×

ภาษิตที่จะทำให้คุณรู้ทันโลกการเงินในปี 2024

14.01.2024
  • LOADING...

‘ภาษิต’ หรือคำโบราณว่าไว้ มักถูกหยิบยกขึ้นมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง

 

ในตลาดการเงินก็ไม่ต่างกัน เริ่มปี 2024 นี้ผมจึงขอหยิบ ‘ภาษิตต่างประเทศ’ ที่คุ้นหูในแต่ละเดือนมาวิเคราะห์คู่กับเหตุการณ์ปัจจุบัน และพยากรณ์ให้นักลงทุนรู้ทันตลาดไปพร้อมกัน

 

มกราคม ‘As goes January, so goes the year’ บอนด์ยีลด์ทั่วโลกเป็นตัวแปรที่ต้องจับตาที่สุด

 

ตลาดเชื่อว่าเดือนมกราคมเป็นเดือนที่กำหนดทิศทางของทั้งปีที่จะถึง ย้อนกลับไปในอดีตตั้งแต่ปี 1950 ภาษิตนี้เป็นจริงกว่า 75% แม้ในช่วงหลังปี 2000 ความสัมพันธ์นี้จะลดบทบาทลงมาก นักลงทุนได้ยินแต่ ‘January Effect’ ที่หมายถึงหุ้นขึ้นรับเดือนมกราคมแทน แต่ทิศทางในเดือนมกราคมก็ยังมีความสำคัญที่สุดเดือนหนึ่งของปี

 

สำหรับปี 2024 จับตาวันที่ 23 มกราคม ที่จะมีการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ครั้งแรก ตลาดคาดว่า BOJ จะส่งสัญญาณการปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้นรับปีใหม่ อาจเป็นการยกเลิกมาตรการควบคุมยีลด์ (YCC) หรือจบดอกเบี้ยติดลบ (Negative Interest Rate)

 

ส่วนฝั่งสหรัฐฯ จะมีการรายงาน Treasury Refunding สำหรับปีนี้ในวันที่ 29 มกราคม ด้วยการใช้จ่ายภาครัฐของสหรัฐฯ ในปัจจุบันที่สูงกว่า 40% ต่อ GDP และระดับหนี้ภาครัฐที่สูงถึง 34 ล้านล้านดอลลาร์ ปริมาณบอนด์ที่ออกใหม่ต้องเพิ่มขึ้นมาก

 

กุมภาพันธ์ ‘The Groundhog Day Effect’ จับตาไปที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาจพุ่งขึ้นซ้ำรอยอดีต

 

เดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนที่ไม่มีทิศทางชัดเจน ตลาดการเงินมักมีแนวโน้มที่คล้ายกับช่วงเดือนหรือปีที่ผ่านมา จึงได้ภาษิตนี้มาจากหนังเรื่อง Groundhog Day ที่เล่าเรื่องราวของผู้หญิงที่ตื่นมาในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

สำหรับปี 2024 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ จะเป็นวันครบรอบสองปีที่รัสเซียบุกยูเครน เป็นคำถามว่า ประเด็นด้านความขัดแย้งทางการเมืองและสงครามจะถูกปลุกขึ้นมาร้อนแรงอีกหรือไม่

 

มีนาคม ‘Beware the Ides of March’ ความเสี่ยงที่ไม่คาดฝัน การเมือง และทิศทางดอกเบี้ย จะทำให้เงินดอลลาร์ผันผวนสูง

 

ภาษิตประจำเดือนนี้อยู่ในความเชื่อที่ว่า เดือนมีนาคมมักมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น เช่น วันที่ 15 มีนาคม วันที่ จูเลียส ซีซาร์ ผู้ปกครองโรมัน ถูกสังหาร หรือปี 2008 วันที่ 15 มีนาคม เป็นวันที่ธนาคาร Bear Stearns ถูกขายให้กับ JPMorgan Chase จุดเริ่มต้นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

 

ในปี 2024 มีหลายประเด็นที่ต้องติดตาม ไม่ว่าจะเป็นการเมืองสหรัฐฯ ที่คาดหมายกันว่าจะร้อนแรงขึ้นในวัน Super Tuesday ในวันที่ 5 มีนาคม เพื่อเลือกตัวแทนของพรรคลงสมัครแข่งขันเป็นประธานาธิบดี

