×

คลังคาด GDP ปี 64 โต 1% หลังการแพร่ระบาดมีทิศทางดีขึ้น เชื่อภาคส่งออกและการท่องเที่ยวหนุนเศรษฐกิจปีหน้าฟื้นตัว 4%

28.10.2021
  • LOADING...
GDP

พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยประมาณการเศรษฐกิจไทยล่าสุดของกระทรวงการคลังว่า กระทรวงคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวที่ 1% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.5-1.5%) เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) ที่รุนแรงมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จะชะลอลงจากช่วงครึ่งแรกของปี 2564 จากมาตรการควบคุมโรคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง 

 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดมีทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับความคืบหน้าในการจัดหาและการกระจายวัคซีนให้กับประชาชน ทำให้ภาครัฐสามารถผ่อนคลายมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดลง รวมทั้งมีแผนการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป จะส่งผลให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง ภาคการขนส่ง ธุรกิจพักผ่อนหย่อนใจและบันเทิง รวมถึงภาคธุรกิจอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น

 

โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 0.8% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.3-1.3%) และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 4% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.5-4.5%) ในส่วนของการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

 

อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามปัญหาห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Chain Disruption) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าในระยะถัดไป โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2564 จะขยายตัวที่ 16.3% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 15.8-16.8%)

 

ขณะที่การบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.8% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.3-4.3%) และ 8.1% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 7.6-8.6%) ตามลำดับ จากบทบาทของภาครัฐในการประคับประคองเศรษฐกิจไทย ผ่านการดำเนินมาตรการทางการคลังอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และมาตรการด้านการเงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประกอบกับการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด

 

ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 จะอยู่ที่ 1% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.5-1.5%) เนื่องจากภาครัฐมีการดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจทั่วประเทศ และปัจจัยด้านอุปทานส่วนเกิน ส่งผลให้ราคาสินค้าหมวดอาหารสดลดลงเป็นสำคัญ

 

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุล -18.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น -3.7% ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ -4.2% ถึง -3.2% ของ GDP) จากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงและการขาดดุลบริการเป็นสำคัญ

 

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 กระทรวงการคลังคาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ในช่วง 4% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3-5%) โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดเริ่มคลี่คลายลง และมีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 7 ล้านคน

 

ขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.8% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.8-4.8%) ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ การจ้างงาน และการบริโภคภายในประเทศ โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 4.2% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.2-5.2%)

 

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายของภาครัฐก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ภาครัฐมีเม็ดเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.07 แสนล้านบาท รวมทั้งเม็ดเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ในส่วนที่เหลือที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าการบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ 1.1% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.1-2.1%) และ 5% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 4-6%) ตามลำดับ

 

ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.4% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.4-2.4%) ปรับตัวสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ

 

โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวอีกว่า สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคตที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่

 

  1. ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ซึ่งอาจจะลดทอนประสิทธิภาพของวัคซีน

 

  1. ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Chain Disruption) และการขนส่งระหว่างประเทศ

 

  1. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น

 

  1. ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก อาทิ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเคลื่อนย้ายเงินทุน และนโยบายการเงินของประเทศสำคัญในระยะต่อไปที่มีแนวโน้มที่ตึงตัวมากขึ้น

 

“อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปการประสานนโยบายการคลังและการเงินจะมีส่วนสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยกระทรวงการคลังจะมีการติดตามเพื่อประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจและประชาชนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถพิจารณากำหนดแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน สอดคล้องกับบริบทของการปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตแบบใหม่ หรือ Next Normal” พรชัยกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising