขียวกั้นไว้ แต่กลับไม่มี เนื่องจากเรามองว่าสุวรรณภูมิเป็นสนามบิน เราต้องการล้อมรอบสุวรรณภูมิด้วยพื้นที่ทางธุรกิจต่างๆ ให้ผู้คนมาทำการค้า ทำให้ไม่มีพื้นที่สีเขียว

 

“ขณะเดียวกันโรงงานเองก็ไม่ต้องทำ EIA แต่ทำเพียงรายงานการศึกษามาตรการป้องกันต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ESA) หรือคือการประเมินความเสี่ยงเท่านั้น หลังจากนั้นก็ทำรายงานส่งให้กรมโรงงานปีละครั้ง ซึ่งนับเป็นมาตรการที่อ่อนด้อย ประชาชนก็ไม่มีส่วนร่วม ขณะเดียวกันกรมโรงงานบอกตรวจทุกปี แต่ปีนี้ไม่ได้ตรวจเพราะว่าติดโควิด เข้าไปตรวจไม่ได้ โรงงานก็บอกว่าปีนี้เศรษฐกิจแย่ คนงานก็ไม่มี ดังนั้นมาตรการต่างๆ เลยอาจจะอ่อนด้อยไปสักหน่อยเลยเกิดอุบัติภัยตรงนี้ขึ้นมา ชาวบ้านที่อยู่แถบนั้นจึงได้รับผิดกระทบสูง แต่ถ้ามีพื้นที่สีเขียวก็ยังได้รับผลกระทบน้อยกว่านี้” สนธิกล่าว และเสนอให้รัฐไปสำรวจว่าโรงงานที่มีสารเคมีอันตรายที่ตั้งบริเวณชุมชนมีกี่แห่ง เพราะจังหวัดสมุทรปราการมีโรงงานเหล่านี้เยอะ เมื่อรู้ว่ามีโรงงานสารเคมีอันตรายตั้งอยู่เยอะเท่าใดแล้ว ก็สร้างแรงจูงใจให้เขาย้ายไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการเสีย เช่น ให้ BOI (ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน) แก่เขาหรือลดภาษีเงินได้เขา จูงใจให้เขาย้ายไป ฉะนั้นโรงงานบริเวณนี้จึงต้องถูกสำรวจและย้ายออก แต่วิธีการจะเป็นแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับหน่วยงานรัฐ

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X