– จับตาตัวเลขเศรษฐกิจ โดยวันนี้สหรัฐฯ มีกำหนดประกาศดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคพื้นฐานส่วนบุคคล (Core PCE) ประจำเดือนพฤษภาคม ซึ่งสะท้อนอัตราเงินเฟ้อที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะประกาศออกมาที่ 0.2% (MoM) ฟื้นตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ -0.4% (MoM) สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับยอดค้าปลีก (Retail Sales) ที่ประกาศสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่ยอดการใช้จ่ายส่วนบุคคลที่มีกำหนดประกาศวันนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งคาดว่าจะขยายตัว 9.0% (MoM) ฟื้นตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ -13.6% (MoM) จากแนวโน้มความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง
– ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เปิดเผยผลการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ของธนาคารพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเพียงพอต่อภาวะวิกฤต แม้จะเกิดกรณีเลวร้ายขึ้น (Worst Case Scenario) อย่างไรก็ตามในภาวะดังกล่าวอาจส่งผลให้สัดส่วนทุนสำรองของธนาคารเหล่านั้นลดลงมาสู่ที่ระดับ 7.7-9.5% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงขั้นต่ำ Fed จึงสั่งให้ธนาคารพาณิชย์งดการซื้อหุ้นคืน และจำกัดการจ่ายเงินปันผลในไตรมาส 3/20 นี้ให้ไม่เกินค่าเฉลี่ยของกำไร 4 ไตรมาสที่ผ่านมาเท่านั้น ก่อนที่ Fed จะดำเนินการทำ Stress Test อีกครั้งในไตรมาส 4/20 โดย เลล เบรนาร์ด หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน ซึ่งมีอำนาจออกคะแนนเสียง ระบุว่า การอนุญาตให้จ่ายปันผลอาจส่งผลต่อทุนสำรองของธนาคาร ซึ่งอาจส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารต่อไป
– อันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ประธานาธิบดีเม็กซิโก ให้สัมภาษณ์ว่ากำลังเตรียมการเดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำระหว่างเม็กซิโกและสหรัฐฯ ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อเริ่มต้นการบังคับใช้ข้อตกลงการค้า USMCA อย่างเป็นทางการ หลังจากการเจรจาลุล่วงในช่วงปี 2018 ที่ผ่านมา
– กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลข GDP ประจำไตรมาสที่ 1/20 ครั้งที่ 3 ออกมาที่ -5.0% ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์และการประกาศครั้งก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับการหดตัวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/08 จากมาตรการปิดเมืองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 ด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า GDP ไตรมาสที่ 2/20 จะติดลบ 30% ก่อนที่จะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งในไตรมาสที่ 3 และ 4 หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีทิศทางที่ดีขึ้น
– วุฒิสภาสหรัฐฯ เตรียมเดินหน้าเสนอให้รัฐสภาอนุมัติวงเงินกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจกลุ่ม Semiconductor ภายในประเทศผ่านทางการให้งบประมาณวิจัยและพัฒนา รวมไปถึงการให้โครงการของรัฐสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาดังกล่าวได้มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่ากลุ่มธุรกิจดังกล่าวจะสามารถตอบโจทย์ของ Supply Chain สมัยใหม่ที่กลุ่มเทคโนโลยีเป็นผู้นำ ซึ่งทำให้ชิปเป็นส่วนสำคัญที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง
ภาวะตลาดวานนี้
– ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจจะออกมาไม่ค่อยดีก็ตาม โดยมีแรงเข้าซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารจากแรงหนุนที่คณะกรรมการประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้ผ่อนคลายข้อกำหนด Volcker Rule ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับธนาคารสามารถลงทุนเพิ่มเติมได้ โดยหุ้นโกลด์แมนแซคส์พุ่ง 4.6% และหุ้นเจพีมอร์แกนพุ่ง 3.5% เป็นต้น สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นยุโรปที่ปรับตัวขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดี รวมทั้ง ECB มีแผนจะปล่อยกู้ให้กับประเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาดให้ดีขึ้น
– สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นจากตัวเลขการสั่งซื้อสินค้าคงทนที่ออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ แสดงถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลดีต่ออุปสงค์น้ำมัน ด้านสัญญาทองคำปรับตัวลงจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมไปถึงตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมา ส่งผลให้นักลงทุนเทขายทองคำที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยออกมาจากปัจจัยดังกล่าว
สหรัฐฯ
– Dow Jones อยู่ที่ 25745.6 เพิ่มขึ้น 299.66 (1.18%)
– S&P 500 อยู่ที่ 3083.76 เพิ่มขึ้น 33.43 (1.1%)
– Nasdaq อยู่ที่ 10017 เพิ่มขึ้น 107.84 (1.09%)
ยุโรป
– DAX อยู่ที่ 12177.87 เพิ่มขึ้น 83.93 (0.69%)
– FTSE 100 อยู่ที่ 6147.14 เพิ่มขึ้น 23.45 (0.38%)
– Euro Stoxx 50 อยู่ที่ 3218.91 เพิ่มขึ้น 22.79 (0.71%)
– FTSE MIB อยู่ที่ 19234.75 เพิ่มขึ้น 71.77 (0.37%)
เอเชีย
– Nikkei 225 อยู่ที่ 22259.79 ลดลง -274.53 (-1.22%)
– S&P/ASX 200 อยู่ที่ 5817.7 ลดลง -148 (-2.48%)
– Shanghai อยู่ที่ 2979.55 เพิ่มขึ้น 8.93 (0.3%)
– SZSE Component อยู่ที่ 11813.53 ลดลง 0 (0%)
– China A50 อยู่ที่ 13938.63 เพิ่มขึ้น 72.49 (0.52%)
– Hang Seng อยู่ที่ 24781.58 ลดลง -125.76 (-0.5%)
– Taiwan Weighted อยู่ที่ 11660.67 เพิ่มขึ้น 48.31 (0.42%)
– SET อยู่ที่ 1325.88 ลดลง -7.55 (-0.57%)
– KOSPI อยู่ที่ 2112.37 ลดลง -49.14 (-2.27%)
– IDX Composite อยู่ที่ 4896.73 ลดลง -68 (-1.37%)
– BSE Sensex อยู่ที่ 34842.1 ลดลง -26.88 (-0.08%)
– PSEi Composite อยู่ที่ 6118.26 ลดลง -70.57 (-1.14%)
Commodity
– ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ 39 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.02 (2.69%)
– ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ อยู่ที่ 41.44 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.15 (2.85%)
– ราคาทองคำ อยู่ที่ 1765.97 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพิ่มขึ้น 203.68 (0.21%)
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- Infoquest
- Bloomberg
- Investing
- CNBC
- Reuters