×

‘Finance for Net Zero’ เจาะลึกแผนการเงินสีเขียวใหม่ของสิงคโปร์

23.04.2023
  • LOADING...
Finance for Net Zero

ใครจะคิดว่าวิกฤตโลกร้อนคือ ‘โอกาสทอง’ สำหรับประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของโลก

 

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรได้ประกาศแผน Green Finance Strategy ฉบับอัปเดตใหม่เพื่อระดมเงินทุนสีเขียว และสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่มุ่งสู่ Net Zero ที่แรกของโลก (The World’s First Net Zero-aligned Financial Centre) 

 

ต่อมาไม่นาน เมื่อวันที่ 20 เมษายน ก็มีพัฒนาการสำคัญด้านการเงินสีเขียวเกิดขึ้นที่สิงคโปร์ 

 

Lawrence Wong รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสิงคโปร์ ได้ประกาศแผนการเงินสีเขียวฉบับอัปเดตใหม่ล่าสุด ชื่อว่า Finance for Net Zero Action Plan’ หรือแผน FiNZ 

 

สิงคโปร์หมายมั่นปั้นมือที่จะระดมเงินทุนเพื่อช่วยภูมิภาคเอเชียเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ซึ่งนอกจากจะช่วยลดโลกร้อนแล้ว ยังจะช่วยให้สิงคโปร์พัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการเงินสีเขียวที่สำคัญของภูมิภาค กระตุ้นการสร้างงานและการเติบโตให้ภาคการเงินของสิงคโปร์อย่างต่อเนื่อง 

 

โฟกัสของแผน FiNZ ไม่ใช่แค่ Green Finance แต่คือ Transition Finance หรือการจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจ ‘สีน้ำตาลเข้ม’ (ธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนสูง เช่น ปิโตรเลียม โรงไฟฟ้าถ่านหิน อุตสาหกรรมเหล็กและปูนซีเมนต์ ขนส่ง) เปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจ ‘สีเขียว’ หรือ ‘สีน้ำตาลอ่อน’ ผ่านการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งผมได้เคยอธิบายเรื่อง Transition Finance ไว้แล้วในบทความแรก

 

แผน FiNZ ประกอบด้วยเป้าหมายหลัก 4 เป้า

 

เป้าหมายแรก คือ Data, Definitions, Disclosures หรือ 3Ds 

 

ธุรกิจจะต้องปรับปรุงระบบการจัดเก็บข้อมูลด้าน ESG และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ใช่แค่ใน Operation ของตัวเอง (Scope 1 และ 2) แต่รวมถึงในห่วงโซ่อุปทาน จากต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ (Scope 3) ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับธุรกิจ

 

การเปิดเผยข้อมูลเรื่อง ESG เป็นเรื่องสำคัญ เพราะนักลงทุนและสถาบันการเงินใช้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในการจัดสรรเงินทุนให้ภาคธุรกิจ พูดง่ายๆ หากนักลงทุนไม่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่าธุรกิจไหนมีแผนการจัดการความเสี่ยงจากโลกร้อนและแผนการเปลี่ยนผ่านสู่โลกไร้คาร์บอนที่ดี นักลงทุนก็อาจขาดความมั่นใจต่ออนาคตของธุรกิจนั้น 

 

ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) จึงกำลังพัฒนา Code of Conduct สำหรับผู้ให้บริการ ESG Ratings และ ESG Data Products (ตัวอย่างเช่น MSCI, Moody’s และ S&P Global) เพื่อสร้างความโปร่งใส และเสริมสร้างความมั่นใจของตลาดที่มีต่อข้อมูลและการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทในด้าน ESG

 

และสิงคโปร์มีแผนที่จะกำหนดโรดแมป เพื่อให้สถาบันการเงินและธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยข้อมูลด้านก๊าซเรือนกระจกและความยั่งยืน ตามมาตรฐานสากลของ International Sustainability Standards Board (ISSB) ในอนาคต

 

แต่การจัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลถือเป็นภาระงานที่ไม่ง่ายของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ภาครัฐของสิงคโปร์จึงจะช่วยเพิ่มศักยภาพของธุรกิจในการรายงานข้อมูลด้าน ESG ไปพร้อมกัน โดยนำ Green FinTech หรือเทคโนโลยีทางการเงินสีเขียวเข้ามาช่วย

 

ปีที่แล้ว MAS และ SGX ได้ริเริ่มโปรเจกต์ใหม่ชื่อว่า ESGenome ซึ่งอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมทั้งสามารถจัดทำรายงานข้อมูลความยั่งยืนตามมาตรฐานสากลต่างๆ (เช่น TCFD, GRI, UN SDGs) โดยอัตโนมัติผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว นอกจากนี้ ESGenome ยังช่วยให้นักลงทุนเข้าถึงข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียนได้อย่างง่ายและสะดวก ในอนาคตสิงคโปร์มีแผนจะลองทำโครงการนำร่องเพื่อให้ธุรกิจ SMEs รายงานข้อมูล ESG ผ่าน ESGenome 


เป้าหมายที่สองของแผน FiNZ คือ Climate Resilient Financial Sector 

 

วิกฤตโลกร้อนก่อให้เกิด ‘ความเสี่ยงทางการเงิน’ ใหม่ๆ ที่ภาคการเงินจะต้องเตรียมรับมือและจัดการ หากไม่ทำจะกระทบต่อสถานะทางการเงินของธนาคารและเสถียรภาพของระบบการเงินทั้งประเทศได้



ยกตัวอย่างเช่น หากธนาคารปล่อยกู้ให้บริษัท ‘สีน้ำตาล’ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงมากและไม่มีแผนในการลดคาร์บอน หากในอนาคตภาครัฐมีแนวโน้มเพิ่มอัตราการเก็บ ‘ภาษีคาร์บอน’ ที่สูงขึ้นมาก เท่ากับว่าต้นทุนทางธุรกิจจะสูงขึ้นอย่างมีนัย เป็นความเสี่ยงทางการเงินต่อธุรกิจดังกล่าวและต่อธนาคารผู้ให้สินเชื่อได้ 

 

สิงคโปร์จึงเน้นการส่งเสริมให้สถาบันการเงินบริหารจัดการความเสี่ยงจากโลกร้อน โดยทางธนาคารกลางสิงคโปร์ได้จัดทำและส่งเสริมแนวทางการจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับสถาบันการเงิน 

 

รวมทั้งเร่งสร้างศักยภาพของธนาคารพาณิชย์ในการประเมินความเสี่ยงจากโลกร้อนผ่านแบบจำลอง ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Climate Scenario Analysis and Stress Testing 

 

โดยสรุป สถาบันการเงินจะต้องเข้าใจความเสี่ยงทางการเงินจากโลกร้อนที่มีต่อพอร์ตโฟลิโอของตัวเอง และจัดการรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวให้อยู่ในวิสัยที่รับได้ ไม่สูงเกินไป

 

เป้าหมายที่สามของแผน FiNZ คือ Credible Transition Plans

 

สิงคโปร์สนับสนุนให้สถาบันการเงินจัดทำ Transition Plans หรือแผนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero 

 

กล่าวสั้นๆ Transition Plans คือแผนของธนาคารที่ระบุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากสารพัดธุรกิจที่ธนาคารให้เงินกู้ (Scope 3 Financed Emissions) และระบุถึงกลยุทธ์หรือวิธีการที่ธนาคารจะช่วยสนับสนุนลูกค้าธุรกิจของตัวเองในเส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ 

 

เป้าหมายนี้มุ่งที่จะให้สถาบันการเงินเป็น Agent of Change ช่วยสนับสนุนธุรกิจในภาคเศรษฐกิจจริงในการลดการปล่อยคาร์บอน

 

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่จะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความตอนที่แล้ว ชื่อว่า Banking for Net Zero

 

เป้าหมายที่สี่ของแผน FiNZ คือ Green & Transition Solutions & Markets

 

เน้นการสร้างนวัตกรรมและโซลูชันทางการเงิน รวมทั้งพัฒนาตลาด เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน 

 

โดยนอกจากธนาคารสิงคโปร์จะได้เพิ่มเงินสนับสนุน (Grants) ให้สถาบันการเงินและธุรกิจที่ออกหุ้นกู้หรือปล่อยสินเชื่อสีเขียว หุ้นกู้หรือสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Green and Sustainability-linked Bonds and Loans) แล้ว ยังจะขยายขอบเขตของ Grants ให้ครอบคลุมถึงหุ้นกู้หรือสินเชื่อที่จะสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจ หรือที่เรียกว่า Transition Bonds and Loans ด้วย

 

รวมทั้งยังเน้นการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่เรียกว่า Blended Finance ซึ่งเป็นการนำเงินทุนจากภาครัฐกับภาคเอกชนมาผสม (Blend) กัน โดยใช้เงินทุนจากแหล่งเงินของรัฐบาลหรือจากธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (Multilateral Development Banks) มาช่วยลดความเสี่ยงของโครงการหรือเทคโนโลยีด้านการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งปกติแล้วนักลงทุนหรือสถาบันการเงินจะมองว่าผลตอบแทนมีความไม่แน่นอน จึงไม่กล้าแบกรับความเสี่ยง เลยต้องอาศัยเงินทุนจากภาครัฐเข้ามาเป็นตัวกระตุ้น ช่วยลดความเสี่ยงให้เหลือในระดับที่เอกชนรับได้

 

ตัวอย่างเช่นในกรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหินในเอเชีย ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงมาก และส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าที่มีอายุยังน้อย ซึ่งถ้าเราปล่อยไว้เฉยๆ โรงไฟฟ้าเหล่านี้ก็จะดำเนินการผลิตและปล่อยคาร์บอนออกมาสู่ชั้นบรรยากาศไปอีก 20-30 ปี เป็นอุปสรรคสำคัญของการเดินทางไปสู่เป้าหมาย Net Zero ของประเทศในภูมิภาคนี้ 

 

เพราะถ่านหินยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักของเอเชียในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของการผลิตไฟฟ้าในภูมิภาค

 

โจทย์ที่ยากคือจะทำอย่างไรที่จะช่วยให้โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ได้สร้างไว้แล้ว สามารถยุติการผลิตหรือเกษียณอายุได้เร็วกว่าปกติ (Early Retirement) โดยผู้ลงทุนที่ได้ลงทุนในโรงไฟฟ้าไปแล้วจะไม่ขาดทุน นี่คือโจทย์ที่ Blended Finance จะเข้ามาช่วยได้ ซึ่งถ้าทำสำเร็จ นอกจากจะช่วยลดโลกร้อนแล้ว ยังมีโอกาสที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเงินให้กับสถาบันการเงินและนักลงทุนได้อีกมหาศาล ผมจะเขียนบทความเพื่ออธิบายเรื่อง Managed Phase-out of Coal Power Plants ในโอกาสต่อไป

 

ทั้งหมดนี้คือ 4 เป้าหมายหลักของแผน Finance for Net Zero (FiNZ) ของสิงคโปร์

 

แต่ส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้สิงคโปร์บรรลุเป้าหมายได้คือ การพัฒนาคนและองค์ความรู้

 

ถ้าเราลองค้นหางานด้านการเงินสีเขียวหรือ ESG ในตลาดงานสิงคโปร์ เราจะพบว่ามีตำแหน่งงานมากมายเปิดรับสมัครอยู่ คือมีดีมานด์สูง แต่ซัพพลายหรือจำนวนคนที่มีทักษะในด้านนี้ยังมีไม่เพียงพอ

 

สิงคโปร์จึงพยายามสร้างคนและพัฒนา Talent เพื่อมาตอบสนองดีมานด์ของงานด้านความยั่งยืนและการเงินสีเขียว โดยได้สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาชั้นนำจัดตั้ง Centre of Excellence ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนหลักสูตรการเรียนการสอนและงานวิจัยในด้านนี้ 

 

ตัวอย่างเช่นมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ได้เปิดหลักสูตรปริญญาโทใหม่ในด้าน Green and Sustainable Finance โดยนักศึกษารุ่นแรกกำลังจะจบหลักสูตรในช่วงกลางปีนี้ นอกจากนี้ NUS ได้จัดตั้งสถาบัน Sustainable and Green Finance Institute (SGFIN) ขึ้นมาเดินหน้างานด้านการวิจัยและฝึกอบรมต่างๆ อย่างครบวงจร 

 

แถม NUS เองยังได้ออกหุ้นกู้สีเขียวหรือ Green Bonds ระดมเงินได้กว่า 600 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อนำมาลงทุนในโครงการสีเขียวในมหาวิทยาลัย เช่น สร้างอาคารที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) พัฒนาระบบทำความเย็น สร้างห้องสมุดประหยัดพลังงาน และเพิ่มการติดตั้งแผงโซลาร์ในแคมปัส

 

แต่การพัฒนาบัณฑิตเจเนอเรชันใหม่อย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะความต้องการคนของภาคการเงินสีเขียวเติบโตอย่างรวดเร็วมาก สิงคโปร์จึงต้องเน้นการ Upskill และ Reskill บุคลากรที่ทำงานอยู่ในภาคการเงินอยู่แล้วให้มีทักษะความรู้ที่จำเป็น 

 

สิงคโปร์จึงกำลังจัดทำ Jobs Transformation Map for Sustainable Finance เพื่อประเมินเทรนด์ของงานด้านการเงินสีเขียว คาดคะเนว่าภาคการเงินจะต้องการคนที่มีทักษะเรื่องใดบ้างในอนาคต และในจำนวนเท่าใด ซึ่งแผนงานนี้จะช่วยให้สิงคโปร์วางกลยุทธ์การพัฒนาคนในด้านการเงินสีเขียวได้ตรงกับความต้องการของตลาดยิ่งขึ้น

 

โดยสรุป กลยุทธ์ Finance for Net Zero (FiNZ) ของสิงคโปร์ สะท้อนความพยายามของสิงคโปร์ที่จะคว้า ‘โอกาสทอง’ ในการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างเครื่องยนต์การเติบโตใหม่ๆ ให้กับภาคการเงินของตัวเอง โดยในขณะเดียวกันก็ช่วยตอบโจทย์การลดก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจในประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของสถาบันการเงินของสิงคโปร์เช่นกัน 

 

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ความท้าทายมีอยู่มาก ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด รวมทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศด้วย โดยถ้าทำสำเร็จ ไม่ใช่แค่สิงคโปร์เท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์ แต่ประเทศต่างๆ ในเอเชียก็จะได้รับประโยชน์เช่นกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X