พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อปรับพอร์ตลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะทำอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้มีการพูดถึงมากนัก
การปรับพอร์ตที่ว่านี้ “นอกจากเรื่องของผลตอบแทน ยังต้องพิจารณาว่าอะไรควรจะลด อะไรควรจะถือ อะไรควรจะเพิ่ม ส่วนที่จะปรับลดเป็นส่วนที่เห็นว่าไม่มีผลกระทบใดๆ และการไปอยู่ในมือคนอื่นจะเหมาะสมกว่า” พิชัยกล่าว
ปัจจุบันกระทรวงการคลังลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนไทยรวม 13 บริษัท ได้แก่
- บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT จำนวน 10,000 ล้านหุ้น สัดส่วน 70%
- บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น หรือ BCP จำนวน 65.54 ล้านหุ้น สัดส่วน 4.76%
- บมจ.เบาด์ แอนด์ บียอนด์ หรือ BEYOND จำนวน 31.20 ล้านหุ้น สัดส่วน 10.76%
- บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง หรือ DMT จำนวน 261.35 ล้านหุ้น สัดส่วน 22.13%
- บมจ.อสมท หรือ MCOT จำนวน 452.13 ล้านหุ้น สัดส่วน 65.8%
- บลจ.เอ็มเอฟซี หรือ MFC จำนวน 20 ล้านหุ้น สัดส่วน 15.92%
- บมจ.เอ็นอีพี อสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรม หรือ NEP จำนวน 295.84 ล้านหุ้น สัดส่วน 12.72%
- บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR จำนวน 153.34 ล้านหุ้น สัดส่วน 1.28%
- บมจ.ปตท. หรือ PTT จำนวน 14,598.85 ล้านหุ้น สัดส่วน 51.11%
- บมจ.โรงพยาบาลราชพฤกษ์ หรือ RPH จำนวน 14.7 ล้านหุ้น สัดส่วน 2.69%
- กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ TFFIF จำนวน 457 ล้านหุ้น สัดส่วน 10%
- บมจ.การบินไทย หรือ THAI จำนวน 1,044.73 ล้านหุ้น สัดส่วน 47.86%
- ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ TTB จำนวน 11,364.28 ล้านหุ้น สัดส่วน 11.68%
พร้อมกันนี้กระทรวงการคลังร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แถลงเกี่ยวกับการผลักดันให้กองทุนรวมวายุภักษ์ 1 เสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. มูลค่ารวมไม่เกิน 1-1.5 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะเสนอขายหน่วยลงทุนและนำเข้าจดทะเบียนเพื่อซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ภายในเดือนกันยายนนี้
พิชัยกล่าวว่า สถานการณ์ตลาดทุนไทยในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าค่อนข้างผันผวน เนื่องจากกระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยจากปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ เช่น ความผันผวนของตลาดการเงินโลก และปัญหาหนี้ครัวเรือนภายในประเทศ เป็นต้น
โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่านักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยรวมมูลค่ากว่า 5.3 แสนล้านบาท ขณะที่มูลค่าการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงมูลค่าการระดมทุนของตลาดตราสารทุนและตราสารหนี้มีอัตราที่ชะลอตัวลง สะท้อนภาพรวมของเศรษฐกิจที่ไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ประชาชนและนักลงทุนสถาบันภายในประเทศยังคงมีสภาพคล่องส่วนเกินและมองหาการลงทุนที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีและมีความมั่นคงในระยะยาว
ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานของกองทุนรวมวายุภักษ์ กล่าวว่า ในวันนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบเกี่ยวกับการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ของกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 เป็นที่เรียบร้อย
ทั้งนี้ กองทุนรวมวายุภักษ์ 1 เป็นกองทุนรวมประเภทกองทุนปิด จัดตั้งขึ้นในปี 2546 และได้มีมติแปรสภาพเป็นกองทุนเปิดเมื่อปี 2556 โดยมีวัตถุประสงค์หลักที่จะบริหารจัดการหลักทรัพย์ที่รัฐถือครองให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนในระยะยาวและมั่นคง ลงทุนในกิจการที่มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อประเทศในเชิงเศรษฐกิจและจำเป็นต้องการการส่งเสริมจากภาครัฐ ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศ และเพิ่มทางเลือกในการออมและการลงทุนให้แก่ประชาชน
โดยกองทุนมีหน่วยลงทุน 2 ประเภทคือหน่วยลงทุนประเภท ก. และประเภท ข. ปัจจุบันกองทุนมีเพียงหน่วยลงทุนประเภท ข. ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกว่า 3 แสนล้านบาท และกำลังจะระดมทุนโดยเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ต่อผู้ลงทุนทั่วไป ซึ่งได้แก่ นักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน
หน่วยลงทุนประเภท ก. ซึ่งมีระยะเวลาการลงทุนเบื้องต้นที่ 10 ปี โดยผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินปันผลในแต่ละปีตามอัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุน แต่ไม่น้อยกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ และไม่เกินกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นสูง ซึ่งจะเปิดเผยรายละเอียดให้ทราบต่อไปในหนังสือชี้ชวน
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนขั้นต่ำและขั้นสูงดังกล่าวจะเป็นอัตราคงที่ตลอด 10 ปี
นอกจากนี้ กองทุนจะมีกลไกคุ้มครองเงินลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. โดยจะมีสิทธิ์ได้รับชำระคืนเงินลงทุนตามแนวทางการชำระคืนเงินลงทุนที่มีลักษณะเป็น Water Fall และกำหนดสัดส่วนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนต่อเงินลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. และมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. หากสัดส่วนดังกล่าวลดลง
ขณะที่แนวทางการลงทุนของกองทุนจะเข้าลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งแบบเชิงรุก (Active Investment) และแบบเชิงรับ (Passive Investment) โดยส่วนใหญ่จะลงทุนในตราสารทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เน้นการลงทุนในบริษัทที่มีผลตอบแทนที่ดี มีความมั่นคงในระยะยาว ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ในขั้นตอนถัดไปจะมีการสำรวจความเห็นของนักลงทุนสถาบันเพื่อกำหนดอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำและอัตราผลตอบแทนขั้นสูง