×

‘แค่เข้าใจงบการเงินก็ทรานส์ฟอร์ม SMEs สู่ระบบมืออาชีพได้’ บทเรียนสำคัญของการบริหารธุรกิจครอบครัวจาก THE SME HANDBOOK by UOB Season 7 [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
24.10.2023
  • LOADING...

คุณคิดว่า ‘ธุรกิจ’ กับ ‘ครอบครัว’ อะไรสำคัญกว่ากัน

 

นี่อาจไม่ใช่คำถามที่มีคำตอบถูกผิด เพราะแนวคิด เป้าหมาย และขนาดของธุรกิจที่ต่างกันย่อมส่งผลต่อมุมมองที่ต่างไป

 

แต่ สุวภา เจริญยิ่ง อุปนายกสมาคมนักวางแผนทางการเงินไทย ชวนมองในมุมที่ว่า ถ้าเป้าหมายธุรกิจคือการส่งต่อความมั่นคงจากรุ่นสู่รุ่น อาจต้องจัดลำดับความสำคัญใหม่ เพราะเมื่อไรที่ธุรกิจอยู่ได้ ครอบครัวก็จะรักใคร่สามัคคี

 

“เปรียบเทียบง่ายๆ ธุรกิจก็เหมือนตู้กับข้าว ถ้ากลับมาเปิดตู้กับข้าวแล้วมีอาหารให้รับประทาน ทุกคนก็ดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข แต่ถ้าเปิดมาแล้วไม่มีกับข้าว ก็อาจจะมีความระแวงสงสัยว่ามีใครปกปิดอะไรอยู่หรือเปล่า สิ่งสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจครอบครัว ทุกคนในครอบครัวต้องอุทิศและทุ่มเทเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดก่อน สิ่งที่ตามมาคือการปันผลหรือจัดสรรสัดส่วนให้กับคนในครอบครัว”

 

 

ถ้าคุณเริ่มเห็นด้วยกับมุมมองของสุวภา ถึงเวลาเข้าสู่บทเรียนสำคัญด้านการเงินในหัวข้อ ‘From Finances to Success เฟรมเวิร์กการเงิน ทรานส์ฟอร์ม SMEs สู่ระบบมืออาชีพ’ เรียนรู้การบริหารเงินธุรกิจ SMEs สู่ระบบมืออาชีพให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน และถ้าพูดถึงการเงิน มีอะไรบ้างที่ต้องสนใจและให้น้ำหนัก โดย สุวภา เจริญยิ่ง ผู้มีประสบการณ์การนำบริษัทในไทยเข้าตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงเคยให้คำปรึกษาธุรกิจครอบครัวมากมาย บทเรียนที่ 3 จาก THE SME HANDBOOK by UOB: Roots to Riches: The SME Journey คู่มือสู่ความสำเร็จจากรุ่นสู่รุ่น

 

สุวภาชวนมองกรอบความคิดแรกให้เห็นภาพของคำว่า ‘ธุรกิจครอบครัว’ ซึ่งหมายถึงคน 3 กลุ่ม คือ ครอบครัว ผู้ถือหุ้น และฝ่ายบริหารจัดการ

 

“แต่ที่เห็นส่วนใหญ่ผู้ก่อตั้งหรือ First Generation จะเหมารวมทุกตำแหน่งในคนเดียว คือเป็นคนในครอบครัวที่ถือหุ้น 100% และดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงขององค์กร แต่พอมาถึงเจเนอเรชันที่ 2 เริ่มไม่ชัดเจน เพราะคนในครอบครัวทุกคนไม่ใช่คนที่ถือหุ้นบริษัท อาจจะมีแค่ลูกคนโตที่เข้ามาบริหาร จนกระทั่งเจเนอเรชันที่ 3 ภาพยิ่งเลือนราง เริ่มมีเขย สะใภ้ ลูกหลาน ทำให้เจเนอเรชันที่ 3 หลายธุรกิจเริ่มสั่นคลอน”

 

นั่นทำให้การดำเนินธุรกิจในเจเนอเรชันหลังๆ ต้องมีเรื่องของ Governance และ Succession Plan เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งเรื่อง Governance การแบ่งสันปันส่วนในธุรกิจ เปลี่ยนทรัพย์สินให้เป็นหุ้น และใช้กระบวนการโหวตในการทำงาน และยังได้เรื่อง Wealth Distribution คือการแบ่งสัดส่วนความมั่งคั่งในครอบครัวออกมาให้มันชัดเจน

 

 

แบ่งสรรจัดส่วนเงิน 3 กองสำหรับธุรกิจครอบครัว

 

หลักคิดเริ่มต้นถ้าอยากทำให้ธุรกิจครอบครัวยั่งยืนให้แบ่งเงินออกเป็น 3 กอง

 

  • กองที่ 1 เงินสำหรับซัพพอร์ตธุรกิจ เป็นกองที่สำคัญที่สุด วันที่ธุรกิจกำลังไปได้ดียิ่งต้องกันเงินส่วนหนึ่งไว้กองนี้เพื่อดึงมาใช้ในวันที่ธุรกิจเข้าช่วงวิกฤต
  • กองที่ 2 เงินสำหรับดูแลครอบครัว ส่วนใหญ่ใช้ไปกับ 2 เรื่องหลัก คือ การศึกษาและการรักษาพยาบาลแบบไม่จำกัดวงเงิน
  • กองที่ 3 เงินสำหรับการลงทุนเพื่อบริหารความมั่งคั่ง เพราะไม่มีทางรู้ว่าธุรกิจที่ทำอยู่จะเปลี่ยนไปอย่างไร แนะนำแบ่งเงินส่วนนี้ให้กับคนในครอบครัวไปลองลงทุนในสิ่งที่เขาสนใจ เหมือนเป็นทุนประเดิมและยังเป็นวิธีการส่งเสริมให้ทุกคนมีที่ทางของตัวเองแทนที่จะมุ่งหวังตำแหน่งบริหารในบริษัท

 

สุวภาแนะเรื่องการเงินกับธุรกิจครอบครัวต้องเคลียร์ให้ชัดตั้งแต่เริ่มต้น 5 ปีข้างหน้าเห็นตัวเองอยู่ที่ไหน แล้วธุรกิจที่ทำอยู่นี้ 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

 

“SMEs เกือบ 80% เริ่มจากธุรกิจครอบครัวที่เก่งเรื่องค้าขายแต่ไม่ค่อยแตะสายการเงิน แต่ถ้าเข้าใจเรื่องงบการเงิน คุณจะเห็นภาพเลยว่าควรจัดการกับธุรกิจอย่างไร”

 

3 งบการเงินสำคัญ

 

สุวภาบอกว่างบการเงินที่สำคัญต่อธุรกิจมีเพียง 3 ตัว ได้แก่ กระแสเงินสด, งบกำไร-ขาดทุน และงบดุล

 

กระแสเงินสด หรือ Cash Flow จะบอกสภาพคล่องของกิจการ สามารถแยกย่อยเป็น 3 ตัว

 

  • Operation Cash Flow กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน เป็นตัวที่เห็นชัดเลยว่าเงินเข้าออกจากธุรกิจอยู่ในเกณฑ์ดีหรือไม่ ถ้าให้ดีงบนี้ต้องเป็นบวก
  • Financing Cash Flow กระแสเงินสดจากการเงิน ถ้าตรงนี้ไม่เป็นบวก ต้องกู้ยืมหรือเพิ่มเงินทุนเข้าไป
  • Investing Cash Flow กระแสเงินสดจากการลงทุน อาจเป็นด้าน R&D, Fixed Asset หรือลงทุนเรื่องคน

 

งบกำไร-ขาดทุน บอกความสามารถในการดำเนินงาน หลักการง่ายๆ คือ รายได้ – รายจ่าย = กำไรหรือขาดทุน งบข้อนี้ต่างกับกระแสเงินสดตรงที่สินค้าที่ขายออกไปไม่ได้หมายความว่าเงินสดจะเข้ามา

 

งบดุล บอกความมั่งคั่ง มั่นคง และบอกฐานะของกิจการ เป็นงบฝั่งการใช้เงินที่บอกว่าบริษัทมีทรัพย์สินอะไรบ้าง โดยทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดคือเงินสด รองลงมาคือทรัพย์สินที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็วที่สุดภายใน 1 ปี เรียกว่า ‘ทรัพย์สินหมุนเวียน’ ส่วนทรัพย์สินที่ใช้เวลาเกิน 1 ปีในการเปลี่ยนเป็นเงินสด เช่น ที่ดิน, อาคาร, อุปกรณ์ เรียกว่า ‘ทรัพย์สินถาวร’

 

ทรานส์ฟอร์ม SMEs

 

“ถ้าทรัพย์สินหมุนเวียนของคุณสูงกว่าหนี้สินหมุนเวียน แสดงว่าบริษัทคุณมีสภาพคล่องที่ดี แต่ถ้าปล่อยให้หนี้สินหมุนเวียนเหนือทรัพย์สินหมุนเวียนเมื่อไร ต้องเปลี่ยนหนี้สินหมุนเวียนให้เป็นหนี้สินระยะยาวให้ได้ ส่วนฝั่งหาเงิน ถ้าทุนของคุณแข็งแรง ธุรกิจจะมีความแข็งแกร่ง ให้เริ่มจากดูว่าเราใช้ทรัพย์สินถูกที่ถูกทางหรือไม่ อย่างน้อยที่สุดถ้าทำเองไม่เป็นก็ให้หาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยปิดงบให้ เพราะถ้าไม่เห็นตัวเลขที่แท้จริงจะไม่รู้เลยว่าสุขภาพธุรกิจจริงๆ เป็นอย่างไร

 

“วิธีวางแผนงบการเงินต้องการความรู้ความเข้าใจ ทุกวันนี้ในตลาดหลักทรัพย์มีถึงกว่า 700 บริษัท ที่คุณสามารถเข้าไปที่ www.set.or.th เพื่อดูงบการเงินของบริษัทที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกันได้เลย ชอบใครก็เลือกบริษัทนั้นเป็นต้นแบบ” สุวภากล่าว

 

ข้อควรระวังสำหรับ SMEs หรือธุรกิจครอบครัวที่อยากทำงบการเงินแต่กังวลเรื่องภาษีหรือการแยกบัญชี

 

“ทำงบเล่มเดียวดีที่สุด ถ้าไม่รู้งบที่แท้จริงเวลาจะปรับปรุงแก้ไขจะทำได้ยาก” นี่คือคำแนะนำที่สุวภาบอก

 

“อย่าไปซับซ้อนว่าจะเอาบิลต่างๆ มาเบิกเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อลดภาระทางภาษี เห็นหลายครั้งที่พอได้กำไรก็เอาเงินไปซื้อที่ดิน พอเกิดวิกฤตไม่มีกระแสเงินสดมาซัพพอร์ตก็วุ่นวายไปหมด”

 

คำแนะนำสำหรับ SMEs หรือธุรกิจครอบครัวที่อยากต่อยอดธุรกิจให้ยั่งยืน

 

“ไม่ว่าจะเป็น SMEs หรือธุรกิจครอบครัวก็ตาม ความยากคือคุณกำลังอยู่ตรงกลาง คุณเล็กเกินกว่าที่จะใหญ่ บางทีก็ใหญ่เกินกว่าที่จะเล็ก การอยู่ตรงกลางนั้นยากหมดไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจไหน ตัวเลขจะตอบคุณได้ว่าทิศทางของธุรกิจในวันนี้ไปถูกทางหรือไม่ และยังบอกได้ว่าลูกค้าวันนี้อาจไม่ใช่ลูกค้าในอนาคตก็ได้ เช่น ธุรกิจมีกลุ่มเป้าหมายอายุ 17-35 ปี แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้าต้องมาดูกันใหม่ว่าเขายังชอบโปรดักต์ของคุณอยู่หรือไม่ หรือจริงๆ แล้วโปรดักต์ควรโตตามกลุ่มเป้าหมาย”

 

“สุดท้ายแล้วแต่ละเจเนอเรชันก็จะมีทิศทางของตัวเอง ทางที่ดีอย่าประมาทจนเกินไป และอย่ากลัวจนไม่กล้าลงมือทำ” สุวภากล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising