×

IMF ลดคาดการณ์ GDP โลกเหลือ -4.9% จากปัจจัยโควิด-19, สหรัฐฯ เตรียมเก็บภาษีนำเข้ายุโรปเพิ่ม ตอบโต้หนุนธุรกิจการบิน: 5 ปัจจัยที่นักลงทุนต้องรู้ (25 มิ.ย. 2563)

โดย FINNOMENA
25.06.2020
  • LOADING...
  • จับตาตัวเลขเศรษฐกิจ โดยวันนี้สหรัฐฯ มีกำหนดประกาศดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจสำคัญ 2 ดัชนี ประกอบด้วยตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ประจำไตรมาส 1/20 ครั้งที่ 3 ซึ่งจะเป็นการประกาศหลังตรวจสอบอย่างเป็นทางการ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ -5.0% (QoQ) ตามการประกาศครั้งก่อนหน้า หดตัวจากไตรมาส 4/19 ที่ 2.1% ซึ่งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กดดันให้เศรษฐกิจหยุดชะงักทั่วโลกในช่วงปลายไตรมาส 1 ที่ผ่านมา นอกจากนี้แล้วยังประกาศยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนประจำเดือนพฤษภาคม ซึ่งคาดว่าจะกลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ระดับ 10.9% (MoM) สะท้อนความเชื่อมั่นในการสั่งซื้อสินค้าต้นทุน รวมไปถึงการขนส่งที่ฟื้นตัวอีกครั้ง จากแนวโน้มการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

 

  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2020 และ 2021 โดยได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2020 ลงจาก -3% เหลือ -4.9% และปี 2021 ลงจากขยายตัว 5.8% เหลือขยายตัว 5.4% สืบเนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ที่รุนแรงกว่าที่ IMF คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยในกลุ่มเขตเศรษฐกิจหลักทั่วโลกมีเพียงจีนเท่านั้นที่ IMF ยังคาดว่า  GDP จะขยายตัวที่ระดับ 1.0% ขณะที่สหรัฐฯ และยุโรปถูกคาดว่าจะหดตัว 8.0% และ 10.2% ตามลำดับ นอกจากนี้ IMF ยังระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้สร้างแรงกดดันต่อสถานะการคลังของรัฐบาลทั่วโลก เนื่องจากความพยายามใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงาน ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ IMF เห็นสมควรเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดดังกล่าว

 

  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารประเทศไทย (ธปท.) มีมติ 6-0 เป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยไว้ที่ระดับ 0.50% ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ พร้อมกับปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของไทยปี 2020 จากระดับ -5.3% ลงสู่ระดับ -8.1% ซึ่งเป็นระดับการหดตัวที่รุนแรงกว่าวิกฤตปี 2540 ที่เศรษฐกิจไทยติดลบ 7.6% จากการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการส่งออกที่คาดว่าจะหดตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ -10.3% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ -8.1% 

 

  • สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTTR) เปิดเผยเอกสารที่ระบุว่า สหรัฐฯ เตรียมพิจารณาดำเนินการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากยุโรปเพิ่มเติมกว่า 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บนสินค้ากลุ่มเดิมที่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าอยู่ก่อนแล้ว และสินค้ากลุ่มใหม่ประเภทอาหารจากฝรั่งเศส สเปน เยอรมนี และสหราชอาณาจักร อาทิ กาแฟ ช็อกโกแลต เบียร์ และมะกอก ซึ่งการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากมติขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่ตัดสินให้สหรัฐฯ ชนะในข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการอุดหนุนธุรกิจการบินในช่วงที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสร้างความกังวลแก่สหภาพยุโรป ซึ่งแสดงความเห็นว่าเป็นการเรียกเก็บภาษีที่เกินกว่าเหตุ และอาจมีการนำประเด็นเรื่องการเก็บภาษีธุรกิจเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม การเรียกเก็บภาษีดังกล่าวยังคงอยู่ในช่วงพิจารณา ซึ่งจะตัดสินใจอีกครั้งในช่วงวันที่ 26 กรกฎาคมนี้

 

  • หลังจากที่จำนวนผู้ติดโควิด-19 ในสหรัฐฯ พุ่งขึ้นอีกครั้งในหลายมลรัฐที่ไม่ใช่นิวยอร์ก ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐที่มีประชากรมากที่สุดและเป็นรัฐที่เป็นจุศศูนย์กลางการแพร่ระบาดช่วงแรก ส่งผลให้ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก, นิวเจอร์ซีย์ และคอนเนตทิคัตออกแถลงการณ์ร่วมกันว่า รัฐต่างๆ จะใช้มาตรการกักตัว 14 วันสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากรัฐที่โควิด-19 แพร่ระบาดหนัก อาทิ รัฐแอละแบมา แอริโซนา อาร์คันซอ ฟลอริดา นอร์ทแคโรไลนา เซาท์แคโรไลนา เท็กซัส ยูทาห์ และวอชิงตัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดระลอก 2 ที่อาจเกิดขึ้นได้

 

ภาวะตลาดวานนี้

  • ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงจากแรงกดดันของจำนวนผู้ติดโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกดดันให้บางรัฐกลับมาปิดระบบเศรษฐกิจอีกครั้ง ส่งผลให้เศรษฐกิจในสหรัฐฯ กลับมาชะลอตัวอีกครั้ง สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นยุโรปที่ปรับตัวลงเช่นกัน หลัง IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกจะหดตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.9% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัว 3% ซึ่งสร้างความกังวลให้นักลงทุนเทขายหุ้นที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยง

 

  • สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวลงจากความกังวลที่อาจเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกรอบ ซึ่งส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันลดลงจากมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ประกอบกับสต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำมันล้นตลาด ด้านสัญญาทองคำปรับตัวลงจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมไปถึงแรงเทขายทำกำไรจากนักลงทุนจากที่ก่อนหน้านี้ปรับตัวขึ้นมาแรง

 

สหรัฐฯ

  • Dow Jones อยู่ที่ 25445.94 ลดลง -710.16 (-2.72%)
  • S&P 500 อยู่ที่ 3050.33 ลดลง -80.96 (-2.59%)
  • Nasdaq อยู่ที่ 9909.17 ลดลง -222.2 (-2.19%)

 

ยุโรป

  • DAX อยู่ที่ 12093.94 ลดลง -429.82 (-3.43%)
  • FTSE 100 อยู่ที่ 6123.69 ลดลง -196.43 (-3.11%)
  • Euro Stoxx 50 อยู่ที่ 3196.12 ลดลง -102.71 (-3.11%)
  • FTSE MIB อยู่ที่ 19162.98 ลดลง -678.6 (-3.42%)

 

เอเชีย

  • Nikkei 225 อยู่ที่ 22534.32 ลดลง -14.73 (-0.07%)
  • S&P/ASX 200 อยู่ที่ 5965.7 เพิ่มขึ้น 11.3 (0.19%)
  • Shanghai อยู่ที่ 2979.55 เพิ่มขึ้น 8.93 (0.3%)
  • SZSE Component อยู่ที่ 11813.53 เพิ่มขึ้น 19.52 (0.17%)
  • China A50 อยู่ที่ 13938.63 เพิ่มขึ้น 72.49 (0.52%)
  • Hang Seng อยู่ที่ 24781.58 ลดลง -125.76 (-0.5%)
  • Taiwan Weighted อยู่ที่ 11660.67 เพิ่มขึ้น 48.31 (0.42%)
  • SET อยู่ที่ 1333.43 ลดลง -23 (-1.7%)
  • KOSPI อยู่ที่ 2161.51 เพิ่มขึ้น 30.27 (1.42%)
  • IDX Composite อยู่ที่ 4964.74 เพิ่มขึ้น 85.6 (1.75%)
  • BSE Sensex อยู่ที่ 34868.98 ลดลง -561.45 (-1.58%)
  • PSEi Composite อยู่ที่ 6188.83 ลดลง -108.95 (-1.73%)

 

Commodity

  • ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ 37.98 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง -2.39 (-5.92%)
  • ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ อยู่ที่ 40.29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง -2.34 (-5.49%)
  • ราคาทองคำ อยู่ที่ 1762.29 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ลดลง -5.25 (-0.3%)

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง: 

  • Infoquest
  • Bloomberg
  • Investing
  • CNBC
  • Reuters
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X