- จับตาตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ โดยวันนี้สหรัฐฯ มีกำหนดประกาศดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจากสถาบัน ISM (ISM Manufacturing PMI) ประจำเดือนสิงหาคม ซึ่งคาดว่าจะประกาศออกมาที่ 54.5 จุด อยู่ในแดนขยายตัว และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 54.2 จุด สะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรม ขณะที่จีนมีกำหนดประกาศดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจากสถาบันไฉซิน (Caixin Manufacturing PMI) ประจำเดือนสิงหาคม ซึ่งคาดว่าจะประกาศออกมาที่ 52.6 จุด อยู่ในแดนขยายตัว แต่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 52.8 จุด สะท้อนมุมมองเศรษฐกิจว่ายังอยู่ในแดนขยายตัว แต่ลดลง ด้านเยอรมนีมีกำหนดประกาศดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) ประจำเดือนสิงหาคม โดยคาดว่าจะประกาศออกมาที่ 53.0 จุด ทรงตัวเท่ากับเดือนก่อนหน้า และยังสามารถยืนอยู่ในแดนขยายตัวได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3
- วานนี้ 5 ธนาคารใหญ่ของจีน อันประกอบไปด้วย Industrial and Commercial Bank of China (ICBC), China Construction Bank (CCB), Agricultural Bank of China (ABC) Bank of China และ Bank of Communications รายงานผลกำไรครึ่งปีแรกออกมาลดลงอย่างน้อยที่สุด 10% (YoY) จากหนี้เสีย (NPL) ที่ปรับตัวขึ้น ประกอบกับการเรียกร้องจากรัฐบาลจีนให้ธนาคารจีนต้องยอมสูญเสียกำไรมากถึง 1.5 ล้านล้านหยวน ผ่านการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ, ชะลอการชำระหนี้คืน และเพิ่มวงเงินกู้ให้กับธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
- วานนี้เกิดเหตุปะทะกันระหว่างทหารจีนและอินเดียบนเทือกเขาหิมาลัยอีกครั้ง ซึ่งกระทรวงกลาโหมอินเดียมองว่าเป็นการละเมิดข้อตกลงทางการทูตและการทหารในพื้นที่ที่ยังไม่มีการปักปันเขตแดน ขณะที่ จ้าวลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า กองกำลังของจีนปฏิบัติตามข้อกำหนดในเส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง (Line of Actual Control) อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตามในครั้งนี้ยังไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
- วานนี้ ราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) สาขาแอตแลนตา ให้สัมภาษณ์ระบุว่า มาตรการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ไม่ใช่แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีที่สุดขณะนี้ที่จะหนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสิ่งที่เผชิญอยู่นั้นเป็นวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุข ซึ่งมาตรการ QE นั้นเป็นการให้ความสนใจต่อสิ่งที่ไม่ตรงกับความจริง พร้อมกันนั้นยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างทำเนียบขาวและสภาคองเกรสเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงไม่อาจตกลงกันด้านมาตรการความช่วยเหลือได้ ซึ่งอาจส่งผลให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ช้ากว่าที่ควร
- เช้าวันนี้กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเผยตัวเลขยอดการใช้จ่ายเงินลงทุนประจำไตรมาสที่ 2/2020 ออกมาหดตัว 11.3% แย่กว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 4.3% และหดตัวแรงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 1/2010 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบอย่างทั่วถึงทั้งภาคบริการและอุตสาหกรรม สร้างแรงกดดันต่อ GDP ไตรมาสที่ 3 ของญี่ปุ่น นอกจากนั้นแล้วข่าวการลาออกของ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ด้วยเหตุผลทางด้านสุขภาพ ยังคงเป็นอีกข่าวที่สร้างแรงกดดันควบคู่กันไป
ภาวะตลาดวานนี้
- ดัชนี Dow Jones และ S&P 500 ปรับตัวลงจากแรงเทขายทำกำไรของนักลงทุน หลังตลาดปรับตัวขึ้นมาโดยตลอดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สวนทางกับดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากแรงเข้าซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีนำโดยหุ้น Apple ที่ปรับตัวขึ้น 3.39% ด้านตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลงจากตัวเลขเศรษฐกิจของเยอรมนีที่ออกมาอ่อนแอ โดยดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนีออกมาเท่าเดิมที่ 0% (YoY) น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ +0.1% (YoY) ซึ่งประเทศเยอรมนีเป็นประเทศที่มีขนาด GDP ใหญ่ที่สุดในยุโรป บ่งชี้ว่าแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังไม่ค่อยดีนัก ส่งผลให้นักลงทุนเทขายหุ้นที่เป็นสินทรัพย์ออกมาจากปัจจัยดังกล่าว
- สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวลงจากความกังวลที่ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันอาจยังไม่ฟื้นหลังจำนวนผู้ติดเชื้อยังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำมันล้นตลาด ด้านสัญญาทองคำปรับตัวขึ้นจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมไปถึงตลาดหุ้นกลับมาซบเซาอีกครั้ง ส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยจากแรงหนุนดังกล่าว
สหรัฐฯ
- Dow Jones อยู่ที่ 28430.05 ลดลง -223.82 (-0.78%)
- S&P 500 อยู่ที่ 3500.31 ลดลง -7.7 (-0.22%)
- Nasdaq อยู่ที่ 11775.46 เพิ่มขึ้น 79.82 (0.68%)
ยุโรป
- DAX อยู่ที่ 12945.38 ลดลง -87.82 (-0.67%)
- FTSE 100 อยู่ที่ 5963.57 ลดลง -36.42 (-0.61%)
- Euro Stoxx 50 อยู่ที่ 3272.51 ลดลง -43.03 (-1.3%)
- FTSE MIB อยู่ที่ 19633.69 ลดลง -207.32 (-1.04%)
เอเชีย
- Nikkei 225 อยู่ที่ 23139.76 เพิ่มขึ้น 257.11 (1.12%)
- S&P/ASX 200 อยู่ที่ 6060.5 ลดลง -13.3 (-0.22%)
- Shanghai อยู่ที่ 3395.68 ลดลง -8.13 (-0.24%)
- SZSE Component อยู่ที่ 13758.23 ลดลง -93.1 (-0.67%)
- China A50 อยู่ที่ 15726.36 เพิ่มขึ้น 280.06 (1.81%)
- Hang Seng อยู่ที่ 25177.05 ลดลง -245.01 (-0.96%)
- Taiwan Weighted อยู่ที่ 12591.45 ลดลง -137.4 (-1.08%)
- SET อยู่ที่ 1310.66 ลดลง -12.65 (-0.96%)
- KOSPI อยู่ที่ 2326.17 ลดลง -27.63 (-1.17%)
- IDX Composite อยู่ที่ 5238.49 ลดลง -108.17 (-2.02%)
- BSE Sensex อยู่ที่ 38628.29 ลดลง -839.02 (-2.13%)
- PSEi Composite อยู่ที่ 5884.18 ลดลง -37.37 (-0.63%)
Commodity
- ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ 42.84 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง -0.13 (-0.3%)
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ อยู่ที่ 45.58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.53 (1.18%)
- ราคาทองคำอยู่ที่ 1968.03 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพิ่มขึ้น 3.54 (0.18%)
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- Infoquest
- Bloomberg
- Investing
- CNBC
- Reuters