×

‘คลัง-แบงก์ชาติ’ หย่าศึก? เห็นพ้องเร่งแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึง สินเชื่อ-สภาพคล่อง ลดโฟกัสอัตราดอกเบี้ย ย้ำให้อิสระแบงก์ชาติ

16.05.2024
  • LOADING...
ปัญหาการเข้าไม่ถึง สินเชื่อ สภาพคล่อง

รมว.คลัง เผยคุยกับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ชื่นมื่นนาน 2 ชั่วโมง เห็นพ้องกันว่าปัญหาหลักคือการไม่เข้าถึง เงินทุน และ สินเชื่อ ของประชาชน พร้อมยืนยันให้อิสระกับแบงก์ชาติ

 

วันนี้ (16 พฤษภาคม) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้พูดคุยกับ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นานราว 2 ชั่วโมงเมื่อช่วงสายของวันนี้ในหลายประเด็น ยกเว้นประเด็นดิจิทัลวอลเล็ต

 

โดยพิชัยระบุว่า กระทรวงการคลังและ ธปท. มีความเห็นตรงกันว่าปัญหาหลักคือการเข้าไม่ถึงเงินทุนและ สินเชื่อ ของประชาชนและธุรกิจ ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยว่าจะสูงขึ้นหรือต่ำลงเท่าไร

 

พิชัยอธิบายต่อว่า ระหว่างการลดดอกเบี้ยกับการเข้าถึงสินเชื่อ ประชาชนต้องเลือกเข้าถึงสินเชื่อแน่นอน ส่วนการลดดอกเบี้ยอาจจะมีผลในแง่ของการส่งสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อต่อนักลงทุนต่างชาติมากกว่า

 

“เป็นที่ทราบกันว่าคนที่มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อน่าจะเป็นนักธุรกิจรายใหญ่ แต่สำหรับรายย่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMEs ภาคครัวเรือนยังไปไม่ถึง” พิชัยกล่าวอีกว่า ดังนั้น “หากแก้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อนี้ได้ ปัญหาหนี้เสีย (NPL) ในระบบก็น่าจะลดลงบ้าง โดยหลังจากวันนี้จะทำงานร่วมกันระหว่าง ธปท. และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)”

 

พิชัยยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินในประเทศค่อนข้างเข้มแข็ง อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังอยู่ในระดับดี ฉะนั้นโอกาสที่จะปรับหลักเกณฑ์การเข้าถึงสินเชื่อจึงมีมากขึ้น

 

สำหรับบรรยากาศการพูดคุยวันนี้พิชัยเปิดเผยว่าเป็นไปได้ด้วยดี เนื่องจากพูดภาษาเดียวกันอยู่แล้ว เข้าใจกัน เนื่องจากตนก็เคยดำรงตำแหน่งคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเข้าใจวิธีการทำงานดีอยู่แล้ว

 

โดยหลังจากนี้อาจจะพูดคุยกันมากขึ้น พร้อมย้ำว่านโยบายการเงินและการคลังในระยะต่อไปจะไม่ได้แค่สอดคล้องกันมากขึ้น แต่จะ ‘สอดคล้องกันมากที่สุด’

 

นอกจากนี้ พิชัยยังระบุว่ามีประเด็นที่เห็นด้วยกับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ คือเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลเร่งทำอยู่แล้ว

 

นอกจากนี้ยังได้พูดคุยกันเกี่ยวกับเป้าหมายกรอบเงินเฟ้อ ซึ่งปกติต้องทบทวนทุกปีอยู่แล้วเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เนื่องจากกรอบเงินเฟ้อปัจจุบันที่ 1-3% ใช้มาราว 3-4 ปีแล้ว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising