×

จับตากระทรวงการคลัง ‘แก้นิยามหนี้สาธารณะ’ กดหนี้เหลือ 58.4% ต่อ GDP เปิดช่องกู้เงินเพิ่ม?

30.07.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • จับตารัฐบาล อาจ ‘แก้คำนิยามหนี้สาธารณะ’ ให้ตรงกับคำนิยามกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อกดระดับหนี้สาธารณะให้เหลือ 58.4% ต่อ GDP จากระดับปัจจุบันที่ 64.29% ต่อ GDP
  • โดยแหล่งข่าวกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ประเด็นดังกล่าวมีการพูดคุยกันในหลายเวทีแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ เนื่องจากการปรับแก้นิยามหนี้สาธารณะอาจสร้างผลกระทบหลายอย่าง
  • พร้อมยืนยันว่า การปรับแก้คำนิยามดังกล่าวไม่ได้ช่วยทำให้ ‘อันดับความน่าเชื่อ’ (Sovereign Credit Rating) ของไทยถูกปรับเพิ่มขึ้น แต่จะทำให้รัฐบาลมีพื้นที่ทางการคลังในการดำเนินโครงการต่างๆ มากขึ้น
  • ขณะที่ IMF ออกบทความที่ระบุว่า รัฐบาลทุกประเทศควรเพิ่ม ‘ความโปร่งใส’ ในการรายงานหนี้สาธารณะ พร้อมเตือนว่า หนี้รัฐบาลที่ถูกซุกซ่อน (Hidden Debt) อาจเป็นภัยคุกคามต่อบางประเทศ ท่ามกลางภาวะอัตราดอกเบี้ยที่สูงและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
  • พร้อมแนะว่า รัฐบาลทุกประเทศควรเร่งสร้างบัฟเฟอร์ทางการคลัง ย้ำปฏิรูปเชิงโครงสร้างดีที่สุดในการจัดการปัญหาหนี้

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา แหล่งข่าวกระทรวงการคลังเปิดเผยเกี่ยวกับแนวคิดการปรับคำนิยามหนี้สาธารณะของไทย โดยระบุว่า ตอนนี้มีการพูดคุยกันในหลายเวทีแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ และจำเป็นต้องพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย เนื่องจากการปรับแก้นิยามหนี้สาธารณะอาจสร้างผลกระทบหลายอย่าง

 

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวย้ำว่า การปรับแก้นิยามหนี้สาธารณะมีข้อดีคือ จะทำให้ไทยจะมีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) มากขึ้น 

 

โดยหากคำนวณหนี้สาธารณะไทยตามคำนิยามของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หนี้สาธารณะไทยจะลดไปอยู่ที่ 58.4% ต่อ GDP จากระดับปัจจุบันที่ 64.29% ต่อ GDP ณ เดือนพฤษภาคม 2567

 

ทั้งนี้ การพูดคุยเกี่ยวกับการปรับคำนิยามหนี้สาธารณะของไทยเกิดขึ้นท่ามกลางภาวะที่หนี้สาธารณะไทยต่อ GDP ปรับตัวเพิ่มขึ้น และทะลุระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง

 

โดยตามข้อมูลล่าสุดของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) แสดงให้เห็นว่า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ 11,646,159.44 ล้านบาท คิดเป็น 64.29% ต่อ GDP ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

 

นอกจากนี้ ตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 (ฉบับล่าสุด) รัฐบาลยังคาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะไทยต่อ GDP จะค่อยๆ เพิ่มไปแตะ 68.9% ในปี 2570 ไม่ไกลจากเพดานที่ 70%

 

อย่างไรก็ดี ฝ่ายรัฐบาลรวมถึง ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันมาตลอดว่า ปัจจุบันระดับหนี้สาธารณะไทย ‘ไม่น่ากังวล’ และเมื่อปรับเป็นนิยามสากล รวมถึงนิยามของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แล้ว และหนี้สาธารณะไทยยังต่ำกว่าหลายประเทศในระดับเดียวกัน


 

รมว.คลัง ย้ำ รัฐบาลก่อหนี้เพื่อช่วยภาคประชาชนและภาคธุรกิจ 

 

พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กับรายการ The Secret Sauce เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม โดยระบุว่า การก่อหนี้สาธารณะเพื่อประคับประคองภาคประชาชนและภาคธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป

 

“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาคประชาชนและภาคธุรกิจอ่อนแอ รัฐบาลซึ่งเป็นผู้ดูแลสองภาคส่วนนี้จึงไม่มีทางเลือก ต้องเข้ามาช่วยเหลือ ทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ไทยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 64%”

 

พร้อมทั้งระบุอีกว่า “แท้จริงแล้วรัฐบาลไม่ได้อยากสร้างหนี้ แต่ถ้าสองเสาหลักของเศรษฐกิจอย่างภาคประชาชนและภาคธุรกิจไม่ฟื้น โอกาสที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็จะเป็นไปไม่ได้” พิชัยกล่าว

 

แก้นิยามหนี้สาธารณะจะทำให้อันดับเครดิตไทย ‘ดีขึ้น’ หรือไม่

 

แหล่งข่าวกระทรวงการคลังกล่าวอีกว่า การปรับเปลี่ยนนิยามใดๆ ไม่เกี่ยวข้องกับอันดับความน่าเชื่อของประเทศ (Sovereign Credit Rating) เนื่องจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ สามารถคำนวณหนี้สาธารณะได้เองอยู่แล้ว

 

นอกจากนี้ในการประเมินอันดับความน่าเชื่อของประเทศ บริษัทต่างๆ จะพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วยอย่างรอบด้าน ไม่ได้ดูแค่ระดับหนี้สาธารณะเท่านั้น

 

การแก้นิยาม ‘หนี้สาธารณะ’ ต้องทำอย่างไร

 

แหล่งข่าวกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า หากรัฐบาลต้องการแก้คำนิยาม จำเป็นต้องแก้คำนิยามใน พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ซึ่งต้องทำตามขั้นตอนต่างๆ ตามกฎหมาย อาทิ ส่งเข้าสภา 

 

แหล่งข่าวยังย้ำด้วยว่า การพิจารณาต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ เนื่องจากการแก้คำนิยามหนี้สาธารณะจะพัวพันกับกฎหมายเกี่ยวเนื่องอื่นๆ และประเด็นอื่นๆ ด้วย

 

 

เทียบหนี้สาธารณะไทยตามคำนิยาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ vs. IMF

 

ถ้าเทียบนิยามหนี้สาธารณะตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พบว่า นิยามของไทยมีความอนุรักษนิยม (Conservative) ‘มากกว่า’ โดยนิยามตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ พบว่า หนี้สาธารณะไทย (Public Debt) อยู่ที่ 64.29% ณ เดือนพฤษภาคม 2567

 

ขณะที่ตามนิยามของ IMF พบว่า หนี้รัฐบาลทั่วไป (General Government Debt) อยู่ที่ 58.40% ตามการคำนวณของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ณ เดือนพฤษภาคม 2567

 

ส่วนความแตกต่างของคำนิยาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ และ IMF ได้แก่ IMF ไม่ได้รวมหนี้รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลไม่รับภาระเข้าไป 

 

ขณะที่ตามคำนิยาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ก็ไม่ได้รวมหนี้รัฐบาลท้องถิ่นเข้าไป โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 หนี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านบาท

 

 

เปิดองค์ประกอบหนี้สาธารณะไทย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม

 

  1. หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงอยู่ที่ 9,679,111.07 ล้านบาท คิดเป็น 83.11%
  2. หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้ FIDF อยู่ที่ 590,869.00 ล้านบาท คิดเป็น 5.07%
  3. หนี้รัฐวิสาหกิจ (กระทรวงการคลังค้ำประกันและไม่ค้ำประกัน เช่น รฟท. และ กฟน.) อยู่ที่ 1,074,304.71 ล้านบาท คิดเป็น 9.22%
  4. หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงินฯ (เฉพาะหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน อาทิ เงินกู้ ธ.ก.ส. เพื่อใช้ในโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร) อยู่ที่ 189,503.92 ล้านบาท คิดเป็น 1.63%
  5. หนี้หน่วยงานของรัฐ (เช่น หนี้ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน, สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. (NEDA), กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และมหาวิทยาลัยต่างๆ) อยู่ที่ 112,370.74 ล้านบาท คิดเป็น 0.97%

 

ทั้งนี้ หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 รวมทั้งหมด 11,646,159.44 ล้านบาท คิดเป็น 64.29 % ต่อ GDP (ตามประมาณการ GDP ที่ 18,115,339.59 ล้านบาท)

 

 

IMF เตือน รัฐบาลควรเพิ่ม ‘ความโปร่งใส’ ในการรายงานหนี้

 

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายน 2567 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยแพร่บทความเกี่ยวกับหนี้รัฐบาลที่ถูกซุกซ่อน (Hidden Debt) โดยเตือนว่า ภาระผูกพันที่ไม่เปิดเผยเหล่านี้อาจเป็นภัยคุกคามต่อบางประเทศ ท่ามกลางภาวะอัตราดอกเบี้ยที่สูงและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

 

โดยในบทความ IMF ระบุว่า ในความพยายามจัดการกับหนี้สาธารณะทั่วโลกที่สูงเป็นประวัติการณ์ รัฐบาลทุกประเทศควรเปิดเผยข้อมูลอย่างเข้มแข็งขึ้น พร้อมทั้งประเมินว่า รัฐบาลทั่วโลกมีหนี้ที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ หรือหนี้ที่ถูกกันออกจากงบดุลอย่างเป็นทางการของรัฐบาลสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์

 

“แม้ว่าภาระผูกพันที่ไม่เปิดเผยเหล่านี้จะมีขนาดไม่ใหญ่นักเมื่อเปรียบเทียบกับหนี้สาธารณะที่เปิดเผยทั่วโลกที่มีมูลค่าสูงถึง 91 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ภาระผูกพันเหล่านี้กลับกลายเป็นภัยคุกคามต่อประเทศที่มีรายได้น้อย ซึ่งมีหนี้สินจำนวนมากอยู่แล้ว และมีความต้องการรีไฟแนนซ์ต่อปีเพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” IMF ระบุ

 

IMF ย้ำ รัฐบาลเร่งสร้างบัฟเฟอร์-ปฏิรูปเชิงโครงสร้าง

 

นอกจากนี้ นับตั้งแต่หลายประเทศเริ่มฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ หลังจากออกมาตรการทางการคลังครั้งมหาศาลเพื่อเยียวยาประชาชนจากการระบาดครั้งนั้น IMF ก็ส่งเสียงเตือนมาตลอดว่า รัฐบาลทั่วโลกควรสร้างพื้นที่หรือกันชนทางการคลัง (Fiscal Buffers) ขึ้นมาใหม่ เพื่อเตรียมรับมือกับความท้าทายในระยะยาว

 

“ขณะที่การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง (Structural Reforms) ก็ไม่ควรถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากการเสริมสร้างการเติบโตในอนาคตเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยรักษาเสถียรภาพของหนี้” IMF ระบุในบทความเมื่อเดือนมีนาคม 2567

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X