หุ้นกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อดิ่งยกแผง สวนทางตลาดหุ้นรวม นักลงทุนแห่เทขายหลังจากที่ราชกิจจานุเบกษาประกาศเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ปรับลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ฉบับใหม่ปี 2565
รวมถึงก่อนหน้านี้ ธนาคารออมสินประกาศแผนธุรกิจว่าจะกระโดดเข้ามาร่วมวงลุยธุรกิจ เตรียมขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่เป็น Non-Bank ทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล และมีดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด 5% ซึ่งในตลาดอยู่ที่ไม่เกิน 25% ต่อปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิดรายชื่อ ‘10 บลจ. ของไทย’ ควักเงินจองซื้อหุ้น IPO ‘เบทาโกร’ หรือ BTG วงเงินรวมกันกว่า 3.63 พันล้านบาท
- อัปเดต 7 หุ้น พอร์ต เซียนฮง สถาพร งามเรืองพงศ์ มูลค่า 6.14 พันล้านบาท
- 10 หุ้น ขึ้น XD จ่ายเงินปันผลสูงสุดในรอบเดือน ก.ย. 65
นอกจากนี้ ตฤณ สิทธิสวัสดิ์ นักวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD WEALTH ว่า สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งผลให้ราคาหุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์ปรับตัวลดลง เพราะ J.P. Morgan ปรับลดคำแนะนำหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ของไทย ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลจากการแข่งขันที่จะสูงขึ้นในอนาคต ประกอบกับภาวะอัตราดอกเบี้ยที่เป็นช่วงขาขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยกดดันต่อการลงทุนในกลุ่มดังกล่าว
สำหรับเพดานดอกเบี้ยรถจักรยานยนต์ที่ 23% ต่อปี คาดจะมีผลต่ออุตสาหกรรมมากพอสมควร เนื่องจากต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ตลาดเก็บจากลูกค้าที่ 30-36% ต่อปี โดยคาดบริษัทที่ให้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ขนาดกลาง / เล็กจะมีความสามารถในการแข่งขันลดลง
อย่างไรก็ดี สำหรับหุ้นไฟแนนซ์รายใหญ่อย่าง MTC และ SAWAD เราเห็นการปรับตัวและแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อรองรับประกาศเรื่องเพดานดอกเบี้ย
โดย MTC มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ลงมาเหลือ 23% แล้ว และจำกัดเฉพาะกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีประวัติชำระเงินดี ส่วน SAWAD มีแผนที่จะลดค่าใช้จ่ายในส่วนของ Dealer Incentive และเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ เพื่อชดเชยรายได้ดอกเบี้ยที่หายไป
นอกจากนี้ ประกาศดังกล่าวมีผลเฉพาะต่อสัญญาใหม่ที่ปล่อยหลังจากประกาศดังกล่าวเริ่มมีผลในเดือนมกราคม 2566 เราจึงมองว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงจะไม่รุนแรงดังที่ตลาดกังวล อีกทั้งมีโอกาสเกิด Industry Consolidation จากการที่ดีลเลอร์เริ่มส่งลูกหนี้ให้กับรายใหญ่ที่มี Economies of Scale ปล่อยสินเชื่อแทน
ทั้งนี้ เกณฑ์ด้านสัญญาต่างๆ คาดไม่กระทบกับธนาคาร รวมถึง MTC และ SAWAD เพราะมีการดำเนินธุรกิจที่อิง Market Conduct ของ ธปท. อยู่แล้ว แต่ผู้ประกอบการรายเล็กดำเนินธุรกิจได้ยากขึ้น สำหรับส่วนลดดอกเบี้ยตามจำนวนงวดผ่อนชำระในกรณีจ่ายครั้งเดียวเพื่อปิดบัญชี คาดส่งผลกระทบน้อยเช่นกัน เนื่องจากปกติมีลูกค้าจำนวนน้อยที่จะขอชำระปิดบัญชีก่อนกำหนด
มองราคาหุ้นปรับลงมามากเกินไป คาดเห็นการฟื้นตัวตามผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น เรามองว่าราคาหุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการดังกล่าวได้ปรับลง สะท้อนความกังวลไปมาก ขณะที่ผู้ประกอบรายใหญ่มีแผนเตรียมพร้อมสำหรับภาวะอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คาดผลกระทบต่องบการเงินจะไม่สูงมากนัก จึงมองว่าราคาหุ้นในกลุ่มจะเริ่มฟื้นตัวหลังหมดประเด็นที่เป็น Overhang มานาน แนะนำ SAWAD เป็น Top Pick ของกลุ่ม จากความสามารถในการเร่งพอร์ตสินเชื่อที่ดีและ NIM ที่จะขยับขึ้นเรื่อยๆ
SAWAD-TIDLOR ไม่หวั่น ธนาคารออมสินตั้ง Non-Bank
ธิดา แก้วบุตตา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น หรือ SAWAD เปิดเผยว่า ปัจจุบันพอร์ตธุรกิจของเครือศรีสวัสดิ์ ประกอบด้วย ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล 6% ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ 35% ธุรกิจสินเชื่อบ้านและที่ดิน 36% และธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ 23% โดยสัดส่วนธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลมีสัดส่วนน้อยที่สุดของบริษัท จึงคาดว่าจะไม่กระทบหากมีการจัดตั้งบริษัท Non-Bank ใหม่ในการทำธุรกิจดังกล่าว เนื่องจากบริษัทยังคงให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน และที่ดินเป็นหลัก อีกทั้งแผนการปรับโครงสร้างองค์กรที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ธุรกิจเกิดความแข็งแกร่ง โดยจะมีการเพิ่มธุรกิจใหม่เข้ามาเสริมศักยภาพธุรกิจเดิมตั้งแต่ปี 2566 เพื่อสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดของเครือศรีสวัสดิ์
ทั้งนี้ การแข่งขันในกลุ่มธุรกิจ Non-Bank ถือว่าอยู่ในระดับสูงด้วยจำนวนบริษัทใหม่ที่เกิดขึ้น และผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เปิดตัวเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย อีกทั้งได้ปัจจัยหนุนจากสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มทยอยฟื้นตัวหลังผ่านพ้นการระบาดโควิดระลอกใหญ่ จึงทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเริ่มเกิดการขับเคลื่อน ความต้องการของสินเชื่อส่วนบุคคลจึงปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจทำให้ภาคธนาคารเล็งเห็นถึงโอกาสในการเติบโตจากธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นได้
“ที่ผ่านมาในกลุ่มอุตสาหกรรม Non-Bank ได้เกิดการจัดตั้งบริษัทใหม่มากมาย ทำให้เกิดการแข่งขันในทุกรูปแบบ และบริษัทได้พยายามปรับตัวมาโดยตลอด การที่กลุ่มแบงก์จะลงมาทำธุรกิจที่คล้ายคลึงกันจึงมองว่าเป็นธรรมชาติของการแข่งขัน ซึ่งประชาชนต่างหากที่ได้ประโยชน์ และเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้เขาเหล่านั้นได้เข้าถึงสินเชื่อในระบบ สำหรับบริษัทถือว่าได้รับผลกระทบน้อยมาก เพราะพอร์ตโฟลิโอของกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลของศรีสวัสดิ์ค่อนข้างต่ำ ซึ่งปัจจุบันบริษัทโฟกัสการหาพันธมิตรใหม่ การรุกเข้าสู่ธุรกิจที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการเติบโตทั้งเครือ โดยธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาอยู่ภายใต้องค์กรจะเริ่มเห็นชัดเจนตั้งแต่ปี 66 เป็นต้นไป ” ธิดากล่าว
ขณะที่ ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เงินติดล้อ หรือ TIDLOR กล่าวว่า จากกรณีที่ธนาคารออมสินประกาศเตรียมทำธุรกิจบริการด้านการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) ในปี 2566 โดยให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล (P-Loan) และจะคิดอัตราดอกเบี้ยประมาณ 20% ต่อปี รวมถึงการมีแผนเข้ามาให้บริการสินเชื่อที่ดินและขายฝากตามที่เป็นข่าวนั้น เงินติดล้อมั่นใจว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจหลักเป็นการให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และกลุ่มผู้ใช้สินเชื่อยังเป็นคนละกลุ่มกัน โดยกลุ่มลูกค้าของเงินติดล้อเป็นกลุ่มสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน
นอกจากนี้ เงินติดล้อยังมีจุดแข็งในการให้บริการผ่าน ‘บัตรติดล้อ’ บัตรกดเงินสดหมุนเวียนแบบไม่กดใช้ ไม่เสียดอก ที่จะช่วยให้ผู้ขอสินเชื่อทะเบียนรถสามารถกดเงินสดตามวงเงินสินเชื่อของตนเองผ่านตู้ ATM ของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำทั่วประเทศ ช่วยให้สามารถเข้าถึงเงินทุนในยามที่ต้องการได้อย่างสะดวกสบาย รวดเร็ว และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ช่วยลดขั้นตอนในการยื่นเอกสารขอสินเชื่อใหม่ และลดต้นทุนการเดินทางมารับบริการที่สาขา เพื่อให้สามารถนำเงินไปใช้แก้ปัญหาหรือฟื้นฟูกิจการของตนเอง และยังเป็นการลดการพึ่งพาแหล่งเงินทุนนอกระบบอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี
อีกทั้งที่ผ่านมาบริษัทยังสามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจนายหน้าประกันภัยได้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และสามารถเติบโตได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ส่งผลให้รายได้ที่มาจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ธนาคารหันมาให้ความสนใจกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือเกษตรกร ที่มีหลักแหล่งรายได้ไม่แน่นอน เพื่อมีส่วนช่วยให้ประชาชนกลุ่มฐานราก (Underbanked) มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบเพิ่มขึ้น ส่วนด้านของผู้ประกอบการ Non-Bank จำเป็นต้องปรับตัวและสร้างพื้นฐานธุรกิจให้แข็งแกร่ง เพื่อให้สามารถรองรับการแข่งขันทางธุรกิจได้ในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมาเงินติดล้อให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นฐานธุรกิจโดยใช้นวัตกรรมอยู่ก่อนหน้าแล้ว จึงมั่นใจว่าจะสามารถแข่งขันในธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต และสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน