– จับตาตัวเลขเศรษฐกิจ โดยวันนี้อังกฤษมีกำหนดประกาศยอดค้าปลีกประจำเดือนเมษายน ซึ่งคาดว่าจะหดตัว 16.0% (MoM) มากกว่าเดือนมีนาคมที่ -5.1% (MoM) สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เตรียมตัดสินใจด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันนี้ด้วย ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า BOJ จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ -0.10% ต่อไป แต่นักลงทุนยังคงจับตาถ้อยแถลงของผู้ว่าการธนาคารกลางว่ามีแนวโน้มจะดำเนินนโยบายการเงินต่อไปอย่างไร
– ธนาคารกลางฝรั่งเศสเริ่มทดลองใช้ยูโรดิจิทัล และกลายเป็นประเทศแรกที่ประสบความสำเร็จในการทดลองใช้เงินยูโรดิจิทัลบนบล็อกเชน หลังจากช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้พัฒนาเทคโนโลยีเงินดิจิทัล โดยมุ่งเน้นไปที่การทดลองใช้ในระบบค้าส่งมากกว่าระบบค้าปลีกไปก่อน
– วานนี้สหรัฐฯ ประกาศตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานในสหรัฐฯ ที่ 2.44 ล้านคน ลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 แต่ยังสูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.4 ล้านราย สืบเนื่องจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา โดยหากนับจากวันที่ 21 มีนาคมเป็นต้นมา มียอดรวมผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานทั้งสิ้น 38.6 ล้านคน
– วันนี้ธนาคารกลางสิงคโปร์ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมข้ามคืน (SORA) สู่ระดับ 0.0135% เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบการเงิน และปรับต้นทุนการกู้ยืมให้ใกล้เคียงกับสหรัฐฯ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลดดอกเบี้ยลงในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
– โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า แม้สหรัฐฯ เกิดการระบาดหนักระลอกที่ 2 ของโควิด-19 เขาก็ไม่มีแผนจะปิดเมืองอีกครั้ง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนอย่างต่อเนื่องว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่โควิด-19 จะกลับมาระบาดหนักอีกครั้ง โดยปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ มีมากกว่า 1.5 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 93,000 ราย
ภาวะตลาดวานนี้
– ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงหลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด โดยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานออกมาสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่แย่ลงเรื่อยๆ หลังวุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติเป็นเอกฉันท์ผ่านร่างกฎหมาย Holding Foreign Companies Accountable Act ซึ่งส่งผลให้บริษัทจีนที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ อาจถูกถอดออกจากตลาดได้ เรื่องนี้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนจนเทขายหุ้นที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงออกมา สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นยุโรปที่ปรับตัวลง แม้ตัวเลขเศรษฐกิจจะออกมาดีกว่าคาด แต่ดัชนี PMI ทั้งภาคการผลิตและบริการยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 แสดงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่บรรลุเป้าหมายในเร็วๆ นี้ แม้ว่าจะมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้วก็ตาม
– สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น หลังการลดกำลังการผลิตตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมเริ่มส่งผลอย่างชัดเจนขึ้น ประกอบกับสต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่เริ่มลดลง และการคาดการณ์ว่าดีมานด์ใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้น หลังหลายๆ ประเทศเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว ด้านสัญญาทองคำปรับตัวลงจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และแรงเทขายทำกำไรของนักลงทุนจากที่ก่อนหน้านี้ปรับตัวขึ้นมาแรง อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังคงถือครองทองคำที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอยู่ หลังตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกออกมายังไม่ค่อยดีนัก
สหรัฐฯ
– Dow 30 อยู่ที่ 24474.12 ลดลง -101.78 (-0.41%)
– S&P 500 อยู่ที่ 2948.51 ลดลง -23.1 (-0.78%)
– Nasdaq อยู่ที่ 9284.88 ลดลง -90.89 (-0.97%)
ยุโรป
– DAX อยู่ที่ 11065.93 ลดลง -157.78 (-1.41%)
– FTSE 100 อยู่ที่ 6015.25 ลดลง -51.91 (-0.86%)
– Euro Stoxx 50 อยู่ที่ 2904.98 เพิ่มขึ้น 2.4 (0.08%)
– FTSE MIB อยู่ที่ 17087.06 ลดลง -126.05 (-0.73%)
เอเชีย
– Nikkei 225 อยู่ที่ 20552.31 ลดลง -42.84 (-0.21%)
– S&P/ASX 200 อยู่ที่ 5550.4 ลดลง -22.6 (-0.41%)
– Shanghai อยู่ที่ 2867.92 ลดลง -15.81 (-0.55%)
– SZSE Component อยู่ที่ 10845.4 ลดลง -103.08 (-0.94%)
– China A50 อยู่ที่ 13442 ลดลง -20.16 (-0.15%)
– Hang Seng อยู่ที่ 24280.03 ลดลง -119.92 (-0.49%)
– Taiwan Weighted อยู่ที่ 11008.31 เพิ่มขึ้น 100.51 (0.92%)
– SET อยู่ที่ 1320.69 ลดลง -1.51 (-0.11%)
– KOSPI อยู่ที่ 1998.31 เพิ่มขึ้น 8.67 (0.44%)
– IDX Composite อยู่ที่ 4545.95 ลดลง -2.7 (-0.06%)
– BSE Sensex อยู่ที่ 30932.9 เพิ่มขึ้น 114.29 (0.37%)
– PSEi Composite อยู่ที่ 5604.49 เพิ่มขึ้น 22.53 (0.4%)
Commodity
– ราคาน้ำมัน Crude Oil WTI อยู่ที่ 33.99 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.41 (1.22%)
– ราคาน้ำมัน Brent Oil อยู่ที่ 35.95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.14 (0.39%)
– ราคาทองคำ Gold อยู่ที่ 1726.12 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ลดลง -21.62 (-1.24%)
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- Infoquest
- Bloomberg
- Investing
- CNBC
- Reuters
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum