กระทรวงการคลังห่วงว่าการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาแบบปลอดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ จะกระทบต่อวินัยการชำระหนี้ พร้อมขอความร่วมมือให้ผู้กู้ยืมจ่ายเงินต้นต่อไปเพื่อให้โอกาสเด็กรุ่นใหม่ ไม่ว่าร่าง พ.ร.บ. จะผ่านหรือไม่
จากกรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีมติ 314 ต่อ 3 เสียง เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ฉบับที่ .. ในวาระ 3 โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายใหม่ ได้แก่ การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาแบบปลอดดอกเบี้ย ไม่คิดค่าปรับผิดนัดชำระ และให้มีผลย้อนหลังผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันทุกราย เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เศรษฐศาสตร์กับการล้างหนี้ กยศ. เมื่อต้นตอของปัญหาคือความยากจนของนักเรียนไทย
- ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?
- กูรูต่างประเทศมอง ธปท. กำลังเดิมพันดอกเบี้ยกับ เงินเฟ้อ ชี้นโยบายการเงินไทยมองโลกในแง่ดีเกินไป ด้าน ‘อาคม’ ย้ำยังไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านวุฒิสภาจะต้องมีการประเมินกันใหม่เกี่ยวกับการบริหารเงินกองทุนในอนาคต เนื่องจากภายใต้ร่างกฎหมายใหม่นี้จะทำให้รายได้จากดอกเบี้ยและเบี้ยปรับสูญไปหมด นอกจากนี้ ยังมองว่าหากกองทุนยังเก็บดอกเบี้ยได้ต่อไป กองทุนก็จะมีความคล่องตัวมากขึ้น และเป็นการต่อยอดให้แก่เด็กรุ่นต่อๆ ไป
รัฐมนตรีกระทรวงการคลังย้ำอีกว่า ไม่ว่าจะมีการยกเลิกการเก็บดอกเบี้ยหรือไม่ วินัยการเงินยังเป็นเรื่องสำคัญ พร้อมทั้งได้ขอความร่วมมือผู้ที่กู้ยืมเงินไปให้ชำระคืนเงินต้น เพื่อเป็นเงินต่อยอดสำหรับเด็กรุ่นต่อๆ ไปด้วย
ขณะที่ กฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ระบุว่า กระทรวงการคลังไม่ได้กังวลกับการงดเก็บดอกเบี้ย แต่กังวลกับการยกเว้นเบี้ยปรับ ซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาวินัยในการชำระเงิน
“มีบางฝ่ายห่วงว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะนำไปสู่ปัญหา Moral Hazard ขณะที่อีกด้านก็มองว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องบริหารจัดการให้ได้ แต่โดยหลักการแล้วกระทรวงการคลังไม่ได้หวังกำไรจากดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการศึกษาอยู่แล้ว หรือไม่ได้ห่วงกับเรื่องการเลิกเก็บดอกเบี้ย แต่ประเด็นที่กังวลคือเบี้ยปรับหรือวินัยทางการเงิน” ปลัดกระทรวงการคลังกล่าว
ด้าน ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ระบุว่า หากกฎหมายผ่านทั้ง 2 สภา กองทุนต้องมาพิจารณาอีกทีว่า เงินที่มีอยู่และรายได้ในอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่มองในแง่ดี กฎหมายนี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้กู้เงินหลายคนที่มีความต้องการชำระหนี้ แต่กังวลเรื่องเบี้ยปรับ ดังนั้น หากไม่มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับอาจทำให้ผู้กู้หลายคนต้องการชำระหนี้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน สำหรับหากไม่มีการเก็บดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ กองทุนจะขาดรายได้จากส่วนนี้ไปปีละประมาณ 6 พันล้านบาท นอกจากนี้ กองทุนยังมีต้นทุนในการบริหารจัดการไม่เกิน 2 พันล้านบาทต่อปี หมายความว่าถ้ามีเงินออกมากกว่าเงินเข้า เงินในกองทุนก็จะร่อยหรอ ดังนั้น หากรายได้หายไปกองทุนก็อาจต้องหาช่องทางอื่นๆ เพิ่มเติมในการบริหารจัดการ
ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ผิดนัดชำระหนี้ กยศ. อยู่ที่ 2.5 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าราว 9 หมื่นล้านบาท โดยในแต่ละปีกองทุนมีเงินหมุนเวียนอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในปี 2565 มีผู้ชำระเงินเข้ามา 2.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่ได้ต่ำกว่าปีที่แล้วมากนัก
ชัยณรงค์เผยอีกว่า กยศ. กำลังเตรียมข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อชี้แจงต่อวุฒิสภาเกี่ยวกับผลกระทบและข้อเท็จจริงต่างๆ โดยตามกระบวนการกฎหมายอาจต้องใช้เวลาพิจารณาร่างกฎหมายนี้ใน 1 เดือน เนื่องจากเป็นกฎหมายด้านการเงิน หากเห็นชอบก็ต้องรอกระบวนการบังคับใช้อีกระยะหนึ่ง แต่หากไม่ผ่านก็จะถูกตีกลับ และมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา
สุดท้าย ผู้จัดการ กยศ. ยังย้ำว่า การยกเว้นดอกเบี้ยและเบี้ยปรับไม่ได้หมายความว่าจะทำให้กองทุนเรามีเงินไม่เพียงพอ เนื่องจากปัจจัยหลักยังขึ้นอยู่กับรุ่นพี่จะชำระคืนเงินต้นให้โอกาสรุ่นน้องหรือไม่
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP