×

‘อินฟลูเอนเซอร์ด้านการเงิน’ กำลังเติบโตแรง! จากการย่อยเนื้อหาด้านการเงินให้เข้าใจง่าย บางรายทำเงินได้มากกว่า 16 ล้านบาทต่อปี จากการรับจ้างแบรนด์

07.11.2021
  • LOADING...
อินฟลูเอนเซอร์ด้านการเงิน

ในปัจจุบัน นอกจากอินฟลูเอนเซอร์ด้านไลฟ์สไตล์ ความงาม รีวิวสินค้าแล้ว อินฟลูเอนเซอร์ที่มาแรงไม่แพ้กันนั่นคือ ด้านการเงิน หรือที่เรียกว่า ‘ฟินฟลูเอนเซอร์ (Finfluencer)’ 

 

ที่น่าสนใจคือ ฟินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้สามารถอธิบายคอนเซปต์ของ Passive Income, ภาษี, การลงทุน ที่ย่อยออกมาได้อย่างเข้าใจง่าย มีการใช้กราฟิก เอฟเฟกต์เสียงต่างๆ เพื่อช่วยอธิบายให้กลุ่มคนอย่างมิลเลนเนียลและ Gen Z เข้าใจการเงินได้ง่ายขึ้น อย่างคนที่โด่งดังในสหรัฐฯ มากที่สุดคนหนึ่งเลยคือ ออสติน แฮงวิตซ์ 

 

โดยฟินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ถูกมองว่า เป็นตัวช่วยที่ดีในอุตสาหกรรมการเงิน บริษัทการเงินต่างๆ เล็งเห็นถึงวิธีที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้รวดเร็วและแม่นยำอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ด้วยการพาร์ตเนอร์กับฟินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้

 

การระบาดใหญ่ครั้งนี้ทำให้คนบางกลุ่มมีเงินและมีเวลาเหลือเฟือ ส่งผลให้มีชั่วโมงการใช้แอปฯ ด้านการเงินเพิ่มขึ้นถึง 90% ในสหรัฐอเมริกาเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่การดาวน์โหลดแอปฯ ดังกล่าวก็เพิ่มขึ้น 20% ด้วยเช่นกัน (ข้อมูลจากบริษัทวิเคราะห์ App Annie) นอกจากนั้นชั่วโมงการใช้แอปฯ เพื่อซื้อ-ขายหุ้นผ่านสมาร์ทโฟนก็พุ่งขึ้นถึง 135% อีกด้วย

 

ฟินฟลูเอนเซอร์อย่าง แฮงวิตซ์ เคยทำอาชีพด้านการเงินแบบดั้งเดิม โดยทำงานในฝ่ายการควบรวมและซื้อกิจการในบริษัทเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ซึ่งการเข้ามาทำวิดีโอ TikTok ถือเป็นงานเพื่อหารายได้เสริมของเขา แต่ในตอนนี้เขากลับเป็นที่นิยมอย่างมาก สำหรับสตาร์ทอัพและบริษัทการเงินต่างๆ ที่ต้องการเข้าถึงผู้ติดตามถึง 495,000 คนของเขา ซึ่งบางบริษัทถึงกับจ้างเขาเพื่อขอคำปรึกษาด้านการตลาด พาเขามานั่งคุยกับซีอีโอ รวมถึงเชิญเขาให้เข้ามาเป็นคณะกรรมการในบริษัทเลยทีเดียว

 

แฮงวิตซ์เรียกเก็บเงินราว 4,500-8,000 ดอลลาร์ หรือราว 150,000-266,000 บาทต่อ 1 โพสต์บนหน้า TikTok ของเขา เขาเล่าว่าแพลตฟอร์มอย่าง Fundrise ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ จ่ายเงินให้เขาทุกเดือนเพื่อโพสต์วิดีโอ 2 วิดีโอบน TikTok และยังเสนอโบนัสรายเดือนให้เขามากถึง 2,000 ดอลลาร์ หรือ 66,000 บาท ตามจำนวนผู้ที่เข้ามาใช้แพลตฟอร์มจากการโปรโมตของเขา 

 

นอกจากนั้นอีกบริษัทอย่าง BlockFi ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล เสนอให้เขา 25 ดอลลาร์ หรือ 833 บาทต่อคน ที่เข้าไปยังแพลตฟอร์มผ่านโค้ดเฉพาะของเขา รวมถึงแอปฯ ซื้อขายหุ้นอย่าง Public.com ก็เสนอให้เขาเป็นสมาชิกรายเดือนฟรี และยังมอบหุ้นของบริษัทให้เขาถืออีกด้วย โดยแลกกับการที่เขาใช้แผนภูมิหุ้นของ Public.com แทนของ Yahoo Finance ในวิดีโอของเขา

 

ทั้งนี้ แฮงวิตซ์ไม่ได้เปิดเผยว่าเขาได้รายได้ต่อปีเท่าไร แต่ยอมรับว่าได้มากกว่า 500,000 ดอลลาร์ หรือราว 16 ล้านบาทต่อปี และกล่าวว่า “ผมลาออกจากงานประจำไปเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว เพื่อมาเป็นฟินฟลูเอนเซอร์แบบเต็มตัว” รวมถึงเปิดเผยว่าเขาสามารถมีพอร์ตลงทุนประมาณ 1.3 ล้านดอลลาร์ หรือ 43 ล้านบาท ได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 แล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากหุ้นที่บริษัทต่างๆ เสนอให้เขาด้วย

 

โซเชียลมีเดียสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ หากเป็นคนที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก และเป็นผู้ที่มีความสามารถในการดึงให้ผู้ติดตามไปใช้สินค้าและบริการที่ได้รับสปอนเซอร์ โดยครีเอเตอร์สามารถทำเงินได้ตั้งแต่ 100-1,500 ดอลลาร์ หรือ 3,000-50,000 บาทสำหรับโฆษณาแบบ Swipe Up ในสตอรีของ Instagram และสำหรับโพสต์ 1 โพสต์ในฟีดของพวกเขาจะได้เงินสูงขึ้นเป็น 1,000-10,000 ดอลลาร์ หรือ 33,000-333,000 บาท (ข้อมูลจาก ไบรอัน แฮนลีย์ ซีอีโอของ Bullish Studio บริษัทจัดหาอินฟลูเอนเซอร์) 

 

นอกจากนั้นบน TikTok โพสต์หนึ่งโพสต์สามารถทำเงินได้ตั้งแต่ 2,500-20,000 ดอลลาร์ หรือ 83,000-666,000 บาท ขึ้นอยู่กับความนิยมในวิดีโอ และจำนวนผู้ติดตามของครีเอเตอร์นั้นๆ

 

ฟินฟลูเอนเซอร์ที่โด่งดังอีกคนคือ เฮลีย์ แซคส์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ Mrs. Dow Jones มีผู้ติดตาม 215,000 คนบน Instagram เธออธิบายถึงเรื่องดอกเบี้ยทบต้น โดยเปรียบเทียบกับเรื่องราวของเหล่าดาราเซเลบต่างๆ ซึ่งอธิบายออกมาได้เข้าใจและควบคู่ไปกับมุกตลกมากมาย 

 

แซคส์ วัย 30 ปี เริ่มต้นอาชีพของเธอด้วยการเป็นนักแสดงตลก โดยทำงานให้กับพิธีกรโทรทัศน์อย่าง เดวิด เลตเทอร์แมน และโปรดิวเซอร์อย่าง ลอร์น ไมเคิลส์ ในรายการ Saturday Night Live ซึ่งเธอเล่าว่า การเรียนรู้เรื่องเงินนั้นเป็นเรื่องยากสำหรับเธอ แต่วิธีหนึ่งที่จะทำให้เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเธอมากขึ้น คือการนำเนื้อหาไปเปรียบเทียบกับเรื่องราวในวงการบันเทิงและการนินทาคนดัง ด้วยไอเดียดังกล่าว เธอจึงเปิดตัวเป็นฟินฟลูเอนเซอร์ในนาม Mrs. Dow Jones ในปี 2017 และผู้ติดตามของเธอก็เฟื่องฟูขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

โดย 4 ปีหลังจากเปิดตัว Mrs. Dow Jones เธอได้เซ็นสัญญากับเอเจนซีที่มีความสามารถ รวมถึงสร้างทีมงาน ผู้ช่วยและผู้จัดการ มาช่วยเธอในการเจรจาข้อตกลงมูลค่า 6 หลักกับแบรนด์ต่างๆ และเธอยังได้ร่วมมือกับบริษัทด้านการลงทุนชื่อดังอย่าง Wealthfront ไปเมื่อ 2 ปีก่อน

 

อย่างไรก็ตาม การโปรโมตผ่านฟินฟลูเอนเซอร์ทางโซเชียลมีเดียเป็นวิธีการเข้าถึงลูกค้าได้รวดเร็วและแม่นยำก็จริง แต่ข้อเสียของมันคือ หากมีการให้ข้อมูลที่ผิดๆ ไปแล้วละก็ ข้อมูลนั้นจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และอาจทำให้เหล่าวัยรุ่นและคนที่ยังเป็นมือใหม่ในด้านการลงทุนสูญเสียเงินเป็นจำนวนมากได้ นอกจากนั้นยังมีการหลอกลวงให้เข้ามาลงทุนโดยเอาผลกำไรในอนาคตมาล่อเกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดียมากมายอีกด้วย

 

นั่นเป็นเหตุผลที่ TikTok เข้มงวดกับกฎเกณฑ์ที่ประกาศออกมาในเดือนพฤษภาคม โดยกล่าวว่าจะดำเนินการกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่โพสต์วิดีโอที่ได้รับการสปอนเซอร์จากบริษัทด้านการเงินโดยไม่มีป้ายกำกับที่ชัดเจนว่าถูกสปอนเซอร์ ทั้งนี้บริษัทต่างๆ ยังคงสามารถจ้างฟินฟลูเอนเซอร์ต่อไปได้ แต่ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นใหม่นี้มีเพื่อให้แน่ใจว่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์นั้นมีความโปร่งใสในการทำคอนเทนต์

 

และตั้งแต่นั้นมาบริษัทการลงทุนอย่าง Betterment ก็ได้ย้ายฟินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ จาก TikTok ไปยัง Instagram และ Instagram Reels รวมถึงได้ยกเลิกข้อตกลงในการโปรโมตผ่าน TikTok กับแฮงวิตซ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และบริษัทการลงทุนอย่าง Wealthfront ก็กล่าวว่ากำลังเพิ่มการโปรโมตในช่องทางอื่นๆ เช่น YouTube และ Instagram มากขึ้น แทนการโปรโมตผ่าน TikTok อีกด้วย

 

โดยบริษัท Betterment กล่าวว่าทางบริษัทจะตรวจสอบสคริปต์บทพูดอย่างรอบคอบก่อนที่จะโปรโมต ส่วนบริษัท Wealthfront กล่าวว่าเรามีการตรวจสอบประวัติของฟินฟลูเอนเซอร์อย่างละเอียดว่าเป็นประวัติปลอมหรือไม่ หรือเคยมีประวัติการฉ้อโกงมาก่อนหรือไม่อีกด้วย

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X