×

สหรัฐฯ เล็งเก็บภาษีจีนต่อ หลังข้อตกลงเฟส 1, ธนาคารกลางญี่ปุ่นส่งสัญญาณเดินหน้าใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน: 5 ปัจจัยที่นักลงทุนต้องรู้ (15 ม.ค. 2563)

โดย FINNOMENA
15.01.2020
  • LOADING...
  • Bloomberg รายงานโดยอ้างหลายแหล่งข่าวว่า สหรัฐฯ จะยังเก็บภาษีนำเข้าจากจีนไปจนกว่าการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ช่วงเดือนพฤศจิกายนจะเสร็จสิ้น ส่วนการปรับลดภาษีนำเข้า ขึ้นอยู่กับทางจีนว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุในข้อตกลงการค้าในเฟสแรกหรือไม่ ทั้งนี้ สหรัฐฯ และจีนมีความเข้าใจตรงกันว่า หลังการลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรกที่ทำเนียบขาวในวันพุธที่ 15 มกราคมเรียบร้อยแล้ว จากนั้นไม่เกิน 10 เดือน ทางสหรัฐฯ จะเริ่มทบทวนความเป็นไปได้ที่จะปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มเติมอีก 3.60 แสนล้านดอลลาร์ โดยการกำหนดเวลาทบทวนดังกล่าว มีจุดประสงค์ที่จะให้ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มีเวลาในการตรวจสอบเพียงพอว่าจีนปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อตกลงการค้าเฟสแรกหรือไม่

 

  • แบงก์ชาติญี่ปุ่นไม่ลังเลที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น กล่าวในเช้าวันนี้ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่ลังเลที่จะผ่อนคลายนโยบายต่อไป พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อให้ถึงเป้าหมาย 2.0% โดยปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นอยู่ที่ราว 0.5% ซึ่งควรจะอยู่ที่ระดับ 2.0% ที่จะให้ Output Gap กลับมาเป็นบวก ขณะที่แนวโน้มราคาน้ำมันที่ลดลงยังเป็นตัวกดดันเงินเฟ้อ (Output Gap หมายถึงศักยภาพในการผลิต เทียบกับกำลังการผลิตที่เกิดขึ้นจริง หากติดลบหมายถึงผลิตต่ำกว่าศักยภาพที่ผลิตได้) 

 

  • UBS คาด แนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ มีโอกาสลดได้ถึง 3 ครั้งในปีนี้ อาเรนด์ แคปเทย์น หัวหน้าทีมวิเคราะห์เศรษฐกิจของธนาคาร UBS มองว่า ผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนนั้น เป็นตัวฉุดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้ครึ่งปีแรก มีแนวโน้มขยายตัวเพียง 0.5% ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันให้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลดดอกเบี้ย โดย UBS คาดว่า การปรับลดครั้งแรกจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม หากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัว และถึงแม้จะมองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะลดดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง แต่เชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่อยู่ในระดับภาวะถดถอย

 

  • จับตาตัวเลขเงินเฟ้อภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ โดยวันนี้สหรัฐฯ มีกำหนดรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นตัวแทนของอัตราเงินเฟ้อฝั่งผู้ผลิตว่า ราคาสินค้าที่ถูกจำหน่ายสามารถปรับขึ้น-ลงได้มากน้อยเพียงใด ในครั้งนี้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า จะประกาศออกมาที่ขยายตัว 0.2% (MoM) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 0% สะท้อนการปรับขึ้นของราคาสินค้าเล็กน้อย สอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

 

  • ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญทั่วโลก 1. จีน ประกาศตัวเลขสินเชื่อของผู้กู้รายใหม่เดือนธันวาคม โดยนักวิเคราะห์คาดว่า ชะลอตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 1.194 ล้านล้านหยวน ซึ่งเดือนพฤศจิกายนประกาศไว้ที่ 1.390 ล้านล้านหยวน 2. ยุโรป ดัชนีภาคการผลิตเดือนพฤศจิกายน นักวิเคราะห์คาด ขยายตัว 0.3% เทียบเดือนก่อนหน้า ขณะที่เทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คาดว่า หดตัวที่ -1.1% ซึ่งนักวิเคราะห์เริ่มมีมุมมองเชิงบวกขึ้น จากก่อนหน้าที่ประเมินหดตัวมากถึง -2.3 ถึง -2.5% ตลอดช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา 3. อินโดนีเซีย ประกาศตัวเลขส่งออกเดือนธันวาคม ด้านนักวิเคราะห์คาด ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่ยังคงหดตัวที่ระดับ -3.03% ขณะที่เดือนก่อนหน้าประกาศไว้ที่ -5.67% 4. อังกฤษ ดัชนีราคาผู้บริโภค (UK CPI) ถูกคาดการณ์ว่า จะประกาศออกมาที่ 1.5% ทรงตัวจากครั้งก่อนหน้า แต่ยังคงอยู่ในแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ธนาคารกลางอังกฤษพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต

 

สรุปภาพรวมตลาดวานนี้

  • ดัชนี Dow Jones ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ปรับตัวลงจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ทางสหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้าไปจนกว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ จะเสร็จสิ้น ส่วนการลดภาษีนำเข้าจะขึ้นอยู่กับจีนว่า ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อตกลงการค้าเฟสแรกหรือไม่ ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มชะลอการลงทุนในหุ้น เพื่อจับตาดูสถานการณ์ต่อไป สวนทางกันกับตลาดหุ้นยุโรปที่ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย จากหลายๆ สถานการณ์ที่เริ่มคลี่คลายลง ด้านหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมปรับตัวขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

 

  • ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นหลังจากปรับตัวลงติดต่อกัน 6 วันก่อนหน้านี้ หลังสำนักงานศุลกากรจีนรายงานว่า มีการนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่า อุปสงค์น้ำมันยังดีอยู่ ขณะที่ด้านอุปทานเริ่มลดลงจากการลดกำลังผลิตของกลุ่ม OPEC ด้านราคาทองคำปรับตัวลงเล็กน้อยจากแรงเทขายสินทรัพย์ปลอดภัยของนักลงทุน จากความคาดหวังข้อตกลงการค้าเฟสแรกที่จะมีการลงนามในวันนี้

 

สหรัฐฯ

  • Dow 30 ปิดที่ 28939.67 เพิ่มขึ้น 32.62 (0.11%)
  • S&P 500 ปิดที่ 3283.15 ลดลง -4.98 (-0.15%)
  • Nasdaq ปิดที่ 9251.33 ลดลง -22.6 (-0.24%)

 

ยุโรป

  • DAX ปิดที่ 13456.49 เพิ่มขึ้น 4.97 (0.04%)
  • FTSE 100 ปิดที่ 7622.35 เพิ่มขึ้น 4.75 (0.06%)
  • Euro Stoxx 50 ปิดที่ 3774.88 ลดลง -4.8 (-0.13%)
  • FTSE MIB ปิดที่ 23928.21 เพิ่มขึ้น 31.62 (0.13%)

 

เอเชีย

  • Nikkei 225 ปิดที่ 24025.17 เพิ่มขึ้น 174.6 (0.73%)
  • S&P/ASX 200 ปิดที่ 6962.2 เพิ่มขึ้น 58.5 (0.85%)
  • Shanghai ปิดที่ 3106.82 ลดลง -8.75 (-0.28%)
  • SZSE Component ปิดที่ 10988.77 ลดลง -51.43 (-0.47%)
  • China A50 ปิดที่ 14550.49 ลดลง -56.13 (-0.38%)
  • Hang Seng ปิดที่ 28885.14 ลดลง -69.8 (-0.24%)
  • Taiwan Weighted ปิดที่ 12179.81 เพิ่มขึ้น 66.39 (0.55%)
  • SET ปิดที่ 1586.9 เพิ่มขึ้น 0.74 (0.05%)
  • KOSPI ปิดที่ 2238.88 เพิ่มขึ้น 9.62 (0.43%)
  • IDX Composite ปิดที่ 6325.41 เพิ่มขึ้น 28.84 (0.46%)
  • BSE Sensex ปิดที่ 41952.63 เพิ่มขึ้น 92.94 (0.22%)
  • PSEi Composite ปิดที่ 7793.25 เพิ่มขึ้น 16.48 (0.21%)

 

Commodity

  • ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ 58.48 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.4 (0.69%)
  • ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปิดที่ 64.88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.68 (1.06%)
  • ราคาทองคำ ปิดที่ 1544.4 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ลดลง -6.2 (-0.4%)

 

FINNOMENA

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง: 

  • Infoquest
  • Bloomberg
  • Investing
  • CNBC
  • Reuters
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X