×

เอื้อประโยชน์แก่ทีมเศรษฐี? มองลึกกรณีการเปลี่ยนแปลงกฎ Financial Fair Play

26.03.2021
  • LOADING...
เอื้อประโยชน์แก่ทีมเศรษฐี? มองลึกกรณีการเปลี่ยนแปลงกฎ Financial Fair Play

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ทวีตของ ทันเครดี พัลเมรี ผู้สื่อข่าว beIN SPORTS สั่นสะเทือนไปทั้งวงการฟุตบอล “ยูฟ่าเป่านกหวีดสุดท้ายให้แก่กฎ Financial Fair Play จะมีการประกาศกฎในการควบคุมการเงินใหม่ที่จะให้อิสระในการซื้อแก่สโมสรต่างๆ มากขึ้น”
  • คำถามที่เกิดขึ้นคือ นี่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ทีมมหาเศรษฐีที่จะสามารถใช้อำนาจทางการเงินที่ไร้ขีดจำกัดในการครองโลกฟุตบอลหรือไม่?
  • อันเดรีย ทราเวอร์โซ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและความมั่นคงทางการเงินของยูฟ่ายอมรับว่า การหาทางออกในเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่สามารถตีความได้ว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่กฎใหม่คือการผ่อนปรนมากขึ้น

 

เกิดกระแสข่าวฮือฮาในวงการฟุตบอลอีกครั้ง และเป็นข่าวที่ถูกจับตามองอย่างยิ่งเพราะมีผลกระทบต่อทั้งวงการโดยถ้วนหน้า เมื่อทางด้านสหพันธ์ฟุตบอลแห่งชาติยุโรป (UEFA) เตรียมที่จะทำการยกเลิกกฎการเงิน Financial Fair Play ที่ใช้มาเป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อจะปรับไปใช้กฎการเงินในรูปแบบใหม่แทน

 

โดยประเด็นใหญ่ที่ถูกจับตามองอย่างมากคือการปรับเปลี่ยนครั้งนี้เป็นการทำเพื่อ ‘เอื้อประโยชน์’ แก่ทีมใหญ่ หรือหากให้พูดชัดกว่านั้นคือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ทีมมหาเศรษฐีที่จะสามารถใช้อำนาจทางการเงินที่ไร้ขีดจำกัดในการครองโลกฟุตบอลหรือไม่?

 

เรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เนื่องจากยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดใดๆ โดยคนแรกที่มีการเปิดเผยเรื่องนี้คือ ทันเครดี พัลเมรี ผู้สื่อข่าวของ beIN SPORTS ซึ่งเคยทำงานให้กับ CNN และ Gazzetta dello Sport 

 

ข้อความสั้นๆ ไม่ถึง 280 ตัวอักษรที่พัลเมรีทวีตสั่นสะเทือนไปทั้งวงการมีดังนี้

 

“ยูฟ่าเป่านกหวีดสุดท้ายให้แก่กฎ Financial Fair Play จะมีการประกาศกฎในการควบคุมการเงินใหม่ที่จะให้อิสระในการซื้อแก่สโมสรต่างๆ มากขึ้น”

 

สำหรับกฎการเงินเดิมอย่าง Financial Fair Play หรือ FFP เริ่มต้นบังคับใช้มาตั้งแต่ฤดูกาล 2010-11 โดยมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันไม่ให้สโมสรต่างๆ เกิดการใช้จ่ายมากเกินไปจนทำให้สามารถ ‘ซื้อความสำเร็จและถ้วยรางวัล’ ได้ และเพื่อรักษาเสถียรภาพในระยะยาวของเกมฟุตบอล

 

กฎ FFP มีรายละเอียดที่ซับซ้อน แต่สามารถเข้าใจได้อย่างง่ายที่สุดคือ ‘จะใช้เท่าไร ต้องหามาได้เท่านั้น’ คือห้ามเป็นหนี้จนเกินความสามารถที่จะชำระได้โดยรายรับของสโมสรเอง

 

อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา กฎ FFP ไม่สามารถควบคุมวงการฟุตบอลได้อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งแม้จะเคยสามารถ ‘ลงดาบ’ สโมสรอย่างปารีส แซงต์ แชร์กแมง หรือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ แต่ดาบประกาศิตนั้นไม่คมพอที่จะทำให้สโมสรที่มีแบ็กอัพทางการเงินแข็งแกร่งยำเกรง

 

ในทางตรงกันข้าม สโมสรทั้งหลายต่างพยายามมองหา ‘ช่องว่าง’ ของกฎเพื่อชิงความได้เปรียบเสมอ โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่ทำให้กฎ FFP และยูฟ่าถูกวิพากษ์อย่างมาก คือเรื่องการสั่งแบนแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในความผิดข้อหาการปลอมแปลงเอกสารเรื่องรายได้ของสโมสร ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทในเครือของเจ้าของสโมสรเอง เข้าทำนองกระเป๋าซ้าย-กระเป๋าขวา

 

ยูฟ่าลงโทษสโมสรดังของอังกฤษขั้นรุนแรงทั้งการตัดสิทธิ์จากการเล่นในรายการสโมสรยุโรปเป็นเวลา 2 ปีและการปรับเงิน แต่สุดท้ายแล้วกลับเป็นความผิดพลาดเมื่อทางด้านแมนเชสเตอร์ ซิตี้ยื่นอุทธรณ์ต่ออนุญาโตตุลาการกีฬา (CAS) และเป็นฝ่ายชนะในการอุทธรณ์ แม้จะมีการตั้งข้อสังเกตในคณะผู้ตัดสินคดีนี้ก็ตาม

 

เรื่องนี้ทำให้ FFP ถูกมองว่าเป็นกฎไร้น้ำยา เป็นกระบี่ทื่อที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป ซึ่งแม้แต่ในยูฟ่าเองก็มองว่าการใช้เกณฑ์ ‘ไม่ขาดทุน’ เป็นตัวชี้วัดว่าทำผิดหรือไม่ เป็นการพุ่งเป้าที่ไร้ความหมาย

 

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักสาเหตุเดียวที่ทำให้ยูฟ่าตัดสินใจที่จะทำการยกเลิกกฎนี้และตั้งกฎใหม่ที่มีความยืดหยุ่นขึ้นมา 

 

สิ่งที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเร็วๆ นี้คือผลกระทบจากโควิด-19 ที่รุนแรงมหาศาลในระดับที่ ‘โลกฟุตบอลไม่เคยพบเจอมาก่อน’ 

 

พัลเมรีในฐานะคนเปิดเผยเรื่องนี้เป็นคนแรกได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมในที่มาที่ไปของเรื่องนี้ในรายการ White & Jordan Show ทางสถานีวิทยุกีฬาอันดับหนึ่งของโลก talkSPORT ว่า “มันเป็นความคิดที่ยูฟ่าคิดอย่างจริงจังมาสักพัก”

 

“สถานการณ์โควิด-19 ได้ผลักดันให้เรื่องนี้ก้าวไปข้างหน้า มันจะเป็นกระบวนการที่ใช้ระยะเวลายาวนาน ไม่ได้แปลว่าถ้าวันนี้กดตกลงแล้วในวันพรุ่งนี้ทุกสโมสรจะสามารถใช้เงินได้แบบไม่อั้น มันไม่ได้เป็นแบบนั้น ยูฟ่าต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนมากขึ้น หาวิธีการควบคุมที่จะไม่จำกัดการอัดเงินเข้ามาในระบบ

 

“กฎ Financial Fair Play นั้นเป็นความคิดที่เกิดมาในยุคของ มิเชล พลาตินี แต่ว่าสถานการณ์ทางการเงินในเวลานี้แตกต่างจากเดิมแล้ว เราทุกคนรู้ว่าเกมฟุตบอลไม่เคยตกอยู่ในวิกฤตขนาดนี้ ดังนั้นมันคงจะเป็นเรื่องไม่ฉลาดนักที่จะจำกัดการลงทุนสำหรับสโมสรที่สามารถจะลงทุนได้ เพราะการลงทุนนั้นจะหมายถึงสโมสรที่เป็นผู้ขายก็จะได้รับผลประโยชน์ไปด้วย”

 

บทสรุปสุดท้ายจากพัลเมรีในเรื่องนี้คือ การเปลี่ยนแปลงไม่ได้หมายความว่า FFP จะสิ้นสุดทันทีและทุกคนจะสามารถใช้จ่ายเท่าไรก็ได้ มันแค่จะมีอิสระมากขึ้น แต่ก็จะเป็นกระบวนการที่ใช้ระยะเวลายาวนาน โดยที่สุดท้ายแล้วผลประโยชน์จะตกอยู่กับทุกคน

 

ขณะที่ทางด้าน ไซมอน จอร์แดน หนึ่งในผู้ดำเนินรายการ และเคยเป็นอดีตเจ้าของสโมสรคริสตัล พาเลซ ย้ำให้ทุกคนเห็นภาพอีกครั้งว่า ที่ผ่านมากฎ FFP ไม่ได้ล้มเหลว และสโมสรต่างๆ ก็ไม่ควรที่จะพึ่งพาเรื่องการระดมทุนจากบุคคลได้ 

 

สำหรับจอร์แดน FFP มีไว้เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าเกมฟุตบอลจะคงอยู่อย่างยั่งยืน สโมสรฟุตบอลต้องยืนบนลำแข้งของตัวเองให้ได้ และที่ผ่านมาก็ได้เห็นแล้วว่าหากเจ้าของสโมสรใดที่ไม่สามารถบริหารได้ก็จะต้องไปจากวงการฟุตบอล เหมือน เอลลิส ชอร์ต ของซันเดอร์แลนด์ หรือ แรนดี เลอร์เนอร์ ที่กลายเป็นอดีตเจ้าของแอสตัน วิลลา

 

ขณะที่ทางด้านยูฟ่าโดย อันเดรีย ทราเวอร์โซ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและความมั่นคงทางการเงิน กล่าวในระหว่างการหารือร่วมกันระหว่างยูฟ่าและสหภาพยุโรป ยอมรับว่าการหาทางออกในเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่สามารถตีความได้ว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่กฎใหม่คือการผ่อนปรนมากขึ้น

 

“โควิด-19 ได้ทำให้เกิดวิกฤตในการหารายได้ และส่งผลกระทบอย่างมากต่อสภาพคล่องของสโมสร มันเป็นวิกฤตที่แตกต่างจากทุกวิกฤตที่เราเคยเผชิญมาก่อน ในสถานการณ์แบบนี้ที่สโมสรต่างประสบปัญหาทำให้พวกเขาตกที่นั่งลำบากในการที่จะทำตามกฎของเราได้

 

“ผมคิดว่าโดยพื้นฐานกฎสามารถมีการเปลี่ยนแปลงได้ พวกเขาต้องปรับเปลี่ยนตามบริบทการบริหารของสโมสร กฎการทำให้ไม่ขาดทุนนั้นดูเหมือนมันจะกลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว มันเป็นการประเมินตามสถานการณ์ในอดีต (ดูจากตัวเลขกำไรและตัวเลขการขาดทุนในช่วง 3 ฤดูกาลก่อนหน้า) แต่โรคระบาดนั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง และการมองย้อนกลับไปในอดีตเป็นการกระทำที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด

 

“เช่นนั้นบางทีกฎควรจะมุ่งมาที่ปัจจุบันและอนาคตมากขึ้น และควรจะพุ่งเป้ามาที่การแข่งขันในระดับที่สูงของเรื่องค่าเหนื่อยและตลาดการซื้อขาย แต่การหาทางออกไม่ใช่เรื่องง่าย”

 

ดังนั้นโดยสรุปแล้วเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของกฎการเงินขึ้นอย่างแน่นอน

 

โดยที่ยูฟ่ามีเป้าหมายในการที่จะทำให้สโมสรทุกแห่งสามารถปรับตัวและเอาตัวรอดในสถานการณ์ปัจจุบันให้ได้ เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาและกลบจุดอ่อนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

 

จากการดูตัวเลขบัญชี ทางออกที่มีการคาดกันไว้อาจจะเป็นการกำหนดเพดานค่าเหนื่อย (Salary Cap) รวมถึงค่าตัวในการย้ายทีมของผู้เล่นแทน

 

เรื่องนี้ต้องว่ากันอีกสักพักใหญ่กว่าจะได้เห็นกัน แต่อย่างน้อยที่สุดเสียงนกหวีดแรกจากยูฟ่าได้ดังขึ้นแล้ว

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising