- วานนี้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม อันประกอบไปด้วย 1. Main Refinancing Operations ที่ 0% 2. Marginal Lending Facility Rate ที่ 0.25% และ 3. Deposit Facility Rate ที่ -0.50% พร้อมทั้งคาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ ณ ระดับปัจจุบันหรือต่ำกว่าต่อไป จนกว่าจะมีมุมมองที่ชัดเจนว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับสูงขึ้นสู่ระดับใกล้เคียงแต่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% และคงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินไว้ที่ระดับเดิม อันประกอบไปด้วย 1. Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) ที่ 1.35 ล้านล้านยูโร 2. Asset Purchase Programme (APP) ที่เดือนละ 20,000 ล้านยูโร ควบคู่ไปกับการลงทุนซ้ำสำหรับพันธบัตรที่ครบอายุเต็มจำนวน และ 3. คงการเพิ่มสภาพคล่องผ่าน Refinancing Operations โดยเฉพาะมาตรการ Targeted Longer-Term Refinancing Operations III (TLTRO III) ที่จะสนับสนุนให้ธนาคารปล่อยกู้ให้แก่บริษัทเอกชนและภาคครัวเรือน นอกเสียจากว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีกว่าคาด โดย คริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB ระบุว่า เศรษฐกิจยุโรปยังอยู่ในแนวโน้มฟื้นตัว แต่ยังมีความไม่แน่นอนในระดับที่สูง และแตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปี 2020 อาจปรับลดลงก่อนที่จะฟื้นตัวในปี 2021 จากพัฒนาการของราคาน้ำมัน และการปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มของเยอรมนีในช่วงที่ผ่านมา พร้อมทั้งระบุว่าการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟู (Recovery Fund) นั้นจำเป็นอย่างยิ่ง
- จับตาตัวเลขเศรษฐกิจ โดยวันนี้สหภาพยุโรปมีกำหนดประกาศดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนมิถุนายน ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 0.3% (YoY) ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า หลังผ่านการปิดเมืองป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่สหรัฐฯ มีกำหนดประกาศยอดคำขออนุญาตสร้างบ้านประจำเดือนมิถุนายน ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 1.29 ล้านหลัง ฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยต่ำหนุนตลาดสินเชื่อของสหรัฐฯ ให้ขยายตัว และกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินได้หลังคลายมาตรการปิดเมือง
- หลังจากที่ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดสำนักข่าวซินหัว รายงานว่าทางการจีนไม่พอใจและคัดค้านกรณีการขายขีปนาวุธ PAC-3 ของสหรัฐฯ ให้แก่ไต้หวันมูลค่ากว่า 620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการละเมิดหลักการจีนเดียว และแถลงการณ์ร่วมจีน-สหรัฐฯ 3 ฉบับอย่างชัดเจน โดยจีนระบุว่าเป็นภัยร้ายแรงต่ออธิปไตยและความมั่นคงของจีน ทั้งยังเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างโจ่งแจ้ง นอกจากนี้จีนยังประกาศยืนหยัดปกป้องอธิปไตย สันติภาพ และเสถียรภาพระหว่างช่องแคบไต้หวันอย่างแน่นอน
- วานนี้ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรโดยมีสัญญาขายคืน (Reverse Repo) ระยะเวลา 7 วันลง 0.25% สู่ระดับ 4.00% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2016 ส่งผลให้ Indonesia Deposit Facility Rate ลดลงสู่ระดับ 3.25% และ Indonesia Lending Facility Rate ลดลงสู่ระดับ 4.75% นับเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 4 ในปี 2020 นี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 กดดันเศรษฐกิจทั่วโลก
- เช้าวันนี้ทางการจีนแถลงว่ากำลังพิจารณามาตรการตอบโต้ท่าทีของสหราชอาณาจักรที่ระงับการเข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาโครงสร้างระบบ 5G ภายใต้ข้อกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งจีนมองว่าการแบนดังกล่าวได้รับอิทธิพลมาจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติและทำลายความเชื่อมั่นต่อการลงทุนของจีน อีกทั้งขัดต่อหลักปฏิบัติพื้นฐานของการค้าเสรี พร้อมทั้งระบุว่าสหราชอาณาจักรควรแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นให้ถูกต้อง เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนต่อไป
ภาวะตลาดวานนี้
- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลง แม้ว่าภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจจะออกมาดีก็ตาม โดยได้รับแรงกดดันจากตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานที่เพิ่มสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ รวมไปถึงผลประกอบการของ Bank of America ออกมาไม่ดีนัก สร้างความกังวลให้นักลงทุนเทขายหุ้นที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงออกมาจากความกังวลดังกล่าว สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นยุโรปที่ปรับตัวลงเช่นกันหลัง ECB ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ รวมไปถึงผลประกอบการของบริษัทในไตรมาส 2 ที่ออกมาอ่อนแอ แสดงถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมายังไม่สามารถพยุงเศรษฐกิจไว้ได้ อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังคงคาดหวังที่ผู้นำสหภาพยุโรปจะอนุมัติวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 7.5 แสนล้านยูโรในช่วงปลายสัปดาห์นี้
- สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวลงหลังการประชุมกลุ่ม OPEC+ ลดกำลังการผลิตน้อยลงจาก 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เหลือเพียง 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งหากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นจะส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลง อาจทำให้ปริมาณน้ำมันในตลาดสูงขึ้นได้ ด้านสัญญาทองคำปรับตัวลงจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่กดดันให้ราคาทองคำสูงขึ้น อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังคงติดตามผลประกอบการของบริษัทในไตรมาส 2 ที่จะประกาศออกมาเรื่อยๆ ในช่วงเดือนนี้
สหรัฐฯ
- Dow Jones อยู่ที่ 26734.71 ลดลง -135.39 (-0.5%)
- S&P 500 อยู่ที่ 3215.57 ลดลง -10.99 (-0.34%)
- Nasdaq อยู่ที่ 10473.83 ลดลง -76.66 (-0.73%)
ยุโรป
- DAX อยู่ที่ 12874.97 ลดลง -56.01 (-0.43%)
- FTSE 100 อยู่ที่ 6250.69 ลดลง -41.96 (-0.67%)
- Euro Stoxx 50 อยู่ที่ 3365.35 ลดลง -12.86 (-0.38%)
- FTSE MIB อยู่ที่ 20356.09 เพิ่มขึ้น 74.71 (0.37%)
เอเชีย
- Nikkei 225 อยู่ที่ 22770.36 ลดลง -175.14 (-0.76%)
- S&P/ASX 200 อยู่ที่ 6010.9 ลดลง -42 (-0.69%)
- Shanghai อยู่ที่ 3210.1 ลดลง -151.21 (-4.5%)
- SZSE Component อยู่ที่ 12996.34 ลดลง -737.79 (-5.37%)
- China A50 อยู่ที่ 14981.39 ลดลง -705.2 (-4.5%)
- Hang Seng อยู่ที่ 24970.69 ลดลง -510.89 (-2%)
- Taiwan Weighted อยู่ที่ 12157.74 ลดลง -45.11 (-0.37%)
- SET อยู่ที่ 1347.86 ลดลง -6.45 (-0.48%)
- KOSPI อยู่ที่ 2183.76 ลดลง -18.12 (-0.82%)
- IDX Composite อยู่ที่ 5098.37 เพิ่มขึ้น 22.58 (0.44%)
- BSE Sensex อยู่ที่ 36471.68 เพิ่มขึ้น 419.87 (1.16%)
- PSEi Composite อยู่ที่ 6147.66 เพิ่มขึ้น 131.15 (2.18%)
Commodity
- ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ 40.78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง -0.2 (-0.49%)
- ราคาน้ำมันเบรนท์ อยู่ที่ 43.41 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง -0.22 (-0.51%)
- ราคาทองคำอยู่ที่ 1798.47 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ลดลง -14.78 (-0.82%)
อ้างอิง:
- InfoQuest
- Bloomberg
- Investing
- CNBC
- Reuters