- จับตาตัวเลขเศรษฐกิจ โดยวันนี้สหรัฐฯ มีกำหนดประกาศดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการจากสถาบัน Markit (เบื้องต้น) ประจำเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจที่สะท้อนมุมมองทางเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนข้างหน้า โดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 48.0 และ 46.5 จุด ตามลำดับ สอดคล้องไปกับทิศทางเดียวกันกับยุโรปที่มีกำหนดประกาศดัชนีทั้งสองเหมือนกัน โดยคาดว่าจะประกาศออกมาที่ระดับ 44.5 และ 41.0 จุด ตามลำดับ ซึ่งยังอยู่ในแดนหดตัวต่อเนื่องทั้ง 4 ดัชนีจากแรงกดดันของวิกฤตโควิด-19 แต่ฟื้นตัวขึ้นจากแนวโน้มการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมากจากทั้งรัฐบาลและธนาคารกลาง อย่างไรก็ตาม ในฝั่งของสหรัฐฯ นั้นนักลงทุนยังคงจับตาดัชนีดังกล่าวจากสถาบัน ISM ซึ่งมีกำหนดประกาศในสัปดาห์หน้าอีกครั้ง
- รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้สั่งการให้สถาบันการเงินประเมินและจัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนในระยะ 1-3 ปีข้างหน้า โดยพิจารณาจากแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต ตลอดจนศักยภาพของลูกหนี้ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง โดยแต่ละสถาบันการเงินจะต้องส่งแผนดังกล่าวให้ ธปท. ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ พร้อมทั้งระบุว่าแม้มาตรฐานระดับเงินกองทุนของสถาบันการเงินจะต้องไม่ต่ำกว่า 8.5% แต่ ธปท. จะไม่ปล่อยให้เงินกองทุนอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป โดยหากระดับเงินกองทุนลงมาเหลืออยู่ที่ระดับ 11.5-12.5% จะต้องมีการหารือร่วมกัน เพื่อหาแนวทางบริหารจัดการเงินกองทุน ขณะที่ปัจจุบันระดับเงินกองทุนอยู่ที่ระดับ 18.7% ขณะที่ ธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. ระบุว่าได้ให้แนวทางแก่ธนาคารพาณิชย์ในการพิจารณาแนวทางให้รางวัลแก่ลูกหนี้ชั้นดีที่จ่ายหนี้ตรงเวลาและมีประวัติการชำระหนี้ดี เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย หรือการคืนเงิน เป็นต้น เพื่อสร้างแรงจูงใจในการชำระหนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ธนาคารพาณิชย์ล้วนแต่ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหา
- วานนี้ธนาคารกลางจีน (PBOC) ตัดสินใจเสริมสภาพคล่องผ่านทางตลาดซื้อคืนพันธบัตร (Reverse Repos) วงเงินรวมกว่า 1.2 แสนล้านหยวน ผ่านทาง Reverse Repos อายุ 7 วัน 40,000 ล้านหยวน และ 14 วัน 80,000 ล้านหยวน ที่ระดับอัตราดอกเบี้ย 2.2% และ 2.35% ตามลำดับ เพื่อรักษาสภาพคล่องระบบธนาคารให้มีเสถียรภาพ สอดคล้องกับแผนการดำเนินการของ PBOC ที่แถลงก่อนหน้านี้ว่าจะใช้เครื่องมือที่หลากหลายเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดการเงินของจีนในเชิงรุกต่อไป
- ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงเรียกร้องให้จีนปล่อยตัวชาวแคนาดา 2 คนที่ถูกทางการจีนจับกุมตัวในข้อหาจารกรรมในปี 2018 โดยระบุว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวเลื่อนลอย ไร้เหตุผล และสหรัฐฯ รู้สึกกังวลในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยช่วงเวลาที่ทั้งสองถูกจับกุมนั้นเป็นช่วงเวลาไม่นานหลังจากที่แคนาดาจับตัว เมิ่งหว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ Huawei ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการกระทำเพื่อตอบโต้ของทางการจีนมากกว่าที่จะเป็นข้อกล่าวหาที่แท้จริง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างแคนาดาและจีนตึงเครียดมากขึ้นนับตั้งแต่นั้นมา ส่วนการเคลื่อนไหวครั้งนี้ของสหรัฐฯ ถูกจับตาว่าอาจทำให้ความสัมพันธ์ของจีนและสหรัฐฯ ตึงเครียดขึ้นอีก
- วานนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขาชิคาโก (Fed) เปิดเผยดัชนี Chicago Fed National Activity Index (CFNAI) ประจำเดือนพฤษภาคมออกมาที่ 2.61 จุด ทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ฟื้นตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ -17.89 จุด ซึ่งต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยแบ่งเป็นการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจมากกว่า 72 กิจกรรม จากทั้งหมด 85 กิจกรรม โดยเฉพาะการจ้างงานที่กลับมาฟื้นตัวใน 4 หมวดกิจกรรม สะท้อนความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่กลับมาอีกครั้งหลังผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง
- โจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต คู่แข่งคนสำคัญของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ได้ส่งหนังสือเรียกร้องไปยัง Facebook และ Twitter สองแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ให้ดำเนินการลบข้อความของทรัมป์ที่ระบุว่าการเลือกตั้งทางไปรษณีย์นั้นไม่สมเหตุสมผล แม้ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม โดยช่วงเวลานี้มีการประท้วงทั่วประเทศ แต่ผู้คนกลับกลัวติดโควิด-19 จากการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง อย่างไรก็ตามทั้ง Facebook และ Twitter ออกมาปฏิเสธที่จะนำข้อความดังกล่าวออกจากระบบ โดยให้เหตุผลว่าข้อความดังกล่าวไม่ได้ละเมิดกฎของบริษัทแต่อย่างใด โดยที่ผ่านมาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียถูกกดดันอย่างต่อเนื่องจากทั้งสองฝ่ายให้ตรวจสอบข่าวปลอม (Fake News) และข้อความทางการเมืองทั้งหลายที่อาจชี้นำผลการเลือกตั้งปลายปีนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าแนวโน้มการโจมตีรวมไปถึงเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดียลักษณะนี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องจนกว่าการเลือกตั้งจะผ่านพ้นไป
ภาวะตลาดวานนี้
- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นหลังมีรายงานตัวเลข Chicago Fed National Activity Index (CFNAI) ของเดือนพฤษภาคมเพิ่มแตะระดับ 2.61 ซึ่งทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แสดงถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังมีการปิดเมืองไปก่อนหน้านี้ ประกอบกับแรงหนุนจากกระแสคาดการณ์ว่าสภาคองเกรสจะอนุมัติงบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐานวงเงินเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนเข้าซื้อหุ้น โดยหวังว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นฟูเร็วๆ นี้ สวนทางกันกับตลาดหุ้นยุโรปที่ปรับตัวลงจากตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อในเยอรมนีที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจอาจชะลอตัวไปอีกหากมีการปิดเมืองอีกรอบ
- สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นจากความคาดหวังที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะกลับมาฟื้นตัวในเร็วๆ นี้ รวมไปถึงจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ที่ลดลง 7 สัปดาห์ติดต่อกัน แสดงถึงอุปทานที่ลดลง ด้านสัญญาทองคำปรับตัวขึ้นจากปัจจัยรายงานผู้ติดโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมไปถึงการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อถัวเฉลี่ยความเสี่ยง
สหรัฐฯ
- Dow Jones อยู่ที่ 26,024.96 เพิ่มขึ้น 153.5 (+0.59%)
- S&P 500 อยู่ที่ 3,117.86 เพิ่มขึ้น 20.12 (+0.65%)
- Nasdaq อยู่ที่ 10,056.48 เพิ่มขึ้น 110.35 (+1.11%)
ยุโรป
- DAX อยู่ที่ 12,262.97 ลดลง 67.79 (-0.55%)
- FTSE 100 อยู่ที่ 6,244.62 ลดลง 47.98 (-0.76%)
- Euro Stoxx 50 อยู่ที่ 3,241.69 ลดลง 27.41 (-0.84%)
- FTSE MIB อยู่ที่ 19,478.73 ลดลง 140.2 (-0.71%)
เอเชีย
- Nikkei 225 อยู่ที่ 22,437.27 ลดลง 41.52 (-0.18%)
- S&P/ASX 200 อยู่ที่ 5,944.5 เพิ่มขึ้น 1.9 (+0.03%)
- Shanghai อยู่ที่ 2,965.27 ลดลง 2.36 (-0.08%)
- SZSE Component อยู่ที่ 11,702.44 เพิ่มขึ้น 34.31 (+0.29%)
- China A50 อยู่ที่ 13,841.46 ลดลง 71.09 (-0.51%)
- Hang Seng อยู่ที่ 24,511.34 ลดลง 132.55 (-0.54%)
- Taiwan Weighted อยู่ที่ 11,572.93 เพิ่มขึ้น 23.07 +(0.2%)
- SET อยู่ที่ 1,352.18 ลดลง 18.64 (-1.36%)
- KOSPI อยู่ที่ 2,126.73 ลดลง 14.59 (-0.68%)
- IDX Composite อยู่ที่ 4,918.83 ลดลง 23.44 (-0.47%)
- BSE Sensex อยู่ที่ 34,911.32 เพิ่มขึ้น 179.59 (+0.52%)
- PSEi Composite อยู่ที่ 6,347.43 เพิ่มขึ้น 32.36 (+0.51%)
Commodity
- ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ 40.95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.2 (+3.02%)
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ อยู่ที่ 43 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.81 (+1.92%)
- ราคาทองคำ อยู่ที่ 1755.53 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพิ่มขึ้น 11.92 (+0.68%)
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- Infoquest
- Bloomberg
- Investing
- CNBC
- Reuters