 

นอกจากนั้นจะมีการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ครั้งสำคัญในวันที่ 20 มีนาคม ตลาดคาดว่า Fed จะส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินหรือลดดอกเบี้ย

 

เมษายน ‘April Showers Bring May Flowers’ ตลาดหุ้นเอเชียจะฟื้นตัวจากแรงส่งของภาคอุตสาหกรรมโลก

 

สำนวนเดือนเมษายนที่หมายถึงเหตุการณ์ไม่ดีในปัจจุบันอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีในอนาคต ใช้เปรียบเทียบกับเดือนเมษายนที่ตลาดมักมีความผันผวนเกิดขึ้นก่อน เช่น วิกฤตดอทคอม ปี 2000 หรือวิกฤตโควิด ปี 2020 ตลาดตกต่ำที่สุดช่วงเดือนนี้ ก่อนที่จะฟื้นตัวด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

เดือนเมษายนจะเป็นช่วงการรายงาน GDP ไตรมาสแรกทั่วโลก ภาพเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แนะนำจับตาไปที่ US ISM Manufacturing PMI ถ้ารายงานหดตัว (ต่ำกว่า 50 จุด) จะเป็นการหดตัวต่อเนื่องนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2000

 

พฤษภาคม ‘Sell in May and Go Away’ เดือนนี้ต้องระวัง Magnificent Seven

 

ภาษิต ‘ขายเดือนพฤษภาคม’ เป็นหนึ่งในภาษิตที่คุ้นหูนักลงทุนที่สุด เตือนว่าแนวโน้มของตลาดหุ้นจะมีผลตอบแทนที่ต่ำในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม มีที่มาจากพฤติกรรมนักลงทุนสมัยก่อนที่หยุดพักผ่อน ในปัจจุบันแทบไม่มีความเกี่ยวข้องกับแนวโน้มตลาด

 

อย่างไรก็ดี สำหรับปีนี้วันที่ 1-3 พฤษภาคม จะเป็นวันครบกำหนดการไต่สวนบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ในสหรัฐฯ เช่น Google และ Meta เรื่อง Antitrust อาจกดดันหุ้นทั้งตลาด เนื่องจากสัดส่วนของ Magnificent Seven อยู่ในระดับสูงถึงกว่า 30% ของ S&P 500

 

มิถุนายน ‘Never Sell a June Swoon’ จับตาเงินยูโรและหุ้นยุโรปเป็นพิเศษ

 

สำนวนเดือนมิถุนายนบอกว่าอย่าขายหุ้นแม้ว่าผลตอบแทนจะแย่ เพราะเดือนมิถุนายนเป็นเดือนที่ไม่ดีไม่แย่สำหรับทั้งหุ้นไทยและสหรัฐฯ ในอดีต

 

สำหรับปีนี้ มีการประชุมของทุกธนาคารกลางสำคัญไล่ตั้งแต่ ECB วันที่ 6 มิถุนายน, กนง. วันที่ 12 มิถุนายน, FOMC วันที่ 13 มิถุนายน และ BOJ วันที่ 14 มิถุนายน ทุกที่มีโอกาสปรับนโยบายการเงินช่วงนี้ทั้งหมด ตลาดเชื่อว่า Fed จะส่งสัญญาณจบ QT ไปพร้อมกัน

 

นอกจากนั้น วันที่ 6-9 มิถุนายน จะมีการเลือกตั้ง European Parliament มีผลกับการกำหนดทิศทางและนโยบายของ EU ในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญที่สุดคือประเด็นความมั่นคงและยูเครน

 

กรกฎาคม ‘The First Five Days of July’ ต้องจับตาต่อกับทิศทางเงินดอลลาร์ และตลาดหุ้นยุโรป

 

ภาษิตบนความเชื่อที่ว่า ช่วง 5 วันแรกของเดือนจะเป็นตัวกำหนดแนวโน้มหลักของช่วงที่เหลือ เป็นเทคนิคง่ายๆ ในการวิเคราะห์ตลาด แต่สำหรับเดือนกรกฎาคมเป็นเดือนที่พบความสัมพันธ์นี้เด่นชัดที่สุด เพราะเป็นช่วงที่ตลาดกำลังมองหาทิศทางใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปี

 

เดือนกรกฎาคมนี้ วันที่ 26 กรกฎาคม จะมีการเปิดการแข่งขันระดับโลกอย่าง Paris Olympic 2024 เป็นแรงส่งให้กับทวีปยุโรป และถ้า Fed ไม่ลดดอกเบี้ยแรงไปเสียก่อน เดือนนี้จะเป็นเดือนที่ส่วนต่างของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี และ 3 เดือน จะติดลบต่อเนื่อง 20 เดือน ถือว่าเป็นการติดลบที่นานที่สุดในประวัติศาสตร์ นานกว่าครั้งก่อนคือช่วง Great Depression ปี 1929 สะท้อนความกังวลว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ยังไม่หายไป

 

สิงหาคม ‘When the cats are away, the mice will play’ หุ้นสหรัฐฯ จะเป็นตัวแปรกำหนดทิศทางของตลาดการเงิน

 

ภาษิตของเดือนสิงหาคมแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า ‘แมวไม่อยู่หนูร่าเริง’

 

เดือนสิงหาคมมักเป็นเดือนที่นักลงทุนรายใหญ่ลาหยุดพัก ทำให้เป็นเดือนที่สภาพคล่องอยู่ในระดับต่ำ ตลาดจึงแกว่งตัวในกรอบแคบ

 

อย่างไรก็ดี ความแตกต่างของปีนี้อยู่ที่การเป็นปีเลือกตั้งสหรัฐฯ ปกติจะส่งผลบวกกับอารมณ์ของนักลงทุนรายย่อยมากที่สุด จากข้อมูลในอดีตนับตั้งแต่ปี 1872 เดือนสิงหาคมในปีเลือกตั้งสหรัฐฯ เป็นเดือนที่ผลตอบแทนเป็นบวกบ่อยที่สุด

 

ในปีนี้จะมี Democratic National Convention ในวันที่ 19 สิงหาคม เราจะเห็นทั้งโอกาสของผลเลือกตั้งและนโยบายของนักการเมืองชัดเจนขึ้น

 

กันยายน ‘September is the Cruelest Month’ ดอลลาร์จะสร้างโอกาสและความเสี่ยงในเดือนนี้

 

เดือนกันยายนมีคำเตือนว่า ตลาดหุ้นมักพบกับความไม่แน่นอนและแรงขายอย่างรุนแรง ภาษิตนี้ถูกย้ำเตือนอีกครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา เมื่อ S&P 500 ปรับตัวลงแรงถึง 4.9%

 

สำหรับในปีนี้ วันที่ 24 กันยายน จะมีการประชุมระดับสูงของ UN General Assembly อาจนำไปสู่ข้อตกลงสำคัญระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นจังหวะที่ Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันมาถึง 14 เดือน สถิติในอดีตชี้ว่าเป็นช่วงที่สภาพคล่องจะหยุดไหลเข้า Money Market Fund และอาจกลับมาเข้าหุ้น

 

ตุลาคม ‘October Effect’ เดือนแห่งทางแยกของ Emerging Markets

 

October Effect แม้จะเป็นชื่อเดือนเหมือน January Effect แต่กลับเป็นภาษิตใน ‘ทิศตรงข้าม’ เพราะเป็นการพูดถึงโอกาสที่ตลาดจะมีการปรับฐานแรง เช่น ในเหตุการณ์ Black Tuesday ในปี 1929 ตามด้วย Black Monday ในปี 1987 ไปจนถึงวิกฤต Great Financial Crisis ปี 2008 การปรับฐานของตลาดเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมโดยไม่ทันตั้งตัวทั้งสิ้น

 

สำหรับปี 2024 เหตุการณ์สำคัญคือการประชุม BRICS Summit ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพในวันที่ 1 ตุลาคม

 

ด้วยจำนวนประชากรกว่า 46% ขนาดเศรษฐกิจราว 37% ของโลก และหลายประเทศกำลังมีความขัดแย้งทางการเมืองและการทหาร ความร่วมมืออาจนำไปสู่ขาขึ้นรอบใหม่ของหุ้น EM แต่ในทางกลับกัน อาจสร้างแรงกดดันด้านการเมืองระหว่างประเทศบนตลาดการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

พฤศจิกายน ‘Remember, Remember, the Fifth of November’ ดอลลาร์ บอนด์ยีลด์ และตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นสามตัวแปรที่ต้องจับตาไปพร้อมกัน

 

คำกล่าวสำหรับเดือนพฤศจิกายนเป็นส่วนหนึ่งของบทกวีที่เกี่ยวข้องกับ ‘Guy Fawkes Night’ ในสหราชอาณาจักร ที่วางแผนระเบิดรัฐสภาอังกฤษ แต่แผนการนี้ถูกพบและป้องกันได้

 

ในปีนี้วันที่ 5 พฤศจิกายน จะเป็นอีกหนึ่งวันที่โลกต้องจดจำ เพราะจะเป็นการเลือกตั้งใหญ่ของสหรัฐฯ

 

ในอดีตตลาดการเงินทั่วโลกมักแกว่งตัวแคบก่อนการเลือกตั้ง แต่สถิตินี้เปลี่ยนแปลงไปในการเลือกตั้งสองครั้งหลังสุดในปี 2016 และ 2020 ที่หุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเกิน 5% ในเดือนเดียว และปรับตัวขึ้นต่อ 9-14% ในสามเดือนถัดไป

 

และท้ายที่สุด ธันวาคม ‘Santa Claus Rally’ จบปีที่ธนาคารกลางออกมาให้ความเห็นด้านนโยบายการเงินปี 2025

 

เดือนธันวาคมเป็นเดือนที่ตลาดหุ้นมักปรับตัวขึ้นในช่วงปลายปี โดยเฉพาะในช่วง 7 วันทำการระหว่างหลังวันคริสต์มาสถึงวันปีใหม่

 

การปรับตัวขึ้นท้ายปีมีเหตุผลสนับสนุนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลคริสต์มาส การปรับพอร์ตการลงทุนในช่วงปลายปี ไปจนถึงสภาพคล่องที่ลดลง ในอดีตเดือนธันวาคมจึงเป็นเดือนที่ดีที่สุดของตลาดหุ้นทั่วโลก

 

สำหรับปี 2024 จะจบปีด้วยการประชุมของทุกธนาคารกลางสำคัญ ไล่ตั้งแต่ ECB วันที่ 12 ธันวาคม, BOT วันที่ 18 ธันวาคม และ FOMC กับ BOJ วันที่ 19 ธันวาคม โดยทั้งหมดจะเผยแนวโน้มนโยบายการเงินในปี 2025 ให้เห็น

 

โดยสรุป ช่วงครึ่งแรกของปีภาษิตมักออกไปในแนวให้กำลังใจ เข้าซื้อเมื่อตลาดปรับฐาน ส่วนภาษิตในช่วงครึ่งหลังของปีมักเป็นคำเตือนให้ระวังการปรับฐานแรง

 

ปีนี้ผมมองว่านโยบายการเงินที่ตลาดจับตามากในช่วงครึ่งแรกจะลดบทบาทลง สวนทางกับนโยบายระหว่างประเทศและความเสี่ยงทางการเมืองที่จะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

 

ปี 2024 เป็นปีที่ตราสารหนี้ลงทุนได้ง่ายขึ้นเพราะไม่ได้มีความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ แต่ในฝั่งของหุ้นทั่วโลกควรระวังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และนโยบายเศรษฐกิจที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนกลุ่มการลงทุน

 

และถ้าให้ผมเลือกหนึ่งภาษิตสำหรับปีนี้ ผมขอเลือก ‘The Time to Buy is When There’s Blood in the Streets’ หรือเวลาที่เหมาะสมของการลงทุนปีนี้คือช่วงเวลาที่ตลาดปรับฐาน ขอให้ทุกคนรู้ทันโลกการเงินปี 2024 นะครับ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising