×

สัปดาห์แห่งความผันผวนของตลาดการเงิน เป็นจุดเริ่มต้นของตลาดหมีหรือแค่ตลาดกระทิงที่พักชั่วคราว

09.08.2024
  • LOADING...
ตลาดการเงิน

ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลงอย่างหนักเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (5 สิงหาคม) หลังจากรายงานการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่น่าผิดหวัง ทำให้เกิดความกลัวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ นอกจากนี้การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) สู่ระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบ 15 ปี ยังเพิ่มความผันผวนใน ตลาดการเงิน ให้หนักกว่าเดิม

 

นักลงทุนแห่ซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุด แม้ว่าตลาดจะฟื้นตัวขึ้นมาได้ในวันต่อมา แต่ก็มีความผันผวนอย่างหนัก แสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนใน ตลาดการเงิน นี่จะเป็นสัญญาณเริ่มต้นของตลาดครั้งใหม่อีกครั้งหรือไม่ 

 

ตลาดหุ้นทั่วโลกยากที่จะรักษาโมเมนตัมเชิงบวกไว้

 

แม้ว่าตลาดส่วนใหญ่จะสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา แต่การร่วงลงอย่างรุนแรงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาได้ทำลายมุมมองเชิงบวกทางเทคนิค ดัชนี NIKKEI 225 ของญี่ปุ่นร่วงลง 12.4% ในวันจันทร์ ซึ่งถือเป็นการซื้อ-ขายที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ Black Monday ในปี 1987 

 

นอกจากนี้สัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้าของสหรัฐฯ พยายามทรงตัวหลังจากที่มีความผันผวนอย่างรุนแรงหลายครั้ง ดัชนี NASDAQ 100 ดิ่ง 6.5%, ดัชนี KOSPI ของเกาหลีใต้ดิ่งลง 9% สกุลเงินดิจิทัล Ethereum (ETH) ร่วงลงหนักที่สุดตั้งแต่ปี 2021 และ Bitcoin ซื้อ-ขายแย่ที่สุดตั้งแต่ FTX ล้มละลาย สิ่งเหล่านี้อาจบ่งบอกได้ว่า การฟื้นตัวที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

 

มุมมองนักวิเคราะห์ฝั่งตลาดหมี 

 

เจมี ไดมอน ซีอีโอของ JPMorgan Chase กล่าวเมื่อวันพุธว่า เขาเชื่อว่าโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะลงเอยแบบ Soft Landing อยู่ที่ประมาณ 35-40% ทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยน่าจะเป็นไปได้มากที่สุดในความคิดของเขา ไดมอนแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า มีความไม่แน่นอนมากมายในตลาด ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์, การขาดดุล, การลดขนาดงบดุลของธนาคารกลาง (Quantitative Tightening) และการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมีขึ้นในสหรัฐฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ตลาดเกิดความวิตก

 

นักเศรษฐศาสตร์จาก Goldman Sachs ได้ปรับการคาดการณ์ โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายในปีหน้าสูงขึ้น ปัจจุบัน Goldman Sachs ประเมินว่ามีโอกาส 25% ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ที่ 15%

 

แบร์รี แบนนิสเตอร์ หัวหน้านักยุทธศาสตร์ด้านหุ้นของ Stifel กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะฟื้นตัว และยังคงเน้นย้ำว่าดัชนี S&P 500 จะร่วงลงไปที่ 5,000 จุดภายในเดือนตุลาคมปีนี้ ซึ่งลดลง 12% จากจุดสูงสุดในเดือนกรกฎาคม เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วพร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่เหนียวแน่น 

 

นักวิเคราะห์ฝั่งตลาดกระทิง

 

สาวิตา สุบรามาเนียน นักกลยุทธ์ของ Bank of America กล่าวว่า ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดหุ้นจะถึงจุดสูงสุดแล้วแต่อย่างใด ตลาดหุ้นที่ร่วงลงอย่างหนักล่าสุดอาจเป็นเพียงการปรับฐานที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีเท่านั้น 

 

เธอให้ความเห็นว่า ตลาดเกิดการปรับฐานมากกว่า 5% เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป โดยเกิดขึ้นมากกว่า 3 ครั้งต่อปีโดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 1930 ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้หลังจากครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน ขณะที่การปรับฐานมากกว่า 10% เกิดขึ้นโดยเฉลี่ยปีละครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2023 สิ่งนี้ทำให้เธอมองว่าแรงเทขายเมื่อเร็วๆ นี้เป็นการย่อตัวของตลาดโดยทั่วไปมากกว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของตลาดหมีที่แท้จริง

 

ในขณะเดียวกัน วินเซนต์ เคลร์ก ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทขนส่งยักษ์ใหญ่ Maersk ซึ่งถือเป็นมาตรวัดการค้าโลก เผยว่า เขาไม่เห็นสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ เนื่องจากความต้องการขนส่งสินค้ายังคงแข็งแกร่ง เขากล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วความต้องการตู้คอนเทนเนอร์จะเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีของความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจมหภาคโดยพื้นฐาน

 

แนนซี แวนเดน ฮูเตน นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของ Oxford Economics กล่าวว่า เธอไม่เห็นสัญญาณภาวะเศรษฐกิจถดถอย แม้ว่าตลาดหุ้นจะมีแนวโน้มว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ตาม รายงานการจ้างงานนั้นอ่อนแอกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดไว้ อย่างไรก็ตามมีสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากกว่านั้น ซึ่งจำเป็นต้องนำมาพิจารณาเพิ่มเติม

 

ตลาดจะจับตามองรายงานการยื่นขอสวัสดิการการว่างงานประจำสัปดาห์ในวันพฤหัสบดีนี้อย่างใกล้ชิด หลังรายงานการจ้างงานในสัปดาห์ที่แล้วออกมาน่าผิดหวัง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising