×

หาก ‘เกษียณ’ แล้วยังต้องหางานเพื่อหาเงิน คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ การวางแผนย่อมช่วยได้ แล้ววันนี้คุณพร้อมเกษียณหรือยัง

09.07.2021
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • จากวิกฤตโรคระบาดโควิดส่งผลกระทบต่อทุกคนจะมากหรือน้อยแตกต่างกันไป แต่หนึ่งคำถามที่ทุกคนต้องคิดและหาคำตอบมากที่สุดในช่วงเวลานี้นอกจาก เราติดโควิดแล้วหรือยัง คือ “เรามีเงินเพียงพอแล้วหรือไม่ และจะมีใช้ถึงเมื่อไร?”
  • การวางแผนด้านการเงินตั้งแต่วันนี้ จะช่วยให้มองภาพวันที่ไม่มีรายได้ใดๆ เข้ามาหรือวันที่ต้องเกษียณได้ชัดเจนขึ้น และลดความวิตกกังวลอันจะก่อให้เกิดผลร้ายต่อการดำรงชีวิตได้
  • การกำหนดสัดส่วนรายได้ 50:30:20 เพื่อการใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต สิ่งที่ต้องการ และเพื่อเป็นเงินออม จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการวางแผนทางการเงินได้
  • การเรียนรู้และปฏิบัติการจัดสรรเงินออมเพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์ให้เกิดผลตอบแทนสำหรับเป็นเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉินและสร้างผลตอบแทนให้เพียงพอในวันที่เกษียณ ไม่ใช่เรื่องที่จะหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป

ในช่วงปีสองปีนี้ เมื่อเกิดการระบาดใหญ่ของโควิดส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจตกต่ำและหน้าที่การงานของหลายคนอาจเริ่มไม่มั่นคง การหารายได้ไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ แม้มีเงินเก็บแต่หากจะพึ่งพาแต่ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำมากอาจมีเงินใช้ไม่เพียงพอในระยะยาว และหลายคนเริ่มคิดเรื่องการเกษียณเร็วกว่าที่วางแผนไว้ด้วย แต่การสร้างรายได้หลังการเกษียณเป็นความท้าทายหนึ่ง เพราะวัยเกษียณยังต้องการเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและต้องมีใช้นานมากกว่าอายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นด้วย ถ้าวันนี้เริ่มวางแผนและลงมือปฏิบัติเพื่อให้แน่ใจว่ามีแผนการรองรับชีวิตหลังเกษียณ อาจช่วยลดความวิตกกังวลลงได้บ้าง สิ่งที่ต้องลงมือวางแผนและปฏิบัติ คือ

 

เริ่มจากการประเมินค่าใช้จ่าย

หลังเกษียณอาจมีเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์และควบคุมไม่ได้เกิดขึ้น แต่การควบคุมค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุด การรู้ว่าไลฟ์สไตล์ของตัวเองมีค่าใช้จ่ายอะไรและเท่าไรในตอนนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้รู้ว่ามีความพร้อมทางการเงินที่จะเกษียณอายุหรือไม่ ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันมากมายที่ช่วยบันทึกค่าใช้จ่าย ทั้งค่าสาธารณูปโภค ภาระหนี้สิน บัตรเครดิต ค่าสังสรรค์ และอื่นๆ อีกทั้งยังช่วยประเมินให้ว่าแต่ละเดือนมีการใช้จ่ายเรื่องใดไปในสัดส่วนเท่าไร และยังช่วยจำลองเงินที่อาจต้องใช้ช่วงเกษียณโดยนำเอาเรื่องเงินเฟ้อและค่าสุขภาพที่อาจต้องมีเข้ามาคำนวณคร่าวๆ ให้ด้วย

 

สำรวจว่ามีแหล่งรายได้หลังจากเกษียณหรือไม่

การเกษียณก่อนอายุหรือจะเกษียณตามอายุมีเรื่องที่ต้องคำนึงคือ มีแหล่งรายได้จากที่ใดบ้าง หากมีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะสามารถนำออกมาใช้ได้ต่อเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ โดยไม่ผิดเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ทางภาษี และหากในช่วงที่ทำงานมีการสบทบเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ต้องศึกษาสิทธิที่จะได้รับจากประกันสังคม ทั้งกรณีบำนาญหรือบำเหน็จชราภาพให้เข้าใจว่าตนเองเข้าเงื่อนไขที่จะได้สิทธิประโยชน์แบบใด นอกจากแหล่งเงินดังกล่าวแล้ว มีการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่สร้างผลตอบแทนให้หรือไม่ และผลตอบแทนที่ได้รับนั้นเพียงพอค่าใช้จ่ายที่ประเมินไว้หรือเปล่า หากไม่แน่ใจว่าจะเพียงพอต้องหาทางนำเงินไปลงทุนเพื่อให้เกิดผลตอบแทนและครอบคลุมอัตราเงินเฟ้อด้วย

 

จัดสรรเงินเพื่อสร้างผลตอบแทน

การจัดสรรเงินเพื่อสร้างผลตอบแทนในวันนี้จะช่วยให้เกษียณได้อย่างสบายในวันหน้า แต่หลายคนไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหนดี มีคำแนะนำหลักๆ ดังนี้

 

  • ศึกษาสินทรัพย์ที่จะลงทุนให้เข้าใจ เนื่องจากสินทรัพย์ที่จะสร้างผลตอบแทนได้นั้นมีหลากหลาย เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ กองทุนรวม หุ้นอนุพันธ์ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ สกุลเงิน สกุลเงินดิจิทัล ซึ่งสินทรัพย์เหล่านี้มีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน อาทิ หากเป็นมือใหม่เริ่มลงทุน การเริ่มเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์โดยลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งมีผู้จัดการกองทุนบริหารจัดการให้ เป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อนจนเกินไป เมื่อรู้ลึกและเข้าใจมากขึ้นจึงไต่ระดับไปสู่สินทรัพย์อื่นๆ ที่สนใจ
  • จัดสรรรายได้เพื่อวัตถุประสงค์ เป็นการกำหนดวัตถุประสงค์การใช้เงินรายได้ในปัจจุบันให้ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น สูตร 50:30:20 คือ แบ่งเงิน 50% เพื่อใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิต เช่น ค่าอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย หรือค่าสาธารณูปโภคต่างๆ 30% สำหรับตอบสนองความต้องการ เช่น การดูแลสุขภาพหรือรูปลักษณ์ (ค่าอาหารเสริม ค่าเสริมความงาม ค่าฟิตเนส) ค่าอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในชีวิต หรือค่าสันทนาการเพื่อสร้างความบันเทิง และอีก 20% เพื่อการออมและนำไปลงทุนสร้างผลตอบแทนและเป็นกองทุนฉุกเฉิน แต่หากมีแผนจะเกษียณเร็วขึ้นอาจเพิ่มสัดส่วนเงินเพื่อการออมและลงทุน และลดสัดส่วนเงินสำหรับสิ่งที่ตอบสนองความต้องการลงได้
  • การจัดสรรเงินลงทุน เป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายทางการเงิน โดยหลักง่ายๆ ที่จะใช้พิจารณาประกอบคือ อายุของผู้ลงทุนและความสามารถในการรับความเสี่ยง โดยทั่วไปหากมีอายุน้อย การจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงที่ตนเองประเมินแล้วพอรับได้แต่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า จะทำให้พอร์ตการลงทุนเติบโตได้เพราะยังมีระยะเวลาสร้างผลตอบแทนกว่าจะถึงวันเกษียณ แต่ก็มีระยะเวลาปรับพอร์ตหากมีความเสี่ยงระหว่างทาง ยกตัวอย่างเช่น เมื่ออายุ 25 ปี หากลงทุนในกองทุนรวม อาจจะพิจารณาลงทุนในกองทุนที่มีการแบ่งสินทรัพย์ไปลงทุนในหุ้น 70% (ซึ่งจากสถิติย้อนหลัง 10 ปี ตลาดหุ้นสามารถสร้างผลตอบแทนโดยเฉลี่ย 8-10% ต่อปี) ลงทุนในตราสารหนี้ 20% (ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 2-3% ต่อปี) อสังหาริมทรัพย์และอื่นๆ อีก 10% (ที่สามารถให้ผลตอบแทนได้อีก 2-3% ต่อปี) หรือการพิจารณาลงทุนในกองทุนรวมดัชนี (Index Fund) ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งหมดที่ประกอบกันเป็นดัชนี (Index) โดยพยายามเลียนแบบให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงที่กองทุนรวมนั้นๆ ลงทุนให้มากที่สุด เช่น กองทุนที่ลงทุนใน SET50 หรือ SET100

 

แต่หากมีความรู้ความเข้าใจทั้งด้านเศรษฐกิจโดยรวมและสินทรัพย์ต่างๆ มากพอแล้ว อาจลงทุนด้วยตัวเองและกำหนดกลยุทธ์การลงทุนและความเสี่ยงที่รับได้ ทั้งนี้ ต้องระวังไม่ให้กระทบต่อเงินที่ต้องใช้จ่ายประจำและเงินฉุกเฉิน เพื่อระหว่างทางนั้นไม่เป็นการสร้างหนี้แทนที่จะได้ผลตอบแทน และที่สำคัญ ต้องสำรวจผลตอบแทนสม่ำเสมอ ยิ่งใกล้วัยเกษียณควรปรับลดสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงให้มีอัตราส่วนน้อยลง

 

แผนการเงินเกษียณ

 

รักษาสุขภาพจิตและสุขภาพกาย

จากสถานการณ์ตอนนี้อาจทำให้หลายคนวิตกกังวลจนต้องปรับกิจวัตรและพฤติกรรมของตนเองหลายอย่าง จนทำให้ไม่มีความสุข ปัญหาสุขภาพจิตอาจนำไปสู่สุขภาพทางกายและอาจส่งผลเสียในระยะยาวได้ในที่สุด หากรู้สึกไม่ไหวอย่าอายที่จะปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาสมดุลของกายใจและการทำงาน และแนะนำให้คิดถึงการทำประกันสุขภาพไว้สำหรับเกษียณด้วย เพราะช่วงเวลานั้นจะไม่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลในฐานะพนักงานหรือมนุษย์เงินเดือน การเตรียมการตั้งแต่วันนี้จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณได้

 

จินตนาการว่าช่วงเกษียณจะเติมเต็มชีวิตด้วยกิจกรรมอะไร

หลายคนต้องการที่จะเกษียณเร็วๆ แต่ไม่ได้จินตนาการว่าหลังเกษียณแต่ละวันจะทำอะไร การไม่มีกิจกรรมใดๆ เลยในแต่ละวัน อาจทำให้ขาดความกระฉับกระเฉงทั้งสมองและร่างกาย และกลายเป็นว่าเกษียณเพื่อมานั่งเฉาไปวันๆ นั่นย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดหวังว่าจะเจอแน่ๆ การรู้ว่าจะทำอะไรที่ชอบหลังเกษียณ ทำให้แสวงหาที่จะเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์อื่นๆ ระหว่างทางเพื่อให้เกิดเกษียณสุขอย่างแท้จริง

 

ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X