- คลังเดินหน้าเตรียมแจกเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผย เตรียมผลักดันชุดมาตรการ ‘ดูแลและเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ชุดที่ 1’ เข้าสู่คณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาดำเนินการ โดยคาดว่า มาตรการดังกล่าวจะใช้งบประมาณกว่า 1 แสนล้านบาท ทั้งในด้านของการมอบเงินเยียวยามูลค่า 1,000-2,000 บาทต่อราย แบบรายเดือน สำหรับผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ รวมไปถึงวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) และมาตรการจูงใจทางภาษี เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการเลิกจ้างงานในช่วงเวลานี้ หวังให้เกิดผลช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า ช่วยดูแลสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม
- ภาคบริการสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง PMI ออกมาดีกว่าคาด วานนี้สหรัฐฯ ประกาศดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการจากสถาบัน ISM (ISM Non-Manufacturing PMI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ออกมาที่ 57.3 จุด สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 54.9 จุด และขยายตัวจากครั้งก่อนหน้าที่ 55.5 จุด ท่ามกลางภาวะการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาที่กดดันเศรษฐกิจทั่วโลก
- ไมเคิล บลูมเบิร์ก ประกาศถอนตัวจากการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลังจากพ่ายแพ้ในศึก Super Tuesday ซึ่งเป็นการเลือกตั้งแบบไพรมารีของพรรคเดโมแครตใน 14 ของสหรัฐฯ โดยตัวเขาประกาศจะสนับสนุน โจ ไบเดน ต่อไป ด้วยเหตุผลว่า เพื่อรวมเสียงเข้าด้วยกัน และเอาชนะ โดนัลด์ ทรัมป์ คู่แข่งจากพรรครีพับลิกัน
- โยชิฮิเดะ ซูกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยว่า การจัดโอลิมปิกในช่วงเดือนกรกฎาคมจะยังคงเดินหน้าต่อไป แม้มีคำเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นเลื่อนเวลาออกไป สืบเนื่องจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาก็ตาม อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า ท่าทีดังกล่าวเป็นไปเพื่อลดความเสียหายจากการลงทุนของภาคธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สื่อสารมวลชน การท่องเที่ยว และการบริโภคอื่นๆ แต่กระนั้น นักวิเคราะห์ยังมองว่า ท่าทีดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้ หากตัวเลขผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ 1. ไทยประกาศตัวเลข CPI ประจำเดือนกุมภาพันธ์ คาดชะลอตัวเหลือ 0.77% จากก่อนหน้านี้ที่ระดับ 1.05% และตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งยังไม่มีการคาดการณ์จากตลาด แต่แนวโน้มก่อนหน้ายังอยู่ในทิศทางที่หดตัวต่อเนื่อง 2. สหรัฐฯ ประกาศตัวเลขกิจกรรมภาคการผลิตนอกภาคการเกษตรไตรมาส 4 คาดขยายตัว 1.4%
สรุปภาพรวมตลาดวานนี้
- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น ท่ามกลางความคาดหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รวมไปถึงปัจจัยหนุนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่เตรียมตั้งกองทุนสู้โคโรนา ประกอบกับปัจจัยที่ โจ ไบเดน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งขั้นต้นศึก Super Tuesday ของพรรคเดโมแครต ซึ่งไบเดนเป็นผู้สมัครสายกลางที่ตลาดมองว่า เป็นตัวเลือกที่มีนโยบายละมุนละม่อมมากกว่า เบอร์นี แซนเดอร์ส การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ สอดคล้องกับทิศทางของตลาดหุ้นยุโรปที่ปิดบวกจากความคาดหวังในการเสริมสภาพคล่องและลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขณะที่ตลาดเอเชียยังมีความผันผวน โดยเฉพาะตลาดหุ้นอินเดียที่ปรับตัวลงจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา
- ด้านทองคำปรับตัวลงเล็กน้อยจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งนักลงทุนเข้าลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น จากความคาดหวังแนวโน้มการชนะการเลือกตั้งของ โจ ไบเดน
สหรัฐฯ
- Dow 30 ปิดที่ 27090.86 เพิ่มขึ้น 1173.45 (4.53%)
- S&P 500 ปิดที่ 3130.11 เพิ่มขึ้น 126.74 (4.22%)
- Nasdaq ปิดที่ 9018.09 เพิ่มขึ้น 334 (3.85%)
ยุโรป
- DAX ปิดที่ 12127.69 เพิ่มขึ้น 142.3 (1.19%)
- FTSE 100 ปิดที่ 6815.59 เพิ่มขึ้น 97.39 (1.45%)
- Euro Stoxx 50 ปิดที่ 3420.56 เพิ่มขึ้น 48.59 (1.44%)
- FTSE MIB ปิดที่ 21946.03 เพิ่มขึ้น 197.83 (0.91%)
เอเชีย
- Nikkei 225 ปิดที่ 21100.06 เพิ่มขึ้น 17.33 (0.08%)
- S&P/ASX 200 ปิดที่ 6325.4 ลดลง -110.3 (-1.71%)
- Shanghai ปิดที่ 3011.67 เพิ่มขึ้น 18.77 (0.63%)
- SZSE Component ปิดที่ 11493.02 เพิ่มขึ้น 8.81 (0.08%)
- China A50 ปิดที่ 13820.08 เพิ่มขึ้น 89.01 (0.65%)
- Hang Seng ปิดที่ 26222.07 ลดลง -62.75 (-0.24%)
- Taiwan Weighted ปิดที่ 11392.35 เพิ่มขึ้น 64.63 (0.57%)
- SET ปิดที่ 1378.61 เพิ่มขึ้น 3.59 (0.26%)
- KOSPI ปิดที่ 2059.33 เพิ่มขึ้น 45.18 (2.24%)
- IDX Composite ปิดที่ 5650.14 เพิ่มขึ้น 131.51 (2.38%)
- BSE Sensex ปิดที่ 38409.48 ลดลง -214.22 (-0.55%)
- PSEi Composite ปิดที่ 6867.26 เพิ่มขึ้น 76.72 (1.13%)
Commodity
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ 47.34 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.16 (0.34%)
- ราคาน้ำมันเบรนท์ ปิดที่ 51.57 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง -0.29 (-0.56%)
- ราคาทองคำปิดที่ 1636.93 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ลดลง -8.95 (-0.55%)
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- Infoquest
- Bloomberg
- Investing
- CNBC
- Reuters