×

Fed คงอัตราดอกเบี้ย พร้อมปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจ, EU เตือนอังกฤษเรียกร้องสิทธิประโยชน์มากเกินไป: 5 ปัจจัยที่นักลงทุนต้องรู้ (11 มิ.ย. 2563)

โดย FINNOMENA
11.06.2020
  • LOADING...
  • จับตาตัวเลขเศรษฐกิจ โดยวันนี้สหรัฐฯ มีกำหนดประกาศตัวเลขการขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกประจำสัปดาห์ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 1.55 ล้านตำแหน่ง ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 1.877 ล้านตำแหน่ง ซึ่งต่ำลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 10 หลังจากรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้มีการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้นและลดการปลดพนักงานลง นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังมีกำหนดประกาศดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นตัวแทนของอัตราเงินเฟ้อฝั่งผู้ผลิตประจำเดือนพฤษภาคม โดยคาดว่าจะขยายตัว 0.1%MoM ซึ่งเป็นการกลับสู่แดนขยายตัวอีกครั้ง หลังจากหดตัว 3 เดือนต่อเนื่อง โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าแนวโน้มการบริโภคสินค้าจำเป็นจะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อดังกล่าวขยายตัว

 

  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0-0.25% ตามการคาดการณ์ของตลาดและนักวิเคราะห์ พร้อมทั้งปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2020 ลงจากเดือนธันวาคม 2019 สู่ระดับ -6.5% แต่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวอีกครั้งในปี 2021 ที่อัตรา 5.0% สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับอัตราการว่างงานที่จะลดลงจาก 9.3% เหลือ 5.5 % ในปี 2022 นอกจากนี้ Fed ยังยืนยันว่าจะดำเนินนโยบายทางการเงินเชิงลึกอย่างเหมาะสม ทรงพลัง และไม่ยกเลิกมาตรการทางการเงินเหล่านั้นจนกว่าจะมั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) ของ Fed จะดำเนินต่อเนื่องที่ระดับ 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน แบ่งออกเป็นพันธบัตรรัฐบาล 80,000 ล้าน และ MBS 40,000 ล้านต่อเดือน ขณะที่ Dot Plot ซึ่งแสดงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการ Fed นั้นบ่งชี้ว่า Fed มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมต่อเนื่องไปจนถึงปี 2022 พร้อมส่งสัญญาณความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในระดับที่สูง ส่งผลให้ Fed จะยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงปี 2022 ส่วนด้านนโยบาย Yield Curve Control นั้น เจอโรม พาเวลล์ ประธาน Fed ระบุว่าจะเริ่มพิจารณาและหารือเพิ่มเติมในการประชุม Fed ครั้งต่อไป (28-29 กรกฎาคม 2020)

 

  • มิเชล บาร์นิเยร์ หัวหน้าผู้แทนการเจรจาฝ่ายสหภาพยุโรป (EU) ให้สัมภาษณ์ระบุถึงการเจรจาระหว่างสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรว่าอังกฤษเรียกร้องมากเกินไปในการเจรจาข้อตกลงการค้า โดยหวังได้เงื่อนไขระดับเดียวกับชาติสมาชิก EU แต่ไม่ต้องการข้อผูกมัดใดๆ ซึ่งเป็นไปได้ยาก ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในเรื่อง Brexit อีกครั้ง

 

  • ธนาคารกลางจีนเผย ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น หลังจากพันธบัตรต่างประเทศมีความผันผวน ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินหยวน โดยข้อมูลระบุว่าทุนสำรองของจีนเพิ่มขึ้น 10,230 ล้านดอลลาร์ เป็น 3.10 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนพฤษภาคม จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะลดลง 10,460 ล้านดอลลาร์ เหลือ 3.08 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ปริมาณการสำรองทองคำของจีนก็ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 108,290 ล้านดอลลาร์เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จากระดับ 106,670 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งทุนสำรองที่สูงขึ้นนี้อาจช่วยให้จีนฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจากเครื่องมือนโยบายที่มากขึ้น

 

  • องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เตือนว่าวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจทำให้เศรษฐกิจถดถอยรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี หากไม่รวมวิกฤตสงคราม โดยมีผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงมาตรการจำกัดการเดินทางในหลายประเทศ ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางสังคมเพิ่มขึ้น และภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ทาง OECD คาดว่าในเดือนถัดๆ ไปเศรษฐกิจอาจฟื้นตัวแบบรูปตัว V จากการผ่อนปรนมาตรการควบคุมต่างๆ แต่อาจยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากธุรกิจภาคการท่องเที่ยว บันเทิง และสันทนาการ ยังไม่สามารถกลับมาเปิดได้เหมือนเดิม

 

ภาวะตลาดวานนี้

  • ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งดัชนี Dow Jones และ S&P 500 ร่วงลง หลังจาก FOMC ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจว่าจะหดตัวลงถึง 6.5% ในปี 2020 โดยหุ้นที่ดิ่งลงแรงนำโดยกลุ่มธนาคารและพลังงาน แต่การปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีช่วยให้ Nasdaq ปรับตัวบวกสวนทาง ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปและเอเชียยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เนื่องจากตลาดหุ้นปิดทำการก่อนที่ FOMC จะตัดสินใจด้านอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้นักลงทุนระมัดระวังการลงทุนวานนี้

 

  • ขณะที่ราคาทองคำตอบรับต่อมาตรการ QE ที่ Fed ยังคงไว้ที่ระดับเดิมอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ช่วยหนุนราคาทองคำปรับตัวขึ้นกว่า 2% ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย 

 

สหรัฐฯ

  • Dow Jones อยู่ที่ 26,989.99 ลดลง 282.31 (-1.04%)
  • S&P 500 อยู่ที่ 3,190.14 ลดลง 17.04 (-0.53%)
  • Nasdaq อยู่ที่ 10,020.35 เพิ่มขึ้น 66.59 (+0.67%)

 

ยุโรป

  • DAX อยู่ที่ 12,530.16 ลดลง 87.83 (-0.7%)
  • FTSE 100 อยู่ที่ 6,329.13 ลดลง 6.59 (-0.1%)
  • Euro Stoxx 50 อยู่ที่ 3,293.71 ลดลง 27 (-0.81%)
  • FTSE MIB อยู่ที่ 19,758.01 ลดลง 172.19 (-0.86%)

 

เอเชีย

  • Nikkei 225 อยู่ที่ 23,124.95 เพิ่มขึ้น 33.92 (+0.15%)
  • S&P/ASX 200 อยู่ที่ 6,148.4 เพิ่มขึ้น 3.5 (+0.06%)
  • Shanghai อยู่ที่ 2,943.75 ลดลง 12.36 (-0.42%)
  • SZSE Component อยู่ที่ 11,335.86 เพิ่มขึ้น 51.62 (+0.46%)
  • China A50 อยู่ที่ 13,879.69 ลดลง 55.33 (-0.4%)
  • Hang Seng อยู่ที่ 25,049.73 ลดลง 7.49 (-0.03%)
  • Taiwan Weighted อยู่ที่ 11,720.16 เพิ่มขึ้น 83.05 (+0.71%)
  • SET อยู่ที่ 1,418.77 เพิ่มขึ้น 10.4 (+0.74%)
  • KOSPI อยู่ที่ 2,195.69 เพิ่มขึ้น 6.77 (+0.31%)
  • IDX Composite อยู่ที่ 4,920.68 ลดลง 114.37 (-2.27%)
  • BSE Sensex อยู่ที่ 34,247.05 เพิ่มขึ้น 290.36 (+0.86%)
  • PSEi Composite อยู่ที่ 6,439.37 ลดลง 25.76 (-0.4%)

 

Commodity

  • ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ 38.63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.01 (+0.03%)
  • ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ อยู่ที่ 41.37 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.59 (+1.45%)
  • ราคาทองคำ อยู่ที่ 1735.66 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพิ่มขึ้น 38.13 (+2.25%)

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง: 

  • Infoquest
  • Bloomberg
  • Investing
  • CNBC
  • Reuters
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X