×

Fed ออกมาตรการใหม่ QE ไม่จำกัดวงเงิน หวังบรรเทาผลกระทบโควิด-19, วุฒิสภาสหรัฐฯ ยังไม่ผ่านงบอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์: 5 ปัจจัยที่นักลงทุนต้องรู้ (24 มี.ค. 2563)

โดย FINNOMENA
24.03.2020
  • LOADING...
FINNOMENA
  • ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ออกมาตรการใหม่ใหญ่กว่าเดิม ประกาศ QE ไม่จำกัดวงเงิน หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ขึ้นในหลายพื้นที่จนกระทบต่อเศรษฐกิจ โดย Fed จะปลดล็อกเพดานการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ประเภทที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (MBS) อย่างไม่มีจำกัด ส่งผลให้บัญชีงบดุล (Balance Sheet) ของ Fed พุ่งขึ้นถึง 5 แสนล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 4.66 ล้านล้านดอลลาร์ โดยสัปดาห์นี้ Fed จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในวงเงินอีก 3.75 แสนล้านดอลลาร์ และ MBS วงเงิน 2.5 แสนล้านดอลลาร์

 

  • วุฒิสภาสหรัฐฯ อยู่ในช่วงพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจต้องใช้เงินมากถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ โดยมีข้อกำหนดส่วนหนึ่งที่จะมอบเงินอย่างน้อย 1,200 ดอลลาร์ แก่ครอบครัวอเมริกันตามระดับรายได้และจำนวนสมาชิก รวมทั้งมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ธุรกิจขนาดเล็ก และเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลต่างๆ แต่การเจรจายังติดตรงประเด็นสำคัญ เนื่องจากสมาชิกเดโมแครตเห็นว่ามาตรการช่วยเหลือดังกล่าวยังช่วยดูแลชนชั้นกลาง และผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโคโรนาไม่มากเพียงพอ และไม่ต้องการให้รีพับลิกันใช้งบประมาณนี้ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น สายการบิน

 

  • วานนี้ ค่าเงินบาททำจุดสูงสุดที่ 33.04 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนปรับตัวย่อลงมาอีกระดับ 32.77 บาทต่อดอลลาร์ โดยสาเหตุของการอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องนั้น ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักวิเคราะห์ตลาดการเงินและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ เผยมุมมองถึงปัญหาด้านความเชื่อในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) เพราะความผันผวนที่สูงเกินไป ในกรอบเคลื่อนไหว วันละ 50 สตางค์ ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ช่วงนี้ยังเป็นแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติ เฉพาะเดือนมีนาคมนี้ ต่างชาติขายสุทธิไปแล้วกว่า 68,000 ล้านบาท โดยยอดขายสุทธิตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) อยู่ที่กว่า 79,000 ล้านบาท

 

  • คริสตาลินา จอร์จีวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า IMF คาดว่า เศรษฐกิจปี 2020 จะเข้าสู่ระดับติดลบ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งอาจร้ายแรงกว่าวิกฤตการเงินครั้งที่ผ่านมา ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการแพร่กระจายของไวรัสดังกล่าว จนกว่าจะควบคุมได้

 

  • จับตาตัวเลข PMI เบื้องต้นทั่วโลกประจำเดือนมีนาคม 1. ออสเตรเลียประกาศตัวเลขเช้านี้ Manufacturing PMI ขยายตัวขึ้นมาที่ระดับ 50.1 จากก่อนหน้าที่ 49.8 แต่ Services PMI ออกมาหดตัวเหลือ 39.8 จาก 48.4 2. ญี่ปุ่น Manufacturing PMI ประกาศแล้วอยู่ที่ระดับ 44.8 หดตัวจากก่อนหน้า 47.8 ส่วน Services PMI รอประกาศ 3. Manufacturing PMI ของยุโรป คาดเหลือ 39.0 จากระดับ 49.2 เช่นเดียวกันกับ Services PMI ที่คาดว่าจะลดเหลือ 39.0 จากระดับ 52.6 4. Manufacturing PMI ของสหรัฐฯ คาดเหลือ 42.8 จากระดับ 50.7 ขณะที่ Services PMI อาจลดเหลือ 42.0 จากระดับ 49.4

 

สรุปภาพรวมตลาดเมื่อวานนี้

  • แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเม็ดเงิน (QE) เข้าระบบในวงเงินไม่จำกัด แต่ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยพยุงตลาดหุ้นได้ โดยดัชนี Dow Jones, S&P 500 และ Nasdaq ยังคงปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นยุโรปที่ปรับตัวลงเช่นกัน จากการคาดการณ์ที่เศรษฐกิจยุโรปอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยเร็วๆ นี้

 

  • ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นขานรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำมันที่มากขึ้น ด้านราคาทองคำปรับตัวขึ้นแรงจากความกังวลที่เศรษฐกิจอาจชะลอตัวไปอีกสักระยะ ส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าว

 

สหรัฐฯ

  • Dow 30 อยู่ที่ 18591.93 ลดลง -582.05 (-3.04%)
  • S&P 500 อยู่ที่ 2237.4 ลดลง -67.52 (-2.93%)
  • Nasdaq อยู่ที่ 6860.67 ลดลง -18.84 (-0.27%)

 

ยุโรป

  • DAX อยู่ที่ 8741.15 ลดลง -187.8 (-2.1%)
  • FTSE 100 อยู่ที่ 4993.89 ลดลง -196.89 (-3.79%)
  • Euro Stoxx 50 อยู่ที่ 2485.54 ลดลง -62.96 (-2.47%)
  • FTSE MIB อยู่ที่ 15559.8 ลดลง -172.05 (-1.09%)

 

เอเชีย

  • Nikkei 225 อยู่ที่ 17984.5 เพิ่มขึ้น 1096.72 (6.49%)
  • S&P/ASX 200 อยู่ที่ 4666.8 เพิ่มขึ้น 120.8 (2.66%)
  • Shanghai อยู่ที่ 2707.05 เพิ่มขึ้น 46.88 (1.76%)
  • SZSE Component อยู่ที่ 9935.26 เพิ่มขึ้น 243.72 (2.52%)
  • China A50 อยู่ที่ 12255.69 เพิ่มขึ้น 295.97 (2.47%)
  • Hang Seng อยู่ที่ 22566 เพิ่มขึ้น 869.87 (4.01%)
  • Taiwan Weighted อยู่ที่ 9368.92 เพิ่มขึ้น 478.89 (5.39%)
  • SET อยู่ที่ 1024.46 ลดลง -102.78 (-9.12%)
  • KOSPI อยู่ที่ 1585.3 เพิ่มขึ้น 102.84 (6.94%)
  • IDX Composite อยู่ที่ 4074.25 เพิ่มขึ้น 84.74 (2.12%)
  • BSE Sensex อยู่ที่ 25981.24 ลดลง -3934.72 (-13.15%)
  • PSEi Composite อยู่ที่ 4800.6 เพิ่มขึ้น 57.23 (1.21%)

 

Commodity

  • ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ 24.58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.22 (5.22%)
  • ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ อยู่ที่ 28.19 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.16 (4.29%)
  • ราคาทองคำ อยู่ที่ 1593.7 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพิ่มขึ้น 26.1 (1.66%)

FINNOMENA

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง: 

  • InfoQuest
  • Bloomberg
  • Investing
  • CNBC
  • Reuters
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